คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1912/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การขนส่งสินค้าพิพาทเป็นการขนส่งระบบ ซีวาย/ซีวาย (CY/CY)ซึ่งผู้ส่งรับตู้สินค้าไปบรรจุ ตรวจนับสินค้าเข้าตู้ ผนึกดวงตราที่บานประตูตู้สินค้าและส่งมอบตู้สินค้าแก่ผู้ขนส่ง ณ ลานวางตู้สินค้าโดยผู้ขนส่งมิได้เกี่ยวข้องกับการบรรจุและตรวจนับสินค้าเข้าตู้สินค้า คงมีหน้าที่ขนส่งตู้สินค้าซึ่งบรรจุสินค้าโดยผู้ส่งมายังจุดหมายปลายทางคือท่าเรือกรุงเทพตามที่ตกลงกันดังระบุไว้ในใบตราส่ง และส่งมอบตู้สินค้าที่ขนส่งให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 3 ณ ลานพักสินค้าของจำเลยที่ 3เพื่อให้โจทก์ผู้นำเข้าทำพิธีการทางศุลกากรและดำเนินพิธีการออกสินค้าต่อไป ดังนี้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งไม่มีหน้าที่ที่จะต้องนำสินค้าที่ขนส่งไปมอบให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งแต่เป็นหน้าที่ของโจทก์ผู้รับตราส่งที่จะต้องมารับสินค้าดำเนินพิธีการทางศุลกากรและนำสินค้าออกจากท่าเรือของจำเลยที่ 3 รวมทั้งชำระค่าธรรมเนียมการดูแลสินค้าของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนเรือของจำเลยที่ 1และเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ได้นำตู้สินค้าพิพาทไปเก็บไว้ที่ลายพักสินค้าหน้าโรงพักสินค้าของจำเลยที่ 3 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1ผู้ขนส่งได้มอบตู้สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 3 แล้วแม้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ตัวแทนเรือจะมิได้ปฏิบัติตามประกาศของจำเลยที่ 3 เรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับการส่งมอบและรับมอบตู้สินค้าที่ขนถ่ายจากเรือเดินทะเลต่างประเทศโดยมิได้มอบตู้สินค้าให้แผนกโรงพักสินค้าเป็นลายลักษณ์อักษรและมิได้ใส่กุญแจให้มั่นคงแข็งแรงก็ตาม แต่เมื่อตามพฤติการณ์ที่เป็นจริงและที่ปฏิบัติต่อกันถือว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มอบตู้สินค้าพิพาทให้จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ได้รับตู้สินค้าพิพาทไว้ในความดูแลของจำเลยที่ 3 แล้ว ซึ่งโจทก์ผู้นำเข้าต้องขออนุญาตนำสินค้าบุหรี่ออกจากท่าเรือของจำเลยที่ 3 ต่อไปดังนี้ตู้สินค้าและสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าจึงไม่ใช่ยังอยู่ในความครอบครองดูแลของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และถือว่าจำเลยที่ 1ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาขนส่งสินค้าทางทะเลที่ทำไว้ระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งกับผู้ส่ง ตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งครบถ้วนแล้วหน้าที่การขนส่งสินค้าพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลง แม้ต่อมาสินค้าจะสูญหายไป จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งก็ไม่ต้องรับผิดชอบเนื่องจากสินค้ามิได้สูญหายไปในระหว่างการขนส่งของผู้ขนส่งตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และมิใช่กรณีที่จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 623 มาปรับใช้ให้จำเลยที่ 1รับผิดเพราะมาตรา 623 เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในการสูญหายของสินค้าที่รับขนส่งเสียก่อน และเมื่อโจทก์ผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าไปโดยไม่อิดเอื้อน ความรับผิดของผู้ขนส่งที่เกิดขึ้นแล้วจึงสิ้นสุดลง สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนเรือและโจทก์ฟ้องให้รับผิดในฐานะเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้าย เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเช่นกัน