คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2176/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2514 ลูกหนี้ที่ 1 ทำหนังสือเบิกเงินเกินบัญชีกับเจ้าหนี้ผู้รับชำระหนี้ กำหนดชำระเงินคืนภายใน 6 เดือน ต่อมาลูกหนี้ที่ 1ขอเลื่อนกำหนดชำระหนี้อีกหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายขอเลื่อนกำหนดชำระหนี้ไปจนถึงวันที่ 13 มกราคม 2519 แม้ลูกหนี้ที่ 1 และเจ้าหนี้จะตกลงยืดอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีครั้งสุดท้ายมาเพียงวันดังกล่าวก็ตาม แต่ก็ไม่อาจ ถือได้แน่นอนว่าสัญญาจะสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว เพราะไม่มีข้อตกลงว่า เมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลานั้นให้สัญญาเป็นอันเลิกกันทันที เมื่อไปปรากฏว่า ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดบอกเลิกสัญญาและให้หักทอนบัญชี ตามพฤติการณ์ของคู่สัญญาถือว่ามีการต่ออายุสัญญาต่อไปอีกโดยปริยาย สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 1 อันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงหาสิ้นสุดลงในวันที่ 13 มกราคม 2519 ไม่ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นต่อไปจน ถึงวันศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสามเด็ดขาดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2519 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้และแก้ไขคำขอว่า ลูกหนี้เป็นหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 13กรกฎาคม 2514 รวมทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยคิดถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นเงิน 2,534,538.56 บาท

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า ลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีกับเจ้าหนี้ หนี้รายนี้นายเหมและลูกหนี้ที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน แต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2519 เจ้าหนี้จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเพียงวันดังกล่าวเท่านั้น หลังจากนั้นเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับดอกเบี้ยในฐานะลูกหนี้ผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นควรให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ 2,431,617.03 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ที่ 2 หากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากผู้ค้ำประกันเพียงใดแล้วก็ให้ได้รับชำระหนี้ลดลงตามส่วนที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ไปเพียงนั้นตามมาตรา 130(3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ส่วนที่ขอเกินมาให้ยก ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

เจ้าหนี้อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ยังไม่มีการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดเจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2519 อันเป็นวันที่ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้2,534,538.56 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2514 ลูกหนี้ที่ 1 ทำหนังสือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับเจ้าหนี้เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทกำหนดชำระเงินคืนภายใน 6 เดือน ต่อมาลูกหนี้ที่ 1 ขอเลื่อนกำหนดชำระหนี้อีกหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายลูกหนี้ที่ 1 ขอเลื่อนกำหนดชำระหนี้ไปจนถึงวันที่ 13มกราคม 2519 เจ้าหนี้ตกลง เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2519 ลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้ 3,104,664.32 บาท

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ลูกหนี้ที่ 1 และเจ้าหนี้จะตกลงยืดอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีครั้งสุดท้ายมาเพียงวันที่ 13 มกราคม 2519 ก็ตาม แต่ก็ไม่อาจถือได้แน่นอนว่าสัญญาจะสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว เพราะไม่มีข้อตกลงว่าเมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลานั้นให้สัญญาเป็นอันเลิกกันทันที เมื่อคดีไม่ปรากฏว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดบอกเลิกสัญญาและให้หักทอนบัญชี ตามพฤติการณ์ของคู่สัญญาถือว่ามีการต่ออายุสัญญาต่อไปอีกโดยปริยาย สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 1 อันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงหาสิ้นสุดลงในวันที่ 13 มกราคม 2519 ไม่ เจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นต่อไปจนถึงวันที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share