คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3834/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจระบุให้อำนาจ ช. มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์แม้จะมิได้ระบุตัวบุคคลที่จะให้ฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงช.ก็มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองแทนโจทก์ได้ ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยหาใช่ข้อกฎหมายอันถือเป็นเรื่องที่ศาลจะรับรู้เองได้ แต่เป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่คู่ความมีหน้าที่จะต้องนำสืบโจทก์ไม่นำสืบจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ถึงอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เกินกว่ากฎหมายกำหนดทั้งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะ อย่างไรก็ดีการที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ในกำหนด โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายชัยยุทธ ประชุมชน ฟ้องและดำเนินคดีแทน จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 200,000 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้โจทก์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวม 416,980.98 บาทกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นหากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินตามโฉนดเลขที่ 635พร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ หากยังไม่พอให้บังคับทรัพย์สินอื่นจนครบ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า นายชัญชา ล่ำซำ พ้นตำแหน่งประธานกรรมการโจทก์ก่อนฟ้อง และหนังสือมอบอำนาจให้นายชัยยุทธ ประชุมชนฟ้องคดีแทนเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไป นายชัยยุทธจึงไม่มีอำนาจฟ้องสัญญากู้เงินตามฟ้องเป็นนิติกรรมอำพรางซึ่งเกิดจากการฉ้อฉลของโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินกู้ 200,000 บาท แต่อย่างใดการกู้เงินเพื่อการเกษตรโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น แต่โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นร้อยละ18 ต่อปี ทั้งการคิดดอกเบี้ยของโจทก์มีระยะเวลาเกินกว่า 5 ปีขาดอายุความ ฉะนั้นหากฟังว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในเงินกู้200,000 บาท จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในระยะเวลา 5 ปี เป็นจำนวนดอกเบี้ย 75,000 บาทเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์และไม่เคยทำสัญญาจำนองที่ดินตามฟ้องเพื่อค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ดอกเบี้ยทั้งหมดจึงตกเป็นโมฆะหากจะฟังว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดก็รับผิดไม่เกิน 200,000 บาทเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ดังกล่าวให้ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 635 ตำบลลำนารายณ์ (บัวชุม)อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดเพื่อนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ ถ้ายังไม่พอชำระหนี้ก็ให้บังคับทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองต่อไปจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า หนังสือมอบอำนาจที่นายบัญชา ล่ำซำ มอบอำนาจให้นายชัยยุทธ ประชุมชน ตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นการสมบูรณ์และนายชัยยุทธมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ โจทก์นำสืบว่า นายบัญชาเป็นประธานกรรมการมีอำนาจลงชื่อและประทับตราสำคัญแทนโจทก์ได้ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 และนายบัญชาได้ทำหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบหักล้างแต่อย่างใด หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 จึงสมบูรณ์ เมื่อหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ระบุให้อำนาจนายชัยยุทธมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ แม้จะมิได้ระบุตัวบุคคลที่จะให้ฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจง นายชัยยุทธก็มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองแทนโจทก์ได้เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายชัยยุทธจริงแต่อ้างว่าขณะฟ้องคดีนายบัญชาพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการของโจทก์แล้ว เท่ากับรับว่ามีการทำหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2จริง ศาลย่อมรับฟังเอกสารดังกล่าวนั้นได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าหนังสือมอบอำนาจนี้จะปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนหรือไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น…
คดีมีปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 และตามสัญญากู้ระบุให้ดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปีโจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 15ต่อปีได้ เห็นว่า ปัญหาที่ว่าโจทก์มีสิทธิพิเศษอย่างไรจึงเรียกดอกเบี้ยได้เกินไปจากอัตราปกติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์หาได้อ้างอิงหลักฐานมาสืบแสดงให้ปรากฏไม่ ดังนั้น แม้จะมีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราดังกล่าวตามที่โจทก์ฎีกาก็ตาม ประกาศดังกล่าวก็หาใช่ข้อกฎหมายอันถือเป็นเรื่องที่ศาลจะรับรู้เองได้ แต่เป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่คู่ความมีหน้าที่จะต้องนำสืบ เมื่อทางพิจารณาโจทก์ไม่สืบแสดงให้ความข้อนี้ปรากฏ ทั้งมิใช่เป็นข้อเท็จจริงที่ศาลรับรู้ได้เองเช่นนี้ คดีจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ถึงอัตราร้อยละ 18 ต่อปี อันเกินไปจากอัตราปกติตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยระหว่างโจทก์จำเลยจึงตกเป็นโมฆะอย่างไรก็ดีการที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ในกำหนด โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในระหว่างผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว สรุปแล้วฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share