การที่จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งนำตู้สินค้าขนถ่ายลงจากเรือแล้วนำมาเก็บไว้ที่ลายโรงพักสินค้าภายในอาณาบริเวณท่าเรือของจำเลยที่ 3 เป็นวิธีการที่ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของจำเลยที่ 3และของเจ้าพนักงานศุลกากร และจำเลยที่ 3 ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของตู้สินค้าดังกล่าวซึ่งรวมถึงสินค้าที่บรรจุอยู่ในตู้สินค้านั้นด้วย จนกว่าจะมีการนำตู้สินค้าหรือสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าออกไปจากท่าเรือของจำเลยที่ 3 และการนำตู้สินค้าหรือสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าออกจากอาณาบริเวณท่าเรือของจำเลยที่ 3 ต้องได้รับอนุญาตและตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ท่าเรือของจำเลยที่ 3 ก่อน รวมทั้งจำเลยที่ 3 เรียกเก็บค่าภาระซึ่งหมายถึงค่าฝากสินค้าจากโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสินค้า และโจทก์ต้องชำระก่อนนำตู้สินค้าหรือสินค้าออกจากท่าเรือของจำเลยที่ 3ซึ่งในกรณีคดีนี้จำเลยที่ 3 ก็ได้เรียกเก็บค่าภาระ จากโจทก์และโจทก์ได้ชำระให้แก่จำเลยที่ 3 ไปแล้ว ต้องถือว่าตู้สินค้าที่เก็บไว้ที่ลานพักสินค้าในอาณาบริเวณท่าเรือของจำเลยที่ 3อยู่ในความควบคุมดูแลและรับผิดชอบของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3จึงมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ตู้สินค้า รวมทั้งสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าซึ่งนำมาเก็บรักษาไว้ในอาณาบริเวณท่าเรือของจำเลยที่ 3 ตู้สินค้าหรือสินค้าที่บรรจุในตู้อาจจะไม่ได้รับความปลอดภัยก็เป็นภาระหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ที่จะหามาตรการที่เหมาะสมมาดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้เกิดการสูญหายหรือเสียหายแก่ตู้สินค้าหรือสินค้าที่บรรจุอยู่ในตู้สินค้านั้นเอง ดังนั้นเมื่อสินค้าบุหรี่พิพาทที่บรรจุในตู้สินค้าที่จำเลยที่ 3 รับควบคุมดูแลรักษาสูญหายไป เพราะถูกโจรกรรมและจำนวนสินค้าบุหรี่ที่สูญหายไปมีจำนวนมาก ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่สินค้าบุหรี่ของโจทก์จะถูกโจรกรรมไปเป็นจำนวนมากเช่นนี้ แสดงว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ที่ทำหน้าที่ดูแลควบคุมความปลอดภัยของตู้สินค้าและสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าละเลยต่อหน้าที่มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการดูแลรักษา อันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมสินค้าและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้สินค้าของโจทก์ถูกโจรกรรมไปถือได้ว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมดูแลความปลอดภัยของตู้สินค้าและสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้านั้นด้วยความประมาทเลินเล่อ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสินค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในการที่สินค้าบุหรี่ของโจทก์สูญหายไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 ที่จำเลยที่ 3 นำสืบว่ามีพนักงานของจำเลยที่ 2 ช่วยดูแลความปลอดภัยของตู้สินค้าด้วยก็มิอาจปัดความรับผิดชอบของจำเลยที่ 3 ที่มีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของผู้รับสินค้าและสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าให้พ้นไปได้ ดังนี้จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 สำหรับค่าขาดกำไรที่โจทก์เรียกร้อง โดยคำนวณจากราคาสินค้าที่ขายหักด้วยจำตนวนต้นทุนสินค้า ได้ความว่าโจทก์ขาดกำไรไปตามจำนวนที่ฟ้องและนำสืบจริง แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้เรียกร้องราคาสินค้าที่สูญหายไปซึ่งเป็นราคาของสินค้าในขณะที่มาถึงท่าเรือกรุงเทพแต่โจทก์เรียกกำไรที่ได้จากการขายสินค้าดังกล่าว