แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้เอกสารท้ายฟ้องจะถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็ตาม แต่ข้อความเอกสารท้ายฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับ ร.เป็นเพียงอุทธรณ์เพิ่มเติมขอรับความเป็นธรรมกรณีโจทก์ถูกตัดโควตา ก.เท่านั้น เมื่อคำฟ้องโจทก์บรรยายแต่เพียงว่าองค์ประชุมไม่ครบเพราะ ส.ลาออกจากการเป็นกรรมการไปแล้ว โจทก์ย่อมไม่อาจขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาสำหรับ ร.ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงนอกฟ้อง
ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 มาตรา58 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้ได้รับคำสั่งของคณะกรรมการบริหารตามวรรคหนึ่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่ง” แต่ตามคำฟ้องของโจทก์และเอกสารท้ายฟ้องปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 6 ในฐานะประธานกรรมการบริหารหาได้แจ้งคำสั่งให้โจทก์ทั้งสามทราบไม่จำเลยที่ 6 เพียงแต่มีหนังสือเอกสารท้ายฟ้องแจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารต่อนายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาลให้ทราบว่า คณะกรรมการบริหารได้พิจารณาคำขออุทธรณ์ของสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวแล้ว มีมติเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการน้ำตาลทราย และให้นำเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายพิจารณาต่อไปเท่านั้น เห็นได้ว่าเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าว เป็นหนังสือถึงนายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย หาใช่เป็นหนังสือแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการบริหารต่อโจทก์ทั้งสามโดยตรงไม่ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามได้รับคำสั่งของคณะกรรมการบริหารตามมาตรา 58 วรรคหนึ่ง แล้ว โจทก์ทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการตามมาตรา 58 วรรคสาม
โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงมีปัญหาที่ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยให้ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ปรากฏเหตุผลเป็นการไม่ชอบ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายซึ่งมีจำเลยที่ 4 เป็นกรรมการในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายด้วย ปรากฏตามเอกสารท้ายคำให้การ ขณะนั้นยังไม่มีการจดทะเบียนสถาบันชาวไร่อ้อย ชาวไร่อ้อยและหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยเพื่อให้ทราบปริมาณอ้อยของสมาชิกของแต่ละสถาบัน ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ได้ ประกอบกับมีความจำเป็นต้องมีผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการบริหารกองทุน คณะกรรมการอ้อย และคณะกรรมการน้ำตาลทราย เพื่อให้คณะกรรมการต่าง ๆ ดังกล่าวสามารถดำเนินการและปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527ได้ไปพลางก่อน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงกำหนดระเบียบว่าด้วยการเสนอผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการต่าง ๆ ดังกล่าว โดยให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายแต่งตั้งแทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการต่าง ๆ ดังกล่าวปรากฏตามเอกสารท้ายคำให้การ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจึงมีอำนาจแต่งตั้งผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการต่าง ๆ ดังกล่าวคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้เลือกจำเลยที่ 4 เป็นประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายและโดยมติของที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายให้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการอ้อย และคณะกรรมการน้ำตาลทราย โดยมีจำเลยที่ 4ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวไว้ตามเอกสารท้ายคำให้การซึ่งมีจำเลยที่ 5 คