แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่ระบุมาตราที่ยกขึ้นปรับในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) วรรคแรก,83(ที่ถูกมาตรา 335(7)(11) วรรคสาม) จำคุกคนละ 4 ปี ข้อความภายในวงเล็บที่ว่า “ที่ถูกมาตรา 335(7)(11) วรรคสาม” เป็นเพียงข้อความที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองให้ตรงตามคำรับสารภาพตามฟ้องซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องระบุว่าจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันลักทรัพย์ของนายจ้างของจำเลยทั้งสองอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7)(11) วรรคสาม เท่านั้น แต่ศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไขโทษจำเลยทั้งสองให้สูงขึ้น จึงมิใช่กรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองอันจักต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 หรือพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในคำฟ้อง ตามมาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ ประกอบด้วยมาตรา 215
จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังคำฟ้องของโจทก์จำเลยจะมาโต้แย้งหรือโต้เถียงในชั้นฎีกาอีกว่า จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยขาดเจตนาทุจริตนั้นหาได้ไม่ เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาซึ่งเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อีกด้วย ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2540 เวลากลางวันจำเลยทั้งสองกับพวกอีกสองคนซึ่งศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว ร่วมกันลักแชมพูสระผม 90 หีบ ราคาหีบละ 1,200 บาท รวมราคา 108,000 บาท ของบริษัทลีเวอร์บราเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายวันชัย ไพรรุ่งเรือง ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยทั้งสองกับพวกไปโดยทุจริตเหตุเกิดที่ตำบลดงลาน อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองกับพวกได้พร้อมด้วยแชมพูสระผม 90 หีบ เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11), 83 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 12,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(11) วรรคแรก, 83 (ที่ถูกมาตรา 335(7)(11) วรรคสาม) จำคุกคนละ4 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 12,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2540 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันลักทรัพย์ของบริษัทลีเวอร์ บราเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทรัพย์อยู่ในความครอบครองของนายวันชัย ไพรรุ่งเรือง ผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลย ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2540 ผู้เสียหายได้ทรัพย์บางส่วนคืน มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนที่ระบุบทมาตราที่ยกขึ้นปรับในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) วรรคแรก, 83 (ที่ถูกมาตรา 335(7)(11) วรรคสาม) จำคุกคนละ 4 ปี ข้อความดังกล่าวที่ปรากฏอยู่ภายในวงเล็บและอยู่ในคำพิพากษานั้นจะถือว่าเป็นการเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยลงโทษจำเลยที่ 1 เกินคำขอของโจทก์หรือไม่ เห็นว่าข้อความภายในวงเล็บที่ว่า “ที่ถูกมาตรา 335(7)(11) วรรคสาม” เป็นเพียงข้อความที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองให้ตรงตามคำรับสารภาพตามฟ้องซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องระบุว่าจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันลักทรัพย์ของนายจ้างของจำเลยทั้งสองอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7)(11)วรรคสาม เท่านั้น แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้แก้ไขโทษจำเลยทั้งสองให้สูงขึ้น จึงมิใช่กรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองอันจักต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 หรือพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในคำฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ ประกอบด้วยมาตรา 215
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปมีว่า มีเหตุสมควรจะลงโทษจำเลยที่ 1 สถานเบาและรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับพวกทำการลักแชมพูสระผมจำนวนถึง 90 หีบ ราคา 108,000 บาท ถือได้ว่าเป็นการลักทรัพย์จำนวนมากและมีราคาสูงพอสมควรที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาที่จะลักทรัพย์ดังกล่าวนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้องข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังคำฟ้องของโจทก์ จำเลยที่ 1 จะมาโต้แย้งหรือโต้เถียงในชั้นฎีกาอีกว่า จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยขาดเจตนาทุจริตนั้นหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1ให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาซึ่งเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 อีกด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 จำเลยที่ 1 มีอายุถึง 42 ปี กลับร่วมกับจำเลยอื่น ๆ ที่มีอายุน้อยกว่ามากมากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่นายจ้างให้ความไว้วางใจและจำเลยที่ 1 ก็มิได้นำของกลางที่ยึดได้มาคืนให้แก่ผู้เสียหายด้วยตนเอง แม้จำเลยที่ 1 จะได้ขวนขวายนำเงินมาชำระและใช้ราคาทรัพย์ที่ยังขาดอยู่ให้แก่ผู้เสียหาย ก็ยังไม่อาจฟังลบล้างการกระทำความผิดดังกล่าวได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น เหมาะสมแล้ว
พิพากษายืน