ดังนั้นจึงต้องนำค่าใช้จ่ายอย่างอื่น ซึ่งโดยปกติย่อมเกิดขึ้นจากการจำหน่ายสินค้ามาพิจารณาประกอบด้วย และเมื่อคู่ความมิได้มีการนำสืบถึงค่าใช้จ่ายอย่างอื่นในข้อนี้ให้รับฟังได้ ศาลจึงมีอำนาจกำหนดตามที่เห็นสมควร หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิดและในมาตรา 224 ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยในหนี้เงินในระหว่างผิดนัดไว้ร้อยละ 7.5 ต่อปี โจทก์จึงชอบที่จะเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเท่านั้น ที่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราที่โจทก์ต้องชำระให้แก่ธนาคารอันเป็นอัตราที่สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น เมื่อโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระราคาสินค้าบุหรี่ที่โจทก์ซื้ออยู่แล้ว ดังนั้นดอกเบี้ยที่โจทก์ต้องเสียแก่ธนาคารในเงินที่โจทก์ต้องรับผิดต่อธนาคารที่ได้ชำระราคาสินค้าบุหรี่ไป จึงมิใช่เหตุโดยตรงจาก การ กระทำละเมิดที่โจทก์จะเรียกเอาจากจำเลยที่ 3 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้เงิน3,736,926.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปีจากต้นเงิน 3,319,732 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ยังไม่ได้รับมอบตู้สินค้าพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ความรับผิดจึงตกอยู่แก่จำเลยที่ 1และที่ 2 ในฐานะผู้รับขน ความเสียหายของโจทก์เมื่อรวมกับส่วนกำไรแล้วไม่เกิน 1,500,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้โดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันว่า เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2532 โจทก์ได้สั่งซื้อบุหรี่ต่างประเทศยี่ห้อต่าง ๆ จากบริษัทธงฮวด (อิมเปร์ตแอนด์เอ็กซ์ปอร์ต) พีร์ จำกัดประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ จำนวน 390 หีบ เป็นเงินทั้งสิ้น237,450 ดอลลาร์สิงคโปร์ โดยโจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตผ่านธนาคารทหารไทย จำกัด เพื่อชำระราคาสินค้าให้แก่บริษัทธงฮวด (อิมปอร์ตแอนด์เอ็กซ์ปอร์ต) พีร์ จำกัด ผู้ขายในราคารวมค่าขนส่งทางทะเลและค่าประกันภัยเป็นเงิน 239,450 ดอลลาร์สิงคโปร์บริษัทธงฮวด(อิมปอร์ตแอนด์เอ็กซ์ปอร์ต) พีร์ จำกัด ผู้ขายได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าบุหรี่ดังกล่าวจากประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์เพื่อส่งมอบแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งในประเทศไทย การขนส่งสินค้าบุหรี่ดังกล่าว จำเลยที่ 1ได้ออกใบตราส่งตามเอกสารหมาย จซ.10 ระบุว่าเป็นการขนส่งในระบบ ซีวาย/ซีวาย (CY/CY) และระบุในใบตราส่งอีกว่าผู้ส่งเป็นผู้บรรจุ นับและผนึกเอง (SHIPPER’S LOAD AND COUNCONTAINER (S) SEALED BY SHIPPERS) ซึ่งการขนส่งในระบบดังกล่าวนี้ผู้ขายจะต้องมารับตู้สินค้าจากผู้ขนส่งด้วยตนเองจากนั้นจะบรรจุสินค้าตรวจนับและเป็นผู้ปิดผนึกดวงตราที่บานประตูตู้สินค้าแล้วจัดทำรายการสินค้าส่งมอบให้แก่ผู้ขนส่งพร้อมตู้สินค้าบริษัทธงฮวด (อิมปอร์ตแอนด์เอ็กซ์ปอร์ต) พีร์ จำกัดผู้ขาย ได้บรรจุสินค้าบุหรี่จำนวนตามที่โจทก์สั่งซื้อในตู้สินค้าหมายเลขที่ทีซีเอสยู 2622624 เอเอ 57954 ภายใต้การตรวจสอบของศุลกากรประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ และบริษัทธงฮวด (อิมปอร์ตแอนด์เอ็กซ์ปอร์ต) พีร์ จำกัด ผู้ส่งได้ปิดผนึกดวงตราที่บานประตูตู้สินค้าและส่งมอบตู้สินค้าแก่จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง ณ ลายวางตู้สินค้าของจำเลยที่ 1 ที่ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม 2532จำเลยที่ 1 ได้ขนส่งตู้สินค้าดังกล่าวโดยเรือ “ศิริภูมิ” มาถึงท่าเรือกรุงเทพประเทศไทย และในวันที่ 14 ธันวาคม 