คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3856/2529

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานขับรถจักรขับรถไฟไปจอดที่สถานีแล้วนำหัวรถจักรไปรับตู้รถสินค้ามาต่อกับตู้รถโดยสารเพื่อเดินทางต่อไปได้ถอยหัวรถจักรเข้าต่อรับเอาตู้รถสินค้าในขณะที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานสับเปลี่ยนคอยให้สัญญาณแก่จำเลยที่ 1 โดยไม่มีพนักงานผู้ช่วยมาคอยควบคุมดูแลความปลอดภัยอยู่ท้ายขบวนรถ เป็นเหตุให้ตู้รถสินค้าที่อยู่ท้ายขบวนถอยหลังไปชนผู้ตายขณะกำลังเดินผ่านข้ามรางรถไฟ ดังนี้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 2 และการรถไฟแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 3ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำละเมิดดังกล่าวแต่ผู้ตายคุ้นเคยกับการเดินผ่านข้ามทางรถไฟในบริเวณดังกล่าว เดินผ่านรางรถไฟมาพร้อมกับคนอื่นหลายคนมีผู้ตายประสบอุบัติเหตุเพียงคนเดียว แสดงว่าผู้ตายไม่ได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอ เดินผ่านข้ามรางห่างตู้รถสินค้าในระยะกระชั้นชิด ต้องถือว่าผู้ตายมีส่วนประมาทเช่นเดียวกัน เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ 2 แต่ผู้ตายก็มีส่วนก่อ ให้เกิดความเสียหาย ดังนี้ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมรับผิด ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยครึ่งหนึ่งของค่าเสียหายทั้งหมด

