แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 3 อนุญาตให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 เข้าแล่นในเส้นทางเดินรถประจำทางของจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการเดินรถรับส่งผู้โดยสารจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุโดยประมาทชนโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส จำเลยทั้งสามต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ฐานใด แต่ตามคำฟ้องแสดงชัดว่าจำเลยที่ 3 อนุญาตให้เจ้าของรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุเข้าแล่นในเส้นทางเดินรถประจำทางของจำเลยที่ 3 โดยเจ้าของรถและจำเลยที่ 3 มีผลประโยชน์ร่วมกันเมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของเจ้าของรถคันเกิดเหตุซึ่งจำเลยที่ 3 มีผลประโยชน์ร่วมด้วย ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ด้วย ฟ้องโจทก์ได้แสดงสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับเกี่ยวกับจำเลยที่ 3 โดยชัดแจ้งแล้วซึ่งจำเลยที่ 3 เข้าใจข้อหาดี ได้ให้การต่อสู้ปฏิเสธความรับผิดไว้ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม แม้โจทก์กล่าวในฟ้องให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในฐานมีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2 และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 มีผลประโยชน์ร่วมกับบริษัท ธ. ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้างของบริษัทดังกล่าว ต้องถือว่าเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ด้วยที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิด หาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกคำฟ้องไม่ จำเลยที่ 1 เห็นโจทก์ข้ามถนนอยู่ข้างหน้าในระยะที่สามารถชะลอความเร็วให้โจทก์เดินข้ามถนนไปได้โดยปลอดภัย แต่หาได้กระทำไม่กลับเร่ง ความเร็วขึ้นเพื่อจะขับให้ผ่านพ้นโจทก์ไปก่อน แต่ไม่พ้นกลับเฉี่ยวชนโจทก์ แม้โจทก์จะข้ามถนนนอกทางม้าลายก็มิใช่หมายความว่าโจทก์ประมาทเสมอไป กรณีดังกล่าวหากจำเลยที่ 1 ชะลอความเร็วลงเหตุย่อมไม่เกิดขึ้น ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์มีส่วนประมาทด้วยจึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 ประมาทฝ่ายเดียว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2ซึ่งนำไปเข้าวิ่งในเส้นทางเดินรถประจำทางของจำเลยที่ 3 โดยมีผลประโยชน์ร่วมกัน ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทชนโจทก์ขณะเดินข้ามถนนได้รับอันตรายสาหัส ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า รถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุมิใช่รถยนต์ส่วนตัวของจำเลยที่ 2 เหตุเกิดจากความประมาทของโจทก์ฝ่ายเดียวที่วิ่งข้ามถนนชนรถที่จำเลยที่ 1 ขับโจทก์เรียกร้องค่าเสียหายเกินความจริง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้รับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุมาร่วมวิ่งด้วย เหตุเกิดจากความประมาทของโจทก์ฝ่ายเดียวที่วิ่งตัดหน้ารถที่จำเลยที่ 1 ขับในระยะกระชั้นชิด โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายเกินความจริง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 177,715 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า บริษัทธนนครขนส่ง จำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของบริษัทธนนครขนส่ง จำกัดจำเลยที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ เป็นการวินิจฉัยนอกคำฟ้อง จึงไม่ชอบ เพราะโจทก์บรรยายฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 3 โดยอ้างว่ามีผลประโยชน์ร่วมกันนั้น ข้อเท็จจริงรังฟังได้ว่า บริษัทธนนครขนส่ง จำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทดังกล่าวมีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 3 ในกิจการเดินรถยนต์โดยสารประจำทางสาย 10 แต่มิใช่จำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 3 ดังที่โจทก์ฟ้อง โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของบริษัทธนนครขนส่ง จำกัด เป็นผู้ขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนในการขับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวในกิจการเดินรถร่วมบริการของจำเลยที่ 3 ด้วยแม้โจทก์ได้กล่าวในฟ้องให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในฐานมีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2 แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 มีผลประโยชน์ร่วมกับบริษัทธนนครขนส่ง จำกัด ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการก็ตาม จำเลยที่ 3 ก็เข้าใจข้อหาดีจึงให้การต่อสู้ไว้ว่า จำเลยที่ 3ไม่ได้รับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุมาร่วมวิ่งด้วย คือ หมายถึงไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันเป็นการปฏิเสธความรับผิดไว้โดยสิ้นเชิงเมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุชนโจทก์ได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัส เป็นการละเมิด ต้องถือว่าการกระทำละเมิดดังกล่าวของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิด ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น เป็นการวินิจฉัยตามคำฟ้องและพยานหลักฐานในสำนวนโดยชอบ หาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกคำฟ้องไม่
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1ประมาทนั้นจำเลยที่ 3 ไม่เห็นด้วยเพราะโจทก์ข้ามถนนไม่ใช่บริเวณทางม้าลาย โจทก์เสี่ยงภัยเอง เห็นแล้วว่าขณะนั้นมีรถยนต์โดยสารคันที่จำเลยที่ 1 ขับกำลังแล่นมา โจทก์ข้ามถนนในลักษณะตัดหน้าเป็นความประมาทของโจทก์ หรือโจทก์มีส่วนประมาทด้วยจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิด หากรับผิดก็เป็นจำนวนต่ำลง นั้น ได้ความจากนายสุรพงษ์ ยะนะโชติ และนายบุญเพ็ง บุญอินทร์ ประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองว่า พยานต่างโดยสารมาในรถยนต์โดยสารประจำทางคันเกิดเหตุ ขณะที่รถผ่านถึงศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเตรียมจะลงป้ายหน้า มองไปข้างหน้าเห็นโจทก์เดินข้ามถนนในลักษณะปกติธรรมดาห่างรถประมาณ 20 เมตร แต่รถยนต์โดยสารประจำทางคันดังกล่าวกลับเร่งความเร็วขึ้นแล้วเฉี่ยวชนโจทก์ล้มลง ดังนี้แสดงว่าจำเลยที่ 1 เห็นโจทก์ข้ามถนนอยู่ข้างหน้าในระยะที่สามารถชะลอความเร็วให้โจทก์เดินข้ามถนนไปได้โดยปลอดภัย แต่หาได้กระทำไม่กลับเร่งความเร็วขึ้นเพื่อจะขับให้รถผ่านพ้นโจทก์ไปก่อน แต่ไม่พ้นกลับเฉี่ยวชนโจทก์ จึงเกิดการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1แม้โจทก์จะข้ามถนนนอกทางม้าลายก็มิใช่หมายความว่าโจทก์ประมาทเสมอไป กรณีนี้ถ้าจำเลยที่ 1 ชะลอความเร็วลง เหตุคดีนี้ย่อมไม่เกิดขึ้น จำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้มีพยานมาสืบให้เห็นว่าโจทก์ประมาทหรือมีส่วนประมาทอยู่ด้วยเลย จึงต้องฟังว่าเหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 เพียงฝ่ายเดียว.