2532ได้มีการขนถ่ายตู้สินค้าขึ้นจากเรือและตรวจสอบร่วมกันระหว่างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนเรือของจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานศุลกากรและเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ตู้สินค้าพิพาทอยู่ในสภาพเรียบร้อยจึงลากไปวางที่ลานพักสินค้าหน้าโรงพักสินค้าที่ 8 และร่วมกันตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเห็นว่าดวงตราผนึกที่บานประตูตู้สินค้าพิพาทอยู่ในสภาพเรียบร้อยไม่ถูกทำลายหรือแกะออก เจ้าพนักงานศุลกากรจึงผนึกดวงตราศุลกากรกำกับไว้ที่บานประตูตู้สินค้าอีกอันหนึ่ง วันที่ 1 มีนาคม 2533 เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3พบว่าดวงตราผนึกของบริษัทธงฮวด (อิมปอร์ตแอนด์เอ็กซ์ปอร์ต) พีร์ จำกัด ผู้ขายและของเจ้าพนักงานศุลกากรที่บานประตูตู้สินค้าพิพาทขาดหายไปทั้งสองอัน จำเลยที่ 2 ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจท่าเรือ หลังจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานศุลกากรจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันเปิดตู้สินค้าพิพาท พบว่าบุหรี่ของโจทก์สูญหายไป 262 หีบ คงเหลืออยู่เพียง 128 หีบ ต่อมาโจทก์ได้ชำระค่าภาระแก่จำเลยที่ 3 และนำสินค้าที่เหลือออกไปจากท่าเรือกรุงเทพของจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2533
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสามจะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในสินค้าบุหรี่ที่สูญหายไปจำนวน 262 หีบ ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดในฐานะเป็นผู้ขนส่งและให้จำเลยที่ 3รับผิดในมูลละเมิดนั้น ตามข้อเท็จจริงและจากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยทั้งสามนำสืบดังกล่าวรับฟังได้ว่า การขนส่งสินค้าพิพาทรายนี้เป็นการขนส่งระบบ ซีวาย/ซีวาย (CY/CY) ซึ่งผู้ส่งรับตู้สินค้าไปบรรจุ ตรวจนับสินค้าเข้าตู้ผนึกดวงตราที่บานประตูตู้สินค้าและส่งมอบตู้สินค้าแก่ผู้ขนส่ง ณ ลานวางตู้สินค้าโดยผู้ขนส่งมิได้เกี่ยวข้องกับการบรรจุและตรวจนับสินค้าเข้าตู้สินค้า คงมีหน้าที่ขนส่งตู้สินค้าซึ่งบรรจุสินค้าโดยผู้ส่งมายังจุดหมายปลายทางคือท่าเรือกรุงเทพตามที่ตกลงกันดังระบุไว้ในใบตราส่งเอกสารหมายจ.10 และส่งมอบตู้สินค้าที่ขนส่งให้แก่จำเลยที่ 3 ณ ลานพักสินค้าของจำเลยที่ 3 เพื่อให้โจทก์ผู้นำเข้าทำพิธีการทางศุลกากรและดำเนินพิธีการออกสินค้าต่อไป ดังนี้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1ผู้ขนส่งไม่มีหน้าที่ที่จะต้องนำสินค้าที่ขนส่งไปมอบให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่ง แต่เป็นหน้าที่ของโจทก์ผู้รับตราส่งที่จะต้องมารับสินค้า ดำเนินพิธีการทางศุลกากรและนำสินค้าออกจากท่าเรือของจำเลยที่ 3 รวมทั้งชำระค่าธรรมเนียมการดูแลสินค้าของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนเรือของจำเลยที่ 1 และเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ได้นำตู้สินค้าพิพาทไปเก็บไว้ที่ลานพักสินค้าหน้าโรงพักสินค้าที่ 8 ของจำเลยที่ 3จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งได้มอบตู้สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 3 แล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าจำเลยที่ 2 ตัวแทนเรือจะมิได้ปฏิบัติตามประกาศของจำเลยที่ 3 เรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับการส่งมอบและรับมอบตู้สินค้าที่ขนถ่ายจากเรือเดินทะเลต่างประเทศเอกสารหมาย ล.1 โดยมิได้มอบตู้สินค้าให้แผนกโรงพักสินค้าเป็นลายลักษณ์อักษรและมิได้ใส่กุญแจให้มั่นคงแข็งแรงก็ตาม แต่เมื่อตามพฤติการณ์ที่เป็นจริงและที่ปฏิบัติต่อกันถือว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มอบตู้สินค้าพิพาทให้จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ได้รับตู้สินค้าพิพาทไว้ในความดูแลของจำเลยที่ 