คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6043/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า”ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หรือซึ่งได้พ้นโทษไปโดยผลแห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษพ.ศ. 2539 โดยให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ” หมายความว่า ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลที่จะได้รับการล้างมลทินและถือว่าไม่เคยถูกลงโทษในความผิดตามคำพิพากษานั้น นอกจากเป็นผู้ต้องโทษที่ได้กระทำผิดก่อนหรือในวันที่ 9มิถุนายน 2539 แล้ว ยังต้องเป็นผู้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ 1 ตุลาคม 2539อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับหรือในกรณีที่ผู้นั้นรับโทษตามคำพิพากษาอยู่ และยังไม่พ้นโทษในวันที่ 1 ตุลาคม 2539 ก็ต้องได้รับอภัยโทษปล่อยตัวหรือพ้นโทษออกมาตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2539 แล้วแต่กรณีการที่จำเลยต้องคำพิพากษาจำคุก 1 ปี แต่ศาลได้รอการลงโทษไว้จำเลยจึงยังมิได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา กรณีของจำเลยจึงมิใช่ผู้ต้องโทษตามความหมายของมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และไม่ได้รับผลตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษฯเช่นเดียวกัน
โจทก์ขอให้บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อน ซึ่งจำเลยไม่ได้ให้การรับว่าจำเลยเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีก่อน เพียงแต่ให้การรับสารภาพในความผิดที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบในข้อนี้ เมื่อโจทก์มิได้นำพยานหลักฐานมาสืบให้ปรากฏก็ไม่อาจนำโทษจำคุกในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 7, 8, 15, 67 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56, 58 และให้บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 346/2539 ของศาลชั้นต้น

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 (ที่ถูกมาตรา 15 วรรคหนึ่ง), 67 จำคุก 2 ปีจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 346/2539 ของศาลชั้นต้น 1 ปี รวมเป็นโทษจำคุก 2 ปี

จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยต้องคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 346/2539 ในความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปีโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2539จำเลยได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 ถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษในความผิดตามคำพิพากษาดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 นำโทษจำคุกตามคำพิพากษาดังกล่าวมาบวกกับโทษจำคุกในคดีนี้รวมจำคุกจำเลย 2 ปี นั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า “ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หรือซึ่งได้พ้นโทษไปโดยผลแห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2539 โดยให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ” หมายความว่า ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลที่จะได้รับการล้างมลทินและถือว่าไม่เคยถูกลงโทษในความผิดตามคำพิพากษานั้น นอกจากเป็นผู้ต้องโทษที่ได้กระทำผิดก่อนหรือในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 แล้ว ยังต้องเป็นผู้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ 1 ตุลาคม 2539 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับหรือในกรณีที่ผู้นั้นรับโทษตามคำพิพากษาอยู่ และยังไม่พ้นโทษในวันที่ 1 ตุลาคม2539 ก็ต้องได้รับอภัยโทษปล่อยตัวหรือพ้นโทษออกมาตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2539 ซึ่งแล้วแต่กรณี การที่จำเลยต้องคำพิพากษาจำคุก 1 ปี แต่ศาลได้รอการลงโทษไว้ จำเลยจึงยังมิได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาดังกล่าวกรณีของจำเลยจึงมิใช่ผู้ต้องโทษตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวและไม่ได้รับผลตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเช่นเดียวกันฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นแต่กรณีของจำเลยเป็นเรื่องที่โจทก์ขอให้บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนซึ่งจำเลยไม่ได้ให้การรับว่าจำเลยเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีก่อน เพียงแต่ให้การรับสารภาพในความผิดที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบในข้อนี้เมื่อโจทก์มิได้นำพยานหลักฐานมาสืบให้ปรากฏ ก็ไม่อาจนำโทษจำคุกในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ได้ ปัญหาว่าการนำโทษจำคุกในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ได้หรือไม่นั้น เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยโดยนำโทษจำคุกในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ตามที่โจทก์ขอจึงเป็นการไม่ชอบ”

พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 346/2539 ของศาลชั้นต้น ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้นำโทษจำคุกในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share