คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3846/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยถือปืนบุกรุกเข้าไปในห้องเช่าอันเป็นเคหสถานของผู้เสียหายโดยเพื่อเอาเรื่องกับ ว. สามีผู้เสียหายที่ทำร้ายจำเลยเมื่อถูกจำเลยทวงหนี้ แต่ไม่พบ ว. จำเลยมิได้จ้องปืนมาทางผู้เสียหายแล้วจำเลยเอาเครื่องรับโทรศัพท์ไร้สายและมีดของผู้เสียหายกับเสื้อของ ว. ไป ก่อนหยิบเสื้อของ ว. จำเลยพูดว่าเอาเสื้อไปนะ ทั้งขณะที่หยิบเสื้อของ ว. ซึ่งแขวนอยู่ที่ไม้แขวนเสื้อและเครื่องรับโทรศัพท์ไร้สาย จำเลยถืออาวุธปืนอยู่ในมือข้างเดียวกับที่ถือไม้แขวนเสื้อ จึงมิได้หยิบเสื้อของ ว. ไปโดยพลการ และการที่จำเลยถืออาวุธปืนในลักษณะดังกล่าวไม่อยู่ในสภาพที่จะทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัว จนไม่กล้าขัดขวางจำเลย การที่จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายและ ว. ไปจึงมิใช่เกิดจากการที่จำเลยใช้อาวุธปืนขู่เข็ญผู้เสียหายอันจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
จำเลยเอาเครื่องรับโทรศัพท์ไร้สายของผู้เสียหายและเสื้อของ ว.ไปเพื่อให้ ว. นำฝาถังน้ำมันรถยนต์ของจำเลยไปแลกทรัพย์ดังกล่าวคืน และจำเลยมีฐานะการเงินดี แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 339, 339 วรรคสอง, 340 ตรี, 364, 365 (2), 371, 91 พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ วรรคสอง ริบอาวุธปืนของกลาง ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ เสื้อ 3 ตัว ราคา 2,700 บาท และมีด 1 เล่ม ราคา 25 บาท แก่ผู้มีชื่อและผู้เสียหาย และให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 1579/2541 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพฐานพาอาวุธปืน ให้การปฏิเสธฐานบุกรุกและชิงทรัพย์ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 340 ตรี มาตรา 365 (2) (ที่ถูกมาตรา 365 (2) ประกอบด้วย มาตรา 364) มาตรา 371 ฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ให้จำคุก 3 เดือน ฐานบุกรุกเคหสถานโดยมีอาวุธ และฐานชิงทรัพย์ในเคหสถานโดยมีและใช้อาวุธปืน เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานชิงทรัพย์ในเคหสถานโดยมีและใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ให้จำคุก 15 ปี การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 รวมจำคุก 15 ปี 3 เดือน คำให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 10 ปี 2 เดือน ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 1579/2541 ของศาลชั้นต้น ริบอาวุธปืนของกลาง ให้จำเลยคืนเสื้อ 3 ตัว หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 2,700 บาท แก่ผู้มีชื่อ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยในความผิดฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม ป.อ. มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน เมื่อรวมโทษฐานชิงทรัพย์ในเคหสถานโดยมีและใช้อาวุธปืนแล้ว คงจำคุกทั้งสิ้น 10 ปี 1 เดือน 15 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2540 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา จำเลยได้พาอาวุธปืนออโตเมติกขนาด .32 จำนวน 1 กระบอก ซึ่งจำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้จากนายทะเบียนบุกรุกเข้าไปในห้องชั้นที่ 3 ของอาคารห้องเช่าโต๊ะสุวรรณ ซึ่งเป็นเคหสถานของนางสาวสายใย วาทนเสรี ผู้เสียหาย แล้วเอาเครื่องรับโทรศัพท์ไร้สายตัวลูก 