3 แล้วซึ่งโจทก์ผู้นำเข้าต้องขออนุญาตนำสินค้าบุหรี่ออกจากท่าเรือของจำเลยที่ 3 ต่อไป ตู้สินค้าและสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าจึงหาใช่ยังอยู่ในความครอบครองดูแลของจำเลยที่ 1และที่ 2 ดังที่โจทก์ฎีกาไม่และถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาขนส่งสินค้าทางทะเลที่ทำไว้ระหว่างจำเลยที่ 1ผู้ขนส่งกับบริษัทธงฮวด (อิมปอร์ตแอนด์เอ็กซ์ปอร์ต) พีร์ จำกัดผู้ส่งตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งเอกสารหมาย จ.10 ครบถ้วนแล้ว หน้าที่การขนส่งสินค้าพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลง แม้ต่อมาสินค้าจะสูญหายไป จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เนื่องจากสินค้ามิได้สูญหายไปในระหว่างการขนส่งของผู้ขนส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และมิใช่กรณีที่จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 623 มาปรับใช้ให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามที่โจทก์ฎีกาอีกเช่นกัน เพราะมาตรา 623 เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในการสูญหายของสินค้าที่รับขนส่งเสียก่อน และเมื่อโจทก์ฟ้องให้รับผิดในฐานะเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายเมื่อจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดแล้วจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเช่นกัน
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ไม่มีสิทธิออกระเบียบจำกัดความรับผิด และโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ตกลงด้วยตู้สินค้าอยู่ในเขตท่าเรือของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 เรียกเก็บค่าภาระในการใช้ท่าเรือและค่าบริการ จึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบดูแลสินค้า เมื่อจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อ มิได้ใช้ความระมัดระวังในการควบคุมและรักษาความปลอดภัยของสินค้าที่เข้ามาอยู่ในอาณาบริเวณท่าเรือของจำเลยที่ 3 เป็นเหตุให้สินค้าของโจทก์สูญหาย จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชอบในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 3 ในปัญหาดังกล่าวตามคำให้การของจำเลยที่ 3แสดงว่าจำเลยที่ 3 มีอำนาจและหน้าที่ที่จะต้องดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยในกิจการท่าเรือของจำเลยที่ 3 และได้ความว่าเมื่อมีการขนถ่ายตู้สินค้าลงจากเรือสินค้าแล้วก็จะต้องนำมาเก็บไว้ที่ลายพักสินค้าซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณท่าเรือของจำเลยที่ 3เพื่อดำเนินพิธีการทางศุลกากรและพิธีการนำสินค้าออกจากท่าเรือต่อไป และตู้สินค้าดังกล่าวนี้จะมีการตรวจสอบร่วมกันระหว่างตัวแทนเจ้าของเรือหรือผู้ขนส่งกับเจ้าพนักงานศุลกากรและเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 โดยตรวจดูความเรียบร้อยของผนึกปิดตู้สินค้าแล้วเจ้าพนักงานศุลกากรจะผนึกปิดตู้สินค้าอีก และหากยังมิได้มีการนำตู้สินค้าหรือสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าออกไปจากท่าเรือตู้สินค้าดังกล่าวจะคงอยู่ที่ลานพักสินค้านั้นหากจะมีการนำตู้สินค้าออกจากอาณาบริเวณท่าเรือของจำเลยที่ 3หรือเคลื่อนย้ายไปไว้ยังสถานที่อื่นก็จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ท่าเรือของจำเลยที่ 3 ก่อนและในการที่จะนำสินค้าในตู้สินค้าออกจากอาณาบริเวณท่าเรือของจำเลยที่ 3 ได้จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ท่าเรือของจำเลยที่ 3 ก่อน โดยดำเนินพิธีการทางศุลกากรด้วย นอกจากนี้ในการนำสินค้าออกจากอาณาบริเวณท่าเรือของจำเลยที่ 3 