คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3822/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้คดีนี้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาแต่ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์ที่มาศาลเป็นฝ่ายชนะคดีได้ก็ต่อเมื่อข้ออ้างของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย โดยศาลอาจสืบพยานตามที่เห็นจำเป็นเกี่ยวกับข้ออ้างของโจทก์ และจะยกขึ้นอ้างโดยลำพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 205 วรรคแรก ประกอบด้วยพ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17ดังนั้น เมื่อศาลภาษีอากรพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี จำเลยย่อมอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลภาษีอากรว่าข้ออ้างของโจทก์ทั้งสองไม่มีมูลให้ชนะคดีได้ ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากร ฯ มาตรา 24 ประกอบมาตรา 29
ปัญหาเรื่องฟ้องเคลือบคลุมเป็นประเด็นที่จำเลยจะต้องให้การไว้ คดีนี้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ประเด็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุมจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 1 ถูกยกเลิกบัตรส่งเสริมการลงทุน เพราะจำเลยที่ 1เลิกกิจการ มิใช่ถูกคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์ที่ได้รับตามบัตรส่งเสริมอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดไว้ในบัตรส่งเสริมดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 54 แห่งพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2522 ซึ่งจะทำให้ผู้ได้รับการส่งเสริมจะต้องเสียภาษีอากรโดยถือสภาพของของ ราคาและอัตราภาษีที่เป็นอยู่ในวันนำเข้าเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีอากร ตามมาตรา 55 วรรคแรก
ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ฯ มาตรา 56 วรรคหนึ่งได้บัญญัติเรื่องผู้ได้รับการส่งเสริมเลิกกิจการ รวมกิจการกับผู้อื่น หรือโอนกิจการให้แก่ผู้อื่น ให้บัตรส่งเสริมนั้นใช้ได้ต่อไปอีกไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันเลิก รวมหรือโอนกิจการ ส่วนวรรคสองเป็นเรื่องที่ผู้ซึ่งดำเนินกิจการที่ร่วมกันขึ้นใหม่ หรือโอนกิจการ ประสงค์จะขอรับช่วงดำเนินกิจการที่ได้รับการส่งเสริมตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในบัตรส่งเสริมต่อไป ก็ให้ยื่นคำขอรับการส่งเสริมภายในเวลาที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าไม่สมควรให้การส่งเสริม ก็ให้สั่งให้เพิกถอนสิทธิและประโยชน์ทั้งหมด ดังนี้ ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า ตามมาตรา 56 วรรคสองมิได้บัญญัติถึงเรื่องการเลิกกิจการ อันจะถือเท่ากับว่าสิทธิและประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมถูกเพิกถอนแล้วไม่
ปัญหาเรื่องบัตรส่งเสริมถูกยกเลิกเพราะมีการเลิกกิจการสิทธิและประโยชน์ที่ผู้ได้รับการส่งเสริมเคยได้รับโดยเฉพาะเรื่องภาษีอากรนี้จะเรียกเก็บอย่างไร มิได้มีบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ฯ จึงต้องบังคับตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2503 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ก. (ฉบับที่ 45) พ.ศ.2528 มิใช่บังคับตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราภาษีศุลกากร พ.ศ.2530 เพราะจำเลยที่ 1 เลิกกิจการและสำนักงานส่งเสริมการลงทุน ประกาศยกเลิกบัตรส่งเสริมของจำเลยที่ 1 ก่อนที่ พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 จะมีผลใช้บังคับ
ตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2503 มาตรา 10วรรคหนึ่ง ของนำเข้าใดเคยได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากร ถ้าสิทธิที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนสิ้นสุดลง ของนั้นจะต้องเสียอากรโดยถือสภาพของของ ราคาและอัตราอากรที่เป็นอยู่ในวันที่สิทธิดังกล่าวสิ้นสุดลงเป็นเกณฑ์ในการคำนวณอากรโดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรต้องไปดำเนินการเพื่อชำระอากรตามที่กำหนดไว้ ส่วนในช่วงก่อนที่สิทธิที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรจะสิ้นสุดลง ผู้นั้นก็ได้รับสิทธิและประโยชน์ต่อไป และน่ายังถือว่าเป็นสิทธิและประโยชน์ที่ได้รับไปแล้ว หากผู้นำของเข้าหมดสิทธิที่จะได้รับสิทธิและประโยชน์ต่อไปมิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้น คือ มิได้ดำเนินการเพื่อชำระอากรดังกล่าว ก็ให้ถือว่าของนั้นได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้เสียอากรถูกต้อง อันอาจถูกพนักงานศุลกากรกักยึดเพื่อประเมินเรียกเก็บภาษีอากร รวมทั้งต้องเสียเงินเพิ่มตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา เท่านั้น แต่ก็ยังต้องถือว่าเป็นของที่ต้องเสียภาษีอากรโดยทั้งสภาพของของ ราคา และอัตราอากรที่เป็นอยู่ในวันที่สิทธิได้รับยกเว้นอากรสิ้นสุดลงตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2503 อยู่ หาได้หมายความว่า เมื่อผู้นำของเข้ามิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้นแล้ว ให้ถือว่าของนั้นได้นำเข้าโดยยังมิได้เสียอากรถูกต้องตามสภาพของของ ราคา และอัตราอากรที่เป็นอยู่ในวันที่นำเข้าไม่
หลังจากจำเลยได้รับแจ้งประเมินให้เสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแล้ว จำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยจึงหมดสิทธิที่จะขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล ซึ่งรวมถึงหมดสิทธิที่จะฟ้องหรือยกขึ้นต่อสู้ในชั้นศาลว่าการประเมินดังกล่าวมิชอบด้วย

Share