คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3860/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 1.507 กรัม เกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไว้ ตาม พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 6(7ทวิ) ต้องรับโทษตาม มาตรา 106 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ต่อมาเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เท่านั้น จึงมีผลให้การมีเมทแอมเฟตามีนคำนวณเป็น สารบริสุทธิ์เพียง 1.507 กรัม ไม่ถึง20 กรัม เป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522มาตรา 67 ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 อีกต่อไปเมื่อ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 ระวางโทษเบากว่าระวางโทษตาม พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 106 ทวิ ซึ่งใช้อยู่ในขณะจำเลยกระทำความผิดจึงเป็นกฎหมายส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย ต้องปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2538 เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท2 จำนวน 130 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 1.507 กรัมเกินกว่าประมาณที่รัฐมนตรีกำหนดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามวันเวลาดังกล่าวเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4,5, 6, 7, 11,, 59, 62, 106 ทวิ, 116 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 33 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 ทวิจำคุก 6 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าการที่ภายหลังจากจำเลยกระทำความผิดแล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศอันดับที่ 20 ระบุชื่อเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522แตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่าขณะที่จำเลยกระทำความผิดการที่จำเลยมีเมทแอมเฟตมีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท2 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 1.507 กรัม เกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไว้ ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 6 (7 ทวิ) ต้องรับโทษตามมาตรา 106 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ต่อมาเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เท่านั้น จึงมีผลให้การมีเมทแอมเฟตามีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เพียง 1.507 กรัมไม่ถึง 20 กรัม เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 67 ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 อีกต่อไปและเมื่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67ระวางโทษเบากว่าระวางโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 106 ทวิ ซึ่งใช้อยู่ในขณะจำเลยกระทำความผิด จึงเป็นกฎหมายส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย ต้องปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 67 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 และศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อต้องปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 67 ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 1.507 กรัมที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษจำคุก 6 ปี นั้นสูงเกินไปสมควรวางโทษให้ต่ำลงเพื่อเป็นคุณแก่จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 จำคุก 4 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share