1 เครื่อง กับมีด 1 เล่ม ของผู้เสียหาย และเสื้อ 3 ตัว ของนายวันชัย แซ่โง้ว ซึ่งเป็นสามีของผู้เสียหายไป มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2540 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา จำเลยถืออาวุธปืนเข้ามาในห้องของผู้เสียหาย จำเลยเดินไปมาแล้วบอกให้ผู้เสียหายหยิบภาพถ่ายของนายวันชัยให้ ผู้เสียหายตอบว่าไม่มีจำเลยได้ด่าเป็นภาษาจีนซึ่งผู้เสียหายไม่ทราบความหมาย จำเลยพูดว่าจะเผาห้องของผู้เสียหาย และบอกว่าเมื่อไม่ได้ภาพถ่ายก็จะเอาเสื้อไป จำเลยเดินไปหยิบเสื้อของนายวันชัยที่แขวนอยู่ 3 ตัว และหยิบเครื่องรับโทรศัพท์ไร้สายของผู้เสียหายซึ่งเป็นตัวลูกไป ผู้เสียหายไม่กล้าขัดขวางเพราะจำเลยถืออาวุธปืนอยู่ในมือ วันรุ่งขึ้นเวลา 14 นาฬิกา จำเลยมาเคาะประตูห้องของผู้เสียหาย ผู้เสียหายเปิดประตูให้ จำเลยถือมีดปลายแหลมเข้ามาในห้องและถามหานายวันชัย ผู้เสียหายบอกว่าไม่อยู่ จำเลยเดินไปมาสักครู่ก็เดินเข้าไปในครัวหยิบมีดปอกผลไม้แล้วเดินออกไปจากห้อง ผู้เสียหายก็ไปร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ตามคำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าว แสดงว่าจำเลยไม่ได้ใช้อาวุธปืนขู่เข็ญผู้เสียหายแต่อย่างใด ซึ่งตรงกับที่ผู้เสียหายเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า จำเลยมิได้ถืออาวุธปืนจ้องมาทางผู้เสียหาย จึงต้องพิจารณาว่า เหตุที่จำเลยถืออาวุธปืนไปนั้น เป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่กล้าขัดขวางมิให้จำเลยเอาทรัพย์ไปหรือไม่ ผู้เสียหายเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ก่อนจำเลยหยิบเสื้อของนายวันชัยไป จำเลยพูดว่าเอาเสื้อไปนะ ขณะจำเลยหยิบเสื้อของนายวันชัยซึ่งแขวนอยู่ที่ไม้แขวนเสื้อและเครื่องรับโทรศัพท์ไร้สาย จำเลยถืออาวุธปืนอยู่ในมือข้างเดียวกับที่ถือไม้แขวนเสื้อ ตามคำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวแสดงว่าจำเลยมิได้หยิบเสื้อของนายวันชัยไปโดยพลการ และการที่จำเลยถือไม้แขวนเสื้อในมือที่ถืออาวุธปืนมีลักษณะไม่อยู่ในสภาพที่จะทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวได้ ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายไม่กล้าขัดขวางจำเลยเพราะเหตุที่จำเลยถืออาวุธปืนดังที่ผู้เสียหายเบิกความ เหตุที่จำเลยถืออาวุธปืนเข้าไปในห้องของผู้เสียหายซึ่งเป็นภริยาของนายวันชัยคงเป็นเพราะจำเลยต้องการเอาเรื่องกับนายวันชัย ซึ่งทำร้ายร่างกายจำเลยดังที่ผู้เสียหายเบิกความว่า จำเลยพูดว่าจะฆ่านายวันชัยและเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายทราบว่านายวันชัยตีจำเลยแล้วนายวันชัยหลบหนีไปต่างจังหวัดระยะหนึ่ง ดังนั้น การที่จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายและนายวันชัยไปจึงมิใช่เกิดจากการที่จำเลยใช้อาวุธปืนขู่เข็ญผู้เสียหายอันจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้อง จึงต้องพิจารณาต่อไปว่าการที่จำเลยเอาทรัพย์ไปนั้น จำเลยมีเจตนาทุจริตหรือไม่ ผู้เสียหายเบิกความว่า เมื่อจำเลยเดินออกไปจากห้อง ผู้เสียหายไม่ได้ไปร้องทุกข์ แสดงว่าที่จำเลยเอาทรัพย์ไปนั้นผู้เสียหายไม่ติดใจเอาเรื่องแก่จำเลย ส่วนที่ผู้เสียหายเบิกความว่า ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2540 หลังจากจำเลยเอามีดไปแล้ว ผู้เสียหายได้ไปร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ แสดงว่าผู้เสียหายไปร้องทุกข์ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2540 ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายจะไปร้องทุกข์ในวันนั้น เพราะร้อยตำรวจเอกวรพจน์ ดิษยบุตร ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนและเป็นพยานโจทก์เบิกความว่า ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2540 ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ว่าจำเลยใช้อาวุธปืนขู่บังคับผู้เสียหาย จำเลยเข้าไปในห้องของผู้เสียหายในวันที่ 19 พฤษภาคม 2540 เพียงครั้งเดียว การที่ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจเอกวรพจน์ว่าจำเลยใช้อาวุธปืนขู่บังคับผู้เสียหาย จึงเป็นคำให้การที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ผู้เสียหายเบิกความดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้ผู้เสียหายยังได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ก่อนไปร้องทุกข์ได้ปรึกษากับเพื่อนบ้านและนายวันชัย แสดงว่าที่ผู้เสียหายเอาเรื่องแก่จำเลยเป็นเพราะมีการปรึกษากับนายวันชัยก่อน คำเบิกความของผู้เสียหายส่วนที่เป็นโทษแก่จำเลยจึงไม่มีน้ำหนัก จำเลยเองก็เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุ 3 ถึง 4 วัน จำเลยได้ทวงหนี้ที่นายวันชัยเป็นหนี้จำเลยอยู่ 40,000 ถึง 50,000 บาท นายวันชัยไม่พอใจก็ชกจนจำเลยสลบไป จำเลยจึงไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชยเขต 2 ในวันเกิดเหตุได้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับนายวันชัย เมื่อทราบว่านายวันชัยไม่อยู่จึงให้เจ้าพนักงานตำรวจกลับไป แล้วจำเลยได้เข้าไปในห้องของผู้เสียหายเพื่อขอภาพถ่ายของนายวันชัยไปให้เจ้าพนักงานตำรวจ แต่ผู้เสียหายไม่ให้เพราะเป็นภาพถ่ายในวันแต่งงาน จำเลยจึงขอเสื้อ 3 ตัวและเครื่องรับโทรศัพท์ไร้สายตัวลูก โดยจำเลยบอกผู้เสียหายว่าให้นายวันชัยนำฝาถังน้ำมันรถยนต์บีเอ็มดับบลิวของจำเลยไปแลกกับเงินที่เป็นหนี้จำเลยกับเสื้อ 3 ตัว และเครื่องรับโทรศัพท์ไร้สาย และก่อนจะหยิบเอาทรัพย์ไป จำเลยได้บอกผู้เสียหายว่าขอทรัพย์ดังกล่าวไปได้ไหม ผู้เสียหายตอบว่าอยากได้อะไรก็เอาไป ตามคำเบิกความของจำเลยดังกล่าว แสดงว่าที่จำเลยเอาทรัพย์ไปก็เพื่อให้นายวันชัยเอาฝาถังน้ำมันรถยนต์บีเอ็มดับบลิวของจำเลยไปแลกทรัพย์คืนมา จำเลยเป็นคนมีฐานะดี เพราะจำเลยเบิกความว่า จำเลยประกอบอาชีพค้าขาย สแตนเลสนำเข้าจากต่างประเทศ มีรายได้เดือนละประมาณ 10,000 บาท และเป็นเจ้าของกิจการอพาร์ตเมนต์ให้เช่ามีรายได้เดือนละประมาณ 100,000 บาท ซึ่งตรงกับคำเบิกความของร้อยตำรวจเอก วรพจน์ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า จากการไปตรวจค้นบ้านของจำเลย พยานสังเกตว่าจำเลยเป็นบุคคลที่มีฐานะดี ดังนั้น การที่จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายและนายวันชัยไป จึงน่าเชื่อตามคำเบิกความของจำเลยว่าเพื่อต้องการให้นายวันชัยเอาฝาถังน้ำมันรถยนต์บีเอ็มดับบลิวของจำเลยไปแลกทรัพย์คืนมา จำเลยจึงไม่มีเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานบุกรุกเคหสถานโดยมีอาวุธจำคุก 1 ปี คำให้การชั้นสอบสวนและข้อนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 หนึ่งในสามคงจำคุก 8 เดือน เมื่อรวมโทษฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว เป็นจำคุก 9 เดือน 15 วัน ยกฟ้องโจทก์ฐานชิงทรัพย์ในเคหสถานโดยมีและใช้อาวุธปืน และให้ยกคำขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.
( สกนธ์ กฤติยาวงศ์ – ทองหล่อ โฉมงาม – ธำรงศักดิ์ ขมะวรรณ )

Share