แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างจากจำเลยโดยอ้างว่าโจทก์ยังมีสิทธิได้รับค่าจ้างนับตั้งแต่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงาน เพราะคำสั่งเลิกจ้างมิได้มีกรรมการอื่นของจำเลยที่ 1 ลงชื่อด้วย และมิได้ประทับตราของจำเลยที่ 1 จึงเป็นโมฆะไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 และโจทก์คดีไม่มีประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ นอกฟ้องนอกประเด็น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำปฏิบัติหน้าที่แผนกแม่บ้านประจำโรงแรมและภัตตาคารของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้รับค่าจ้างเดือนละ 2,500 บาท ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือของจำเลยที่ 1 สั่งให้โจทก์ออกจากงาน แต่หนังสือของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไม่มีกรรมการอื่นลงชื่อและไม่มีตราของบริษัทจำเลยที่ 1 ประทับให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบังคับไว้ ถือว่าเป็นโมฆะไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 และโจทก์ โจทก์จึงยังมีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างนับแต่วันที่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานถึงวันฟ้องเป็นเวลา23 เดือน เป็นเงิน 57,500 บาท ขอให้ศาลบังคับ
จำเลยทั้งสองให้การว่า การสั่งปลดโจทก์ออกจากงานเป็นการกระทำที่ถูกต้องและมีผลบังคับตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างโจทก์มีอำนาจที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 คำสั่งดังกล่าวไม่มีกฎหมายกำหนดแบบและวิธีไว้ จึงเป็นอำนาจของจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการกระทำได้ คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่เรียกเงินค่าจ้างนั้นหมายรวมถึงค่าชดชยตามกฎหมายด้วย จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (1) ถึง (6) ที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวันเป็นเงิน 7,500 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 มิใช่นายจ้างโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 7,500 บาทแก่โจทก์ และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำทำงานในตำแหน่งหัวหน้าแผนกแม่บ้าน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2518 ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2520 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งเป็นผลให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไป และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างจากจำเลยโดยอ้างว่า โจทก์ยังมีสิทธิได้รับค่าจ้างนับตั้งแต่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานเพราะคำสั่งเลิกจ้างนั้นมิได้มีกรรมการอื่นของจำเลยที่ 1 ลงชื่อด้วย ทั้งมิได้ประทับตราของบริษัทจำเลยที่ 1 จึงเป็นโมฆะไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 และโจทก์ ฟ้องโจทก์ไม่ได้ตั้งประเด็นแห่งข้อหาในเรื่องเรียกค่าชดเชยจากจำเลยเพราะเหตุที่จำเลยที่ 1เลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานแต่อย่างใด คดีจึงไม่มีประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยได้หรือไม่ ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด และพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ นอกฟ้องนอกประเด็นการมิชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย