คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8098/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มิได้บัญญัติถึงการแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 179 ประกอบมาตรา 246 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ศาลแรงงานมิได้รับคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลย จึงไม่มีตัวคำฟ้องอุทธรณ์ที่จำเลยจะต้องขอแก้ไขเพิ่มเติม จำเลยย่อมไม่อาจขอขยาย ระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปเพื่อการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องอุทธรณ์ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 181,212 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยศาลแรงงานกลางอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2543 ต่อมาวันที่ 1 พฤษภาค 2543 จำเลยที่ 2ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 10 วัน นับแต่วันที่4 พฤษภาคม 2543 ถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2543 ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้ขยายเวลายื่นอุทธรณ์ตามขอ ครั้นวันที่ 12 พฤษภาคม 2543จำเลยที่ 2 นำคำฟ้องอุทธรณ์มายื่นแต่ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับเพราะเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงและเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง

วันที่ 16 พฤษภาคม 2543 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 ประสงค์จะอุทธรณ์ต่อไปโดยขอแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์ที่ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับให้ถูกต้อง แต่ไม่สามารถจะทำได้ทันภายในวันที่ 16 พฤษภาคม2543 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ จึงขอขยายระยะเวลาเพื่อแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์ออกไปอีก 5 วันนับแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2543ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2543 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า ล่วงเลยระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว จึงมีคำสั่งยกคำร้อง

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มิได้บัญญัติถึงการแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 ประกอบมาตรา 246มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 คือต้องเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางสั่งรับคำฟ้องอุทธรณ์ไว้แล้วแต่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมจึงจะกระทำได้ คดีนี้เมื่อศาลแรงงานกลางมิได้รับคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีตัวคำฟ้องอุทธรณ์ที่จำเลยที่ 2 จะต้องขอแก้ไขเพิ่มเติม จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีกเพื่อการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องอุทธรณ์ได้ที่ศาลแรงงานกลางสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 นั้นศาลฎีกาเห็นด้วยในผล

พิพากษายืน

Share