คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 44/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 28 บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่า 1 ฉบับ และมาตรา 91 กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น หากวันโฆษณาคำสั่งในราชกิจจานุเบกษากับหนังสือพิมพ์รายวันไม่ตรงกัน การนับวันโฆษณาตามมาตรา 91 ต้องนับวันโฆษณาในฉบับหลัง และคำว่า “วันโฆษณา” ตามมาตรา 91 หมายถึงวันที่มีการเผยแพร่หนังสือออกไปยังสาธารณชน คดีนี้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดได้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันก่อนแล้วจึงลงในราชกิจจานุเบกษา การนับวันโฆษณาจึงต้องนับจากวันโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา เมื่อคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดได้ลงประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป ซึ่งจัดพิมพ์แล้วเสร็จและนำออกเผยแพร่ให้กับสมาชิกที่ไปรับหนังสือราชกิจจานุเบกษาที่ส่วนงานราชกิจจานุเบกษาด้วยตนเองเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2545 ดังนี้ จึงฟังได้ว่าวันที่ 14 สิงหาคม 2545 เป็นวันที่มีการเผยแพร่หนังสือราชกิจจานุเบกษาที่ลงประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดไปยังสาธารณชน กำหนดเวลา 2 เดือน จึงเริ่มต้นนับแต่วันดังกล่าวโดยจะครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 14 ตุลาคม 2545 เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในวันที่ 27 สิงหาคม 2545 จึงยังอยู่ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91
คดีนี้เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 91 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังมิได้สอบสวนพยานหลักฐานของเจ้าหนี้ตามมาตรา 105 แต่มีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยอ้างว่าเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนดระยะเวลา ตามมาตรา 91 การที่เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ต่อศาลชั้นต้นเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 146 เมื่อศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของเจ้าหนี้ เจ้าหนี้จึงอ้างส่งหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต่อศาลชั้นต้นเพื่อแสดงว่าเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายได้ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวแล้วนำมาวินิจฉัยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลย (ลูกหนี้) ทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2545
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้รับสภาพหนี้ ค้ำประกัน และประนีประนอมยอมความเป็นเงิน 35,550,000 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสอง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ (ที่ถูกคือ มีคำสั่งไม่รับคำขอรับชำระหนี้) ของเจ้าหนี้ เนื่องจากเจ้าหนี้ยื่นคำรับชำระหนี้เกินกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483
เจ้าหนี้ยื่นคำร้องว่า คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีนี้ได้นำออกโฆษณาเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2545 กำหนดระยะเวลา 2 เดือน จึงนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2545 ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งกลับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไว้ดำเนินการต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งกลังคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไว้ดำเนินการต่อไป
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติได้ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2545 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2545 และลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 119 ตอนที่ 49 ง วันที่ 18 มิถุนายน 2545 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2545 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ (ที่ถูกคือ มีคำสั่งไม่รับคำขอรับชำระหนี้) ของเจ้าหนี้ เนื่องจากเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่าเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดระยะเวลาตามาตรา 91 หรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาต้องถือเอาวันที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา คือ วันที่ 18 มิถุนายน 2545 ไม่ใช่วันที่ 14 สิงหาคม 2545 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไว้ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 28 บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่า 1 ฉบับ และมาตรา 91 กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น หากวันโฆษณาคำสั่งในราชกิจจานุเบกษากับในหนังสือพิมพ์รายวันไม่ตรงกัน การนับวันโฆษณาตามาตรา 91 ต้องนับวันโฆษณาในฉบับหลัง และคำว่า “วันโฆษณา” ตามมาตรา 91 หมายถึงวันที่มีการเผยแพร่หนังสือออกไปยังสาธารณชน คดีนี้คำสั่งพิทักษ์เด็ดขาดได้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันก่อนแล้วจึงลงในราชกิจจานุเบกษา การนับวันโฆษณาจึงต้องนับจากวันโฆษณาในราชกิจจานุเบกษาเจ้าหนี้นำสืบโดยอ้างส่งหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 29 สิงหาคม 2545 ตามเอกสารหมาย ร.3 ที่มีไปยังผู้รับมอบอำนาจของเจ้าหนี้มีใจความว่า คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 119 ตอนที่ 49 ง วันที่ 18 มิถุนายน 2545 ซึ่งจัดพิมพ์แล้วเสร็จและนำออกเผยแพร่ให้กับสมาชิกที่ไปรับหนังสือราชกิจจานุเบกษาที่ส่วนงานราชกิจจานุเบกษาด้วยตนเองเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2545 ดังนี้จึงฟังได้ว่าวันที่ 14 สิงหาคม 2545 เป็นวันที่มีการเผยแพร่หนังสือราชกิจจานุเบกษาที่ลงประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดไปยังสาธารณชน กำหนดเวลา 2 เดือน จึงเริ่มต้นนับแต่วันดังกล่าวโดยจะครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 14 ตุลาคม 2545 เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในวันที่ 27 สิงหาคม 2545 จึงยังอยู่ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เจ้าหนี้มิได้ส่งเอกสารหมาย ร.3 ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยเพิ่งมาอ้างส่งในชั้นยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย ร.3 แล้วนำมาวินิจฉัยจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาและขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 นั้น เห็นว่า คดีนี้เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 91 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังมิได้สอบสวนพยานหลักฐานของเจ้าหนี้ตามมาตรา 105 แต่มีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ (ที่ถูกคือ ไม่รับคำขอรับชำระหนี้) ของเจ้าหนี้โดยอ้างว่าเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนดระยะเวลาตามาตรา 91 การที่เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลชั้นต้นเป็นการใช้สิทธิตามาตรา 146 เมื่อศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของเจ้าหนี้ เจ้าหนี้จึงอ้างส่งหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเอกสารหมาย ร.3 ต่อศาลชั้นต้นเพื่อแสดงว่าเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายได้ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย ร.3 แล้วนำมาวินิจฉัยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share