แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยรับผิดร่วมยอมชำระหนี้ตลอดจนดอกเบี้ยและเงื่อนไขตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ ซึ่งให้ถือยอดเงินตามบัญชีกระแสรายวันและให้เอาดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือน จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยทบต้น แม้ในช่วงเวลาที่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนดแล้ว แต่บัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ยังคงเดินสะพัดอยู่จนกว่าจะเลิกสัญญากัน
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินต้น 102,350.69บาทกับดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมในต้นเงิน 50,000 บาทดอกเบี้ยทบต้นถึง 31 ตุลาคม 2516 กับดอกเบี้ยธรรมดาต่อจากนั้นไป จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันและมิได้ฎีกาคัดค้าน ฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2511 จำเลยที่ 1 ซึ่งมีบัญชีกระแสรายวันที่ธนาคารโจทก์ สาขาบางกะปิ เลขที่ 132 ได้ทำสัญญาขอเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท มีกำหนดระยะเวลา 6 เดือน คือครบกำหนดในวันที่ 24 กรกฎาคม 2511 จำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีให้ถือตามบัญชีกระแสรายวันจำเลยที่ 1 ยอมให้ดอกเบี้ยโจทก์ในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี กำหนดส่งดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุก ๆ วันที่ 5 ของเดือน หากไม่ส่ง ยอมให้เอาดอกเบี้ยทบเป็นต้นเงินที่จะต้องเสียดอกเบี้ยต่อไป ในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ โดยยอมเข้ารับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในอันที่จะชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีนั้น หลังจากทำสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินและนำเงินฝากเข้าหักทอนบัญชีเรื่อยมา และก่อนที่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจะครบกำหนด 6 เดือนเป็นเวลา 2 วัน คือเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2511 โจทก์ได้อนุมัติเพิ่มวงเงินเบิกเกินบัญชีให้จำเลยที่ 1 อีก 10,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 มิได้ตกลงยินยอมด้วย หลังจากสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนด 6 เดือนแล้ว บัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ก็ยังคงเดินสะพัดต่อไป แล้วมาเลิกกันเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2516 โดยมียอดหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เมื่อเลิกบัญชีเดินสะพัดเป็นเงิน 102,350 บาท 69 สตางค์ และยังไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ก็มีหนังสือลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2516 ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้” ฯลฯ
“ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ออกเช็คหมาย ล.1 ชำระหนี้ให้โจทก์แทนจำเลยที่ 1แล้วดังที่อ้าง ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับสัญญาบัญชีเดินสะพัดของจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาคนละฉบับกัน เมื่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนดแล้วโจทก์จะเรียกดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในต้นเงิน 50,000 บาท โดยคิดดอกเบี้ยทบต้นตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2511 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นวันเลิกบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นการไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่าสัญญาค้ำประกัน (เอกสารหมาย จ.4) ที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์มีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ยอมเข้าค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ตลอดจนดอกเบี้ยและเงื่อนไขในสัญญาดังกล่าวนั้นทั้งสิ้น และสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ 1ทำไว้กับโจทก์ (เอกสารหมาย จ.3) ก็มีข้อความว่า จำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีให้ถือตามบัญชีกระแสรายวัน และยอมให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระเป็นรายเดือนทบเข้าเป็นต้นเงินที่จะต้องเสียดอกเบี้ย ฉะนั้นเมื่อปรากฏว่าแม้สัญญาเบิกเงินเกินต่อไป บัญชีจะครบกำหนดในวันที่ 24 กรกฎาคม 2511 แต่บัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ก็ยังคงเดินสะพัดต่อไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2516 จึงเลิกกันโดยนับแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2511 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2516 ปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.9 ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์อยู่ตลอดมา โจทก์จึงย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยทั้งสองได้จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2516 ตามข้อสัญญาดังกล่าวข้างต้น ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในต้นเงิน 50,000 บาท โดยคิดดอกเบี้ยทบต้นถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2516 ถูกต้องแล้ว”
พิพากษายืน