คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1857/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า”ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2540 ก่อนศาลมีคำพิพากษา ศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องเป็นภาษาไทยให้จำเลยฟัง ซึ่งจำเลยเข้าใจภาษาไทยเป็นอย่างดี จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจึงได้มีคำพิพากษาไปในวันนั้นด้วยเหตุนี้จึงไม่มีเหตุที่จะพิจารณาคดีใหม่ตามคำร้อง ให้ยกคำร้อง”แสดงว่าจำเลยเข้าใจคำฟ้องของโจทก์ คำให้การรับสารภาพของจำเลยกับเรื่องที่จำเลยไม่ต้องการทนายความจึงเป็นไปตามความประสงค์อันแท้จริงของจำเลย มิใช่เกิดจากความไม่เข้าใจในภาษาไทย จึงไม่มีเหตุจำเป็นจะต้องใช้ล่ามแปลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 13 วรรคหนึ่ง
ความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องย่อมมีผลเป็นการรับสารภาพทุกข้อหาโจทก์ไม่จำต้องสืบพยานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 83, 91, 247, 341 และให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 225,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และริบธนบัตรปลอมของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 247, 341 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรรัฐบาลต่างประเทศปลอม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ให้จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 225,000 บาท แก่ผู้เสียหาย กับให้ริบธนบัตรปลอมของกลาง

จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 14 สิงหาคม 2540 ขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่าจำเลยไม่เข้าใจภาษาไทย

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์

จำเลยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณา

หลังจากจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่แล้วจำเลยยังยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คำพิพากษาออกไปอีก 30 วันด้วย

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาอุทธรณ์ทั้งสองฉบับแล้ว พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามฎีกาข้อแรกของจำเลยที่ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์โดยอ้างว่า จำเลยเป็นชาวต่างประเทศไม่มีญาติพี่น้องอยู่ในประเทศไทย ทั้งในระหว่างถูกคุมขังดำเนินคดีก็ไม่มีโอกาสติดต่อญาติพี่น้องที่ประเทศญี่ปุ่น จำเลยเพิ่งพบและแต่งตั้งทนายความในวันสุดท้ายของระยะเวลายื่นอุทธรณ์ จึงเตรียมคดีไม่ทันนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวที่อ้างมิใช่พฤติการณ์พิเศษที่จะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาให้ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์นั้นจึงชอบแล้วปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลล่างทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจำเลยอ้างว่าไม่ชอบเพราะตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 23 กรกฎาคม2540 ที่บันทึกว่า “ได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยไม่ต้องการทนายความขอให้การรับสารภาพ” ศาลชั้นต้นจึงมีคำพิพากษาในวันเดียวกันและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนนั้น ความจริงจำเลยมีความประสงค์ที่จะต่อสู้คดีและต้องการทนายความ แต่จำเลยเป็นชาวญี่ปุ่นไม่สามารถอ่านภาษาไทยได้ ทั้งศาลชั้นต้นมิได้จัดหาล่ามมาแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นเพื่อให้จำเลยสามารถเข้าใจในชั้นอ่านและอธิบายฟ้องเพื่อให้โอกาสแก่จำเลยในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ พิเคราะห์แล้ว ได้ความตามฎีกาของจำเลยเองว่า ในระหว่างจำเลยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางจังหวัดชลบุรี จำเลยเคยพูดคุยกับผู้ต้องขังชาวไทยเนื่องจากจำเลยพอจะพูดและเข้าใจภาษาไทยได้เป็นบางคำ ทั้งในคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยลงวันที่ 14 สิงหาคม 2540 ศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งว่า “ในวันที่ 23กรกฎาคม 2540 ก่อนศาลมีคำพิพากษา ศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องเป็นภาษาไทยให้จำเลยฟัง ซึ่งจำเลยเข้าใจภาษาไทยเป็นอย่างดี จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจึงได้มีคำพิพากษาไปในวันนั้น ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีเหตุที่จะพิจารณาคดีใหม่ตามคำร้องให้ยกคำร้อง” จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏแสดงว่าจำเลยเข้าใจคำฟ้องของโจทก์ เช่นนี้ คำให้การรับสารภาพของจำเลยกับเรื่องที่จำเลยไม่ต้องการทนายความจึงเป็นไปตามความประสงค์อันแท้จริงของจำเลย หาใช่เกิดจากความไม่เข้าใจในภาษาไทยดังจำเลยฎีกาไม่ กรณีไม่มีเหตุจำเป็นจะต้องใช้ล่ามแปลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 13 วรรคหนึ่ง เห็นว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลล่างทั้งสองชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า โจทก์ฟ้องจำเลยรวม 2 ข้อหาคือ มีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรของรัฐบาลต่างประเทศซึ่งตนรู้ว่าเป็นของปลอมและข้อหาฉ้อโกง แต่คำให้การรับสารภาพของจำเลยไม่ปรากฏชัดแจ้งว่า รับสารภาพในข้อหาใด เมื่อโจทก์ไม่ติดใจสืบพยานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยตามที่ถูกกล่าวหา ซึ่งจำเลยอ้างว่าจะลงโทษจำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องย่อมมีผลเป็นการรับสารภาพทุกข้อหาโจทก์ไม่จำต้องสืบพยานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยอีก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยจึงชอบ ฎีกาของจำเลยทุกข้อล้วนฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรรัฐบาลต่างประเทศปลอมอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นั้น ยังไม่ถูกต้อง ความจริงเป็นความผิดสองกรรม ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็วินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 215และมาตรา 225 แต่โจทก์มิได้ฎีกาขอให้เพิ่มเติมโทษ จึงลงโทษจำเลยให้หนักกว่าเดิมไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225″

พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรมลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share