คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3847/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยมิได้ตกลงทำสัญญาจำนองตามความประสงค์ของโจทก์เพียงแต่ให้คำมั่นว่าให้โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทคืนได้ภายหลังครบกำหนดเวลาในสัญญาขายฝากแล้วเท่านั้น โดยการซื้อคืนโจทก์จะต้องเพิ่มเงินชดเชยให้จำเลย ดังนั้น สัญญาจำนองจึงมิได้เกิดขึ้น ที่โจทก์ยินยอมทำสัญญาขายฝากที่พิพาทไว้แก่จำเลยโดยมีสัญญาผูกพันกันไว้อีกฉบับหนึ่งว่าโจทก์มีสิทธิซื้อที่พิพาทคืนหลังจากครบกำหนดสัญญาขายฝากแล้ว ถือว่าโจทก์ทำสัญญาขายฝากโดยความสมัครใจ มิใช่เกิดจากเจตนาลวงด้วยสมรู้กับจำเลยแต่อย่างใด นิติกรรมขายฝากจึงสมบูรณ์ บังคับกันได้ไม่เป็นโมฆะ และ มิใช่นิติกรรมอำพราง

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “มีปัญหาว่าโจทก์จำเลยได้ทำนิติกรรมขายฝากอำพรางนิติกรรมจำนองหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบต้องกันฟังได้ว่าในวันทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทเอกสารหมาย ล.1 ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดพระนครนั้นโจทก์ประสงค์จะให้ทำเป็นสัญญาจำนอง แต่จำเลยไม่ยอมตกลงด้วย เพราะจำเลยต้องการให้ทำเป็นสัญญาขายฝาก จึงมีการเจรจาต่อรองกัน ในที่สุดจำเลยตกลงยินยอมให้โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทคืนได้ภายหลังสัญญาขายฝากครบกำหนดแล้ว โจทก์จึงตกลงทำสัญญาขายฝากตามเอกสารหมาย ล.1 ในวันเดียวกันนั้น จำเลยได้ทำหนังสือยินยอมให้โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทคืนได้ โดยนายมูนิค พ่วงศิริ พยานโจทก์เบิกความว่า ในสัญญาที่ให้ไถ่เกินกำหนดไว้นี้ ได้กำหนดค่าปรับไว้จำนวน 200,000 บาท และนายประสงค์ โพธิ์อินทะ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่า ถ้าเกิน 6 เดือนจะต้องเสียค่าปรับ 200,000 บาท ถ้าไม่เสียค่าปรับก็ไม่มีสิทธิไถ่ที่ดินคืน จากข้อเท็จจริงและคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าว เจือสมจำเลยที่นำสืบว่าจำเลยมิได้ตกลงทำสัญญาจำนองกับโจทก์แต่อย่างใด จำเพียงแต่ให้คำมั่นว่าให้โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทคืนได้ภายหลังครบกำหนดเวลาในสัญญาขายฝากแล้วเท่านั้นโดยการซื้อที่พิพาทคืนโจทก์จะต้องเสียเพิ่มเงินชดเชยให้จำเลยอีก 200,000 บาท ดังนั้น เมื่อจำเลยมิได้มีเจตนาทำสัญญาจำนองกับโจทก์ตามความประสงค์ของโจทก์แล้ว สัญญาจำนองจึงมิได้เกิดขึ้นแต่ประการใด ที่โจทก์ยินยอมทำสัญญาขายฝากที่พิพาทไว้แก่จำเลยโดยมีสัญญาผูกพันกันไว้อีกฉบับหนึ่งว่า โจทก์มีสิทธิซื้อที่พิพาทคืนหลังจากครบกำหนดสัญญาขายฝากแล้วเช่นนี้ ถือว่าโจทก์ทำสัญญาขายฝากเอกสารหมาย ล.1 โดยความสมัครใจมิใช่เกิดจากเจตนาลวงด้วยสมรู้กับจำเลยแต่อย่างใด นิติกรรมขายฝากจึงสมบูรณ์บังคับกันได้ไม่เป็นโมฆะ และมิใช่นิติกรรมอำพรางนิติกรรมจำนองดังโจทก์ฎีกา

นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.9 ว่าหลังจากครบกำหนดสัญญาขายฝากตามเอกสารหมาย ล.1 แล้ว นายสะมะแอ พ่วงศิริบุตรโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อที่พิพาทรวมกับที่ดินโฉนดเลขที่ 2017 อีกหนึ่งแปลงเป็นเงิน 1,924,614 บาท ภายในกำหนด 12 เดือน นับแต่วันทำสัญญา โดยนายสะมะแอเบิกความว่า ราคาที่ดินที่พยานตกลงซื้อกับจำเลยแพงกว่าที่โจทก์จะไถ่ถอนจากจำเลย แสดงว่า เมื่อครบกำหนดสัญญาขายฝากเอกสารหมาย ล.1 แล้ว โจทก์ได้สละสิทธิในการซื้อที่พิพาทคืนจากจำเลยตามที่จำเลยได้ให้คำมั่นว่าจะขายคืนให้แล้ว มิฉะนั้นนายสะมะแอบุตรโจทก์ก็ คงไม่ทำสัญญาจะซื้อที่พิพาทจากจำเลยตามเอกสารหมาย จ.9 ดังกล่าวแต่อย่างไรก็ดี เมื่อครบกำหนด 12 เดือนแล้วนายสะมะแอก็มิได้ซื้อที่ดินพิพาทคดีนี้จากจำเลยเพราะมีเงินไม่พอ หลังจากนั้นข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ติดต่อซื้อที่พิพาทคืนจากจำเลยอีกเลยจนกระทั่งโจทก์ฟ้องคดีนี้ ซึ่งเป็นเวลานานถึง 8 ปีเศษ และเหตุที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ข้อเท็จจริงก็ปรากฏจากคำเบิกความของนายสรรค์ชัย ชญานินทนายโจทก์ว่า เมื่อ พ.ศ. 2520 พยานเป็นทนายให้นายสะมะแอ พ่วงศิริ ฟ้องนางสมพร โหสกุล เป็นจำเลยเรื่องขอเพิกถอนนิติกรรมขายฝากโฉนดที่ดินเลขที่ 22440 ตามคดีหมายเลขดำที่ 13018/2520 คดีหมายเลขแดงที่ 12210/2521 ของศาลแพ่ง พยานได้ดูเอกสารหมาย จ.12 ในคดีดังกล่าวมีข้อความว่า ผู้รับซื้อฝากที่ดินพิพาทคดีนี้ยินยอมให้ซื้อคืนได้ พยานจึงแนะนำให้นายสะมะแอเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ แสดงให้เห็นว่า หากทนายโจทก์ไม่แนะนำให้โจทก์ฟ้องแล้ว โจทก์ก็มิได้กระตือรือร้นที่จะซื้อที่พิพาทคืนจากจำเลยแต่อย่างใดเพราะโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าตนเองหมดสิทธิซื้อที่พิพาทคืน เหตุจูงใจให้ฟ้องคดีนี้ก็น่าเชื่อว่าเพราะที่ดินพิพาทขณะฟ้องมีราคาสูงขึ้นมากนั่นเอง ที่โจทก์ฎีกามายืดยาวหาเป็นแก่นสารสาระให้รับฟังได้ไม่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนจำเลย

Share