ยังต้องมีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรและเจ้าหน้าที่ท่าเรือของจำเลยที่ 3 ที่ประตูทางเข้าออกและในขณะที่ตู้สินค้าอยู่ที่บริเวณลานพักสินค้า จำเลยที่ 3ได้จัดให้มีพนักงานสินค้านอกคลังและพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 3 ดูแลตู้สินค้าที่เก็บไว้นอกโรงพักสินค้านั้นนอกจากนี้ในการที่ตู้สินค้ายังอยู่ที่บริเวณลานพักสินค้า มิได้นำออกไปนอกอาณาบริเวณท่าเรือของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ได้เรียกเก็บค่าภาระซึ่งตามคำเบิกความของนายอนันต์หมายถึงค่าฝากเก็บซึ่งโจทก์ผู้นำเข้าต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 3 และโจทก์ก็ได้ชำระและนำสินค้าบุหรี่ที่เหลือออกไปแล้วตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนว่าการที่จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งนำตู้สินค้าขนถ่ายลงจากเรือแล้วนำมาเก็บไว้ที่ลายโรงพักสินค้าภายในอาณาบริเวณท่าเรือของจำเลยที่ 3 เป็นวิธีการที่ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของจำเลยที่ 3 และของเจ้าพนักงานศุลกากรและจำเลยที่ 3 ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของตู้สินค้าดังกล่าวซึ่งรวมถึงสินค้าที่บรรจุอยู่ในตู้สินค้านั้นด้วย จนกว่าจะมีการนำตู้สินค้าหรือสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าออกไปจากท่าเรือของจำเลยที่ 3และการนำตู้สินค้าหรือสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าออกจากอาณาบริเวณท่าเรือของจำเลยที่ 3 ต้องได้รับอนุญาตและตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ท่าเรือของจำเลยที่ 3 ก่อน รวมทั้งจำเลยที่ 3 เรียกเก็บค่าภาระซึ่งหมายถึงค่าฝากสินค้าจากโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสินค้าและโจทก์ต้องชำระก่อนนำตู้สินค้าหรือสินค้าออกจากท่าเรือของจำเลยที่ 2 ซึ่งในกรณีคดีนี้จำเลยที่ 3 ก็ได้เรียกเก็บค่าภาระรวมจำนวน 278 วัน จากโจทก์และโจทก์ได้ชำระให้แก่จำเลยที่ 3ไปแล้ว ต้องถือว่าตู้สินค้าที่เก็บไว้ที่ลานพักสินค้าหน้าโรงพักสินค้าที่ 8 ในอาณาบริเวณท่าเรือของจำเลยที่ 3 อยู่ในความควบคุมดูแลและรับผิดชอบของจำเลยที่ 3 ดังนั้นจำเลยที่ 3 จึงมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ตู้สินค้า รวมทั้งสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าซึ่งนำมาเก็บรักษาไว้ ณ ลานพักสินค้าในอาณาบริเวณท่าเรือของจำเลยที่ 3 ทั้งตามข้อเท็จจริงจำเลยที่ 3 ก็ได้รับมอบตู้สินค้าพิพาทและเข้ารับดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ตู้สินค้าซึ่งรวมถึงสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าด้วย แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนเรือมิได้ปฏิบัติตามประกาศของจำเลยที่ 3เรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับการส่งมอบและรับมอบตู้สินค้าที่ขนถ่ายจากเรือเดินทะเลต่างประเทศเอกสารหมาย ล.1 โดยจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นตัวแทนเรือมิได้ส่งมอบตู้สินค้าให้แผนกโรงพักสินค้าเป็นลายลักษณ์อักษรและมิได้ใส่กุญแจให้มั่นคงแข็งแรง ซึ่งตามประกาศดังกล่าวจำเลยที่ 3 จะไม่รับผิดชอบในการเสียหายหรือสูญหายของสินค้าในตู้สินค้าที่มิได้ส่งมอบตามประกาศดังกล่าวก็ตามแต่ก็ได้ความว่า แม้ระเบียบจะกำหนดว่าการส่งมอบตู้บรรจุสินค้าจะต้องปิดกุญแจ แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่มีการกระทำเช่นนั้น แสดงว่าในทางปฏิบัติของจำเลยที่ 3 ก็มิได้ถือปฏิบัติตามระเบียบในประกาศเอกสารหมาย ล.1 โดยเคร่งครัดอย่างไรก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 3มีหน้าที่จะต้องดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ตู้สินค้าและสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าพิพาท