คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3838-3853/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตามผลงานแต่จำเลยเป็นผู้มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์ในการทำงาน ดังนี้ นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับโจทก์จึงเป็นลักษณะการจ้างแรงงานหาใช่จ้างทำของไม่ การที่จำเลยจ่ายค่าตอบแทนการทำงานให้โจทก์ตามผลงานที่ทำได้นั้นค่าตอบแทนดังกล่าวคงเป็นค่าจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 2

ย่อยาว

คดีทั้งสิบหกสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์สำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 และเรียกโจทก์สำนวนถัดไปว่าโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 16 ตามลำดับ โจทก์ทั้งสิบหกฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโอนกิจการให้เอกชนดำเนินการต่อ โดยในการเลิกจ้างนี้ จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์แล้ว แต่จำเลยไม่ได้นำเงินค่าครองชีพเดือนละ 400 บาท มารวมคำนวณด้วย จึงจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ขาดไปและจำเลยไม่จ่ายค่าครองชีพเดือนละ 400 บาท ให้โจทก์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2531 ถึงเดือนกันยายน 2531 รวม 5 เดือน เป็นค่าครองชีพค้างจ่ายคนละ 2,000 บาท อีกทั้งจำเลยยังจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย จึงขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างที่จ่ายต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายจำนวนตามฟ้องให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์แต่ละคนตามคำขอท้ายฟ้อง จำเลยทั้งสิบหกสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสิบหกไม่ใช่ลูกจ้างประจำของจำเลย แต่เป็นผู้รับจ้างทำของ โดยโจทก์แต่ละคนจะได้ค่าจ้างคำนวณตามผลงานที่ทำได้ในแต่ละวัน จำเลยไม่เคยจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยและไม่มีสิทธิได้ค่าครองชีพจากจำเลย ขอให้ยกฟ้องโจทก์ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสิบหกเป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยยังค้างจ่ายค่าครองชีพให้โจทก์คนละ 5 เดือนเดือนละ 400 บาท เป็นเงินคนละ 2,000 บาท สำหรับค่าชดเชยจำเลยต้องรับผิดชอบจ่ายส่วนที่ขาดให้โจทก์อีกคนละ 2,400 บาท พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 16 คนละ 4,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน จำเลยทั้งสิบหกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่าในการปฏิบัติงานระหว่างโจทก์ทุกคนกับจำเลย นอกจากจำเลยจะจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทุกคนตามผลงานดังที่จำเลยอุทธรณ์มาแล้ว ข้อเท็จจริงยังได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาด้วยว่า โจทก์ทุกคนต้องมาทำงานตามวันเวลาที่จำเลยกำหนดกล่าวคือใน 1 สัปดาห์ ต้องมาทำงานตั้งแต่วันจันทร์ถึงศุกร์ เริ่มทำงานเวลา 8 นาฬิกา เลิกเวลา17 นาฬิกา พักเวลา 12-13 นาฬิกา การมาทำงานต้องลงเวลามาทำงานหากไม่มาทำงานต้องยื่นใบลา ถ้าฝ่าฝืนจำเลยสามารถลงโทษได้จึงเห็นได้ว่าจำเลยเป็นผู้มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์ทุกคนในการทำงานโดยจำเลยสามารถสั่งให้มาทำงานตามวันและเวลาที่กำหนดไว้ หากโจทก์คนใดไม่ปฏิบัติตามจำเลยก็สามารถลงโทษได้ ทั้งตามวันเวลาที่กำหนดให้โจทก์ทุกคนทำงานก็ได้กำหนดไว้เป็นการแน่นอน และโจทก์ทุกคนต้องมาทำงาน ณ สถานที่ที่จำเลยกำหนดไว้ มิใช่ว่าโจทก์ทุกคนมีอิสระจะมาทำงานหรือไปทำที่ใดก็ได้ นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับโจทก์ทุกคนจึงเป็นลักษณะการจ้างแรงงานอย่างแจ้งชัด หาใช่สัญญาจ้างทำของดังที่จำเลยเข้าใจไม่ ส่วนการที่จำเลยจ่ายค่าตอบแทนการทำงานให้โจทก์ทุกคนตามผลงานที่ทำได้เป็นหลักนั้น ค่าตอบแทนดังกล่าวก็คงถือว่าเป็นค่าจ้างอยู่นั่นเอง เพราะตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 คำว่า”ค่าจ้าง” หมายความว่าเงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ ลำพังการที่จำเลยจ่ายค่าตอบแทนการทำงานให้โจทก์ทุกคนโดยคำนวณตามผลของงานหาทำให้นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับโจทก์ทุกคนกลายเป็นสัญญาจ้างทำของไปไม่ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าจำเลยเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสิบหกศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 13 ถึงที่ 16 โดยที่โจทก์ที่ 13 ถึงที่ 16 มิได้มีคำขอ เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 52 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ที่ 13ถึงที่ 16 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share