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์38,486.25 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 76,972.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยโจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาว่าตู้รถสินค้าชนผู้ตายจนเสียชีวิตครั้งนี้เป็นความผิดของฝ่ายใด และจำเลยที่ 2 ที่ 3จะต้องรับผิดหรือไม่เพียงใดนั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากการเผชิญสืบของศาลและคู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่า สถานีรถไฟเขาชุมทองที่เกิดเหตุมีรางรถไฟ 4 ราง ชานชาลาหน้าสถานียาว 150 เมตรอยู่ติดกับรางที่ 1 ถัดไปเป็นรางที่ 2 แล้วมีชานชาลาอีกยาวประมาณ 100 เมตร ต่อไปจึงเป็นรางที่ 3 และรางที่ 4ซึ่งจำเลยว่าเป็นรางแยกออกมาเพื่อให้สับเปลี่ยนรถโดยเฉพาะและไม่ใช้จอดรถรับส่งคนโดยสาร รางที่ 1 ถึงรางที่ 4แต่ละรางห่างกันประมาณ 3 เมตร และมีทางให้คนข้ามด้วยแต่ตอนเกิดเหตุใช้ไม่ได้เพราะมีตู้รถจอดอยู่ในรางที่ 4ประมาณ 40 ตู้ และจอดอยู่ในรางที่ 3 อีกประมาณ 26 ตู้โดยท้ายสุดเป็นตู้รถสินค้าและจอดเลยตู้รถในรางที่ 4 ไปทางทิศใต้อีก 3 เมตร วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 13.20 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถไฟขบวน 480 จากหาดใหญ่เข้ามาจอดที่สถานีเขาชุมทองในรางที่ 1 แล้วนำหัวรถจักรออกสับเปลี่ยนตู้รถโดยเอาตู้รถสินค้าไปตัดไว้ในรางที่ 4 จำนวน 1 ตู้ และไปรับเอาตู้รถสินค้าจากรางที่ 3ทั้งหมดมาต่อกับตู้รถโดยสารในรางที่ 1 เพื่อเดินทางต่อไปยังสถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานสับเปลี่ยนคอยให้สัญญาณแก่จำเลยที่ 1 แล้วเกิดเหตุคดีนี้ในขณะจำเลยที่ 1ถอยหัวรถจักรเข้าต่อรับเอาตู้รถสินค้าในรางที่ 3 เพราะตู้รถท้ายขบวนได้เคลื่อนถอยหลังชนทับผู้ตายจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตในเวลาต่อมามีรายละเอียดบาดแผลตามรายงานการชันสูตรพลิกศพท้ายฟ้องขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ยืนให้สัญญาณด้วยธงสีเขียวกับธงสีแดงอยู่ทางขวามือของพนักงานขับรถในระยะห่างกันประมาณ 10 เมตรและตรงที่จำเลยที่ 2 ยืนปฏิบัติหน้าที่อยู่ห่างท้ายขบวนรถที่เกิดเหตุประมาณ 150 เมตร ฝ่ายจำเลยมีนายเดชา จันทรธัมมานายสถานีเขาชุมทองเบิกความประกอบว่า ในกรณีที่ขบวนรถมีความยาวมากเช่นนี้ หัวรถจักรต้องจอดเลยประแจทางสับหลีกไปอีกจนขบวนรถมีลักษณะโค้งไปทางขวามือและทำให้พนักงานขับรถกับพนักงานสับเปลี่ยนมองไม่เห็นท้ายขบวนรถ พนักงานสับเปลี่ยนจะมีผู้ช่วยคอยให้สัญญาณอยู่ท้ายขบวนรถอีกทอดหนึ่งซึ่งในวันเกิดเหตุได้แก่นายคิ่น หนูอนันต์ เพื่อช่วยกันดูแลให้ความปลอดภัยแก่ผู้สัญจรผ่านไปมาขณะมีการสับเปลี่ยนรถหากวันนั้นนายคิ่นมาช่วยปฏิบัติหน้าที่อยู่ทางท้ายขบวนรถจริงก็ต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 3 โบกธงสีแดงเพื่อห้ามเคลื่อนย้ายรถหรือให้หยุดรถไปแล้วในขณะที่ผู้ตายเดินผ่านข้ามรางที่ 3หรือหากบอกกล่าวไม่ทันเมื่อเกิดเหตุตู้รถสินค้าชนผู้ตายก็ต้องรีบบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ทราบทันทีก่อนที่ขบวนรถดังกล่าวจะออกไปจากสถานี แต่วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ทราบเรื่องเมื่อขบวนรถนั้นออกจากสถานีไปแล้ว แสดงว่าตอนเกิดเหตุนายคิ่นไม่ได้มาปฏิบัติหน้าที่อยู่ท้ายขบวนรถ และจำเลยที่ 2ก็ยังให้สัญญาณแก่จำเลยที่ 1 นำหัวรถจักรถอยหลังไปต่อรับเอาตู้สินค้าในรางที่ 3 ทั้ง ๆ ไม่สามารถมองเห็นและไม่มีพนักงานผู้ช่วยมาคอยควบคุมดูแลความปลอดภัยอยู่ท้ายขบวนรถจึงเป็นเหตุให้ตู้รถสินค้าที่อยู่ท้ายขบวนถอยหลังไปชนผู้ตายขณะกำลังเดินผ่านข้ามรางดังกล่าว และต้องถือว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำละเมิดดังกล่าว แต่โจทก์ก็นำสืบยอมรับในเรื่องที่ผู้ตายได้นำของไปขายที่ตลาดนัดหน้าสถานีรถไฟเขาชุมทองบ่อย ๆแสดงว่าผู้ตายต้องคุ้นเคยกับการเดินผ่านข้ามทางรถไฟในบริเวณดังกล่าวมาแล้วทั้งจะต้องทราบเรื่องการใช้รางที่ 3กับรางที่ 4 เป็นที่สับเปลี่ยนรถด้วยเพราะนางชั้นกับนายทองใบซึ่งมาขายของพร้อมกับผู้ตาย ก็เข้าเบิกความในฐานะพยานโจทก์ยอมรับในเรื่องที่มีการใช้รางที่ 3 กับรางที่ 4เป็นที่สับเปลี่ยนตู้รถโดยเฉพาะ ยิ่งกว่านั้นนางทองใบยังได้ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า เมื่อข้ามรางที่ 4 มาแล้วกำลังจะข้ามรางที่ 3 ก็รู้ว่ากำลังมีการสับเปลี่ยนตู้รถเพราะได้ยินเสียง เพียงไม่ทราบว่าจะสับเปลี่ยนตู้รถในรางไหนเท่านั้นการเดินผ่านข้ามทางรถไฟในช่วงเวลาดังกล่าวจึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ และปรากฏว่าขณะนั้นผู้ตายก็เดินผ่านข้ามทางรถไฟในรางที่ 4 กับรางที่ 3 มาพร้อมกับคนอื่น ๆอีกหลายคน คงมีผู้ตายประสบอุบัติเหตุถูกตู้รถสินค้าชนเพียงคนเดียวแสดงว่าผู้ตายไม่ได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอ และคงจะเดินผ่านข้ามรางที่ 3 ห่างตู้รถสินค้าในระยะกระชั้นชิดด้วยต้องถือว่าผู้ตายมีส่วนประมาทเช่นเดียวกัน แต่ความเสียหายเกิดขึ้นกับผู้ตายฝ่ายเดียวซึ่งศาลชั้นต้นคิดคำนวณไว้แล้วเป็นเงิน 153,945 บาท คู่ความทั้งสองฝ่ายก็ไม่โต้แย้งคงมีปัญหาโต้เถียงกันเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับความรับผิดเท่านั้นซึ่งจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442ประกอบด้วยมาตรา 223 และตามพฤติการณ์ก็เห็นได้ชัดว่าความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ 2แต่ผู้ตายก็มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2ที่ 3 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ครึ่งหนึ่งของค่าเสียหายดังกล่าวเป็นเงิน 76,972.50 บาท จึงเป็นการถูกต้องและเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับทั้งสองฝ่าย

Share