และได้เข้ารับดูแลความปลอดภัยแก่ตู้สินค้าและสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าแล้วจำเลยที่ 3 จะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามประกาศของจำเลยที่ 3 เอกสารหมาย ล.1 ดังกล่าวมิได้ ทั้งประกาศดังกล่าวจำเลยที่ 3 ก็ออกแต่ฝ่ายเดียวโดยที่จำเลยที่ 1 ที่ 2และโจทก์มิได้ตกลงด้วยเมื่อจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของตู้สินค้าและสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าที่เก็บรักษาไว้ในบริเวณลานพักสินค้าในอาณาบริเวณท่าเรือของจำเลยที่ 3และเข้ารับดูแลควบคุมความปลอดภัยของสินค้าและตู้สินค้าดังกล่าวการที่จำเลยที่ 3 จะปัดความรับผิดโดยมอบภาระให้แก่เจ้าของสินค้าหรือผู้ขนส่งสินค้าย่อมไม่ชอบด้วยเหตุผลและความเป็นธรรมหากจำเลยที่ 3 เห็นว่าตู้สินค้าหรือสินค้าที่บรรจุในตู้อาจจะไม่ได้รับความปลอดภัยก็เป็นภาระหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ที่จะหามาตรการที่เหมาะสมมาดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้เกิดการสูญหายหรือเสียหายแก่ตู้สินค้าหรือสินค้าที่บรรจุอยู่ในตู้สินค้านั้นเอง ดังนั้นเมื่อสินค้าบุหรี่พิพาทที่บรรจุในตู้สินค้าที่จำเลยที่ 3 รับควบคุมดูแลรักษาสูญหายไปเป็นจำนวน 262 หีบ เพราะถูกโจรกรรมและจำนวนสินค้าบุหรี่ที่สูญหายไปมีจำนวนมากซึ่งตามคำเบิกความของนายอนันต์พยานจำเลยที่ 3 ก็ได้ความว่าต้องใช้รถบรรทุกของ2 คัน ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่สินค้าบุหรี่ของโจทก์จะถูกโจรกรรมไปเป็นจำนวนมากเช่นนี้ แสดงว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ที่ทำหน้าที่ดูแลควบคุมความปลอดภัยของตู้สินค้าและสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าละเลยต่อหน้าที่ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการดูแลรักษาอันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมสินค้าและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้สินค้าของโจทก์ถูกโจรกรรมไปถือได้ว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมดูแลความปลอดภัยของตู้สินค้าและสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้านั้นด้วยความประมาทเลินเล่อ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสินค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จำเลยที่ 3จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในการที่สินค้าบุหรี่ของโจทก์สูญหายไปเป็นจำนวน 262 หีบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76ที่จำเลยที่ 3 นำสืบว่ามีพนักงานของจำเลยที่ 2 ช่วยดูแลความปลอดภัยของตู้สินค้าด้วย ก็มิอาจปัดความรับผิดชอบของจำเลยที่ 3ที่มีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของผู้รับสินค้าและสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าให้พ้นไปได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นจำนวนเงินเท่าใด ในข้อนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายมา 3 ประการคือ ประการแรก ค่าบุหรี่ที่หายไปจำนวน252 หีบ เป็นเงิน 156,800 ดอลลาร์สิงคโปร์ คิดอัตราแลกเปลี่ยนในวันฟ้อง 14.73 บาท เป็นเงิน 2,309,664 บาท ประการที่สองโจทก์เรียกค่าขาดกำไรเป็นเงิน 1,010,068 บาท และในประการที่สาม โจทก์เรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2533 ซึ่งเป็นวันผิดนัดจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 178 วัน เป็นดอกเบี้ย 417,194.80 บาท เห็นว่า สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องในราคาบุหรี่ที่หายไปจำนวน 262 หีบ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สินค้าบุหรี่ของโจทก์ที่สูญหายไปจำนวน 262 หีบคิดเป็นเงิน 156,800 ดอลลาร์สิงคโปร์ คิดอัตราแลกเปลี่ยน1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ณ วันฟ้องเท่ากับ 14.73 บาท เท่าที่โจทก์ขอ คิดเป็นเงิน 2,309,664 บาท จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438สำหรับค่าขาดกำไรที่โจทก์เรียกร้องเป็นเงิน 1,010,068 บาท โดยคำนวณจากราคาสินค้าที่ขายหักด้วยจำนวนต้นทุนสินค้าได้ความว่าราคาขายของสินค้าสูญหายคิดเป็นจำนวนเงิน3,140,000 บาท ต้นทุนสินค้าที่สูญหายไปเป็นเงิน2,129,932 บาท เมื่อนำราคาขายสินค้าที่สูญหายลบด้วยต้นทุนสินค้าที่สูญหายคิดเป็นค่าขาดกำไรทั้งสิ้น 1,010,068 บาท เมื่อพิจารณาเอกสารหมาย จ.20 ซึ่งระบุต้นทุนสินค้าที่สูญหายกับราคาขายของสินค้าที่สูญหายไปแล้วเห็นว่าราคาที่กำหนดในเอกสารดังกล่าวเป็นราคาที่มีเหตุมีผลและจำเลยที่ 3 มิได้นำสืบโต้แย้ง จึงรับฟังได้ว่า โจทก์ขาดกำไรไปตามจำนวนที่ฟ้องและนำสืบจริง แต่ที่นางจันทนาพยานโจทก์เบิกความว่ากำไรดังกล่าวเป็นกำไรสุทธิซึ่งโจทก์ไม่ต้องนำค่าใช้จ่ายอย่างอื่นมาหักด้วยนั้น เห็นว่าโจทก์ไม่ได้เรียกร้องราคาสินค้าที่สูญหายไปซึ่งเป็นราคาของสินค้าในขณะที่มาถึงท่าเรือกรุงเทพ แต่โจทก์เรียกกำไรที่ได้จาก การขายสินค้าดังกล่าว ดังนั้นจึงต้องนำค่าใช้จ่ายอย่างอื่นซึ่งโดยปกติย่อมเกิดขึ้นจากการจำหน่ายสินค้ามาพิจารณาประกอบด้วย ที่นางจันทนาเบิกความว่า กำไรดังกล่าวเป็นกำไรสุทธิซึ่งโจทก์ไม่ต้องนำค่าใช้จ่ายอย่างอื่นเช่นเงินเดือนพนักงานมาหักออกและโจทก์ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างอื่นเพิ่มอีกก็เป็นคำเบิกความลอย ๆ มิได้แสดงเหตุผลว่าเหตุใดจึงมิได้มีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นและเมื่อคู่ความมิได้มีการนำสืบถึงค่าใช้จ่ายอย่างอื่นในข้อนี้ศาลมีอำนาจกำหนดตามที่เห็นสมควรโดยให้หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดจำหน่ายสินค้าบุหรี่เป็นเงิน 200,000 บาท ดังนั้น จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 810,068 บาท สำหรับค่าเสียหายประการสุดท้ายที่โจทก์เรียกร้องมาคือดอกเบี้ยที่โจทก์ขอคิดในอัตราร้อยละ16.5 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่โจทก์จะต้องชำระให้แก่ธนาคารหทารไทย จำกัด โดยคิดตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2533ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทราบว่าสินค้าสูญหายจนถึงวันฟ้อง เป็นเงินค่าดอกเบี้ยจำนวน 417,194.80 บาท เห็นว่า ในเรื่องละเมิดนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 บัญญัติว่าในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด และในมาตรา 224 ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยในหนี้เงินในระหว่างผิดนัดไว้ร้อยละ 7.5 ต่อปี โจทก์จึงชอบที่จะเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ที่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ16.5 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่โจทก์ต้องชำระให้แก่ธนาคารทหารไทยจำกัด อันเป็นอัตราที่สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น เห็นว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระราคาสินค้าบุหรี่ที่โจทก์ซื้อจากบริษัทธงฮวด (อิมปอร์ตแอนด์เอ็กซ์ปอร์ต) พีร์ จำกัดประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์อยู่แล้ว ดังนั้นดอกเบี้ยที่โจทก์ต้องเสียแก่ธนาคารทหารไทย จำกัดในเงินที่โจทก์ต้องรับผิดต่อธนาคารทหารไทย จำกัด ที่ได้ชำระราคาสินค้าบุหรี่ไปจึงมิใช่เหตุโดยตรงจากการกระทำละเมิดที่โจทก์จะเรียกเอาจากจำเลยที่ 3 ได้จึงให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2533หลังเกิดเหตุละเมิดซึ่งเป็นวันที่โจทก์เรียกร้องมาในฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 3,119,732 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2533จนกว่าจำเลยที่ 3 จะชำระเสร็จให้แก่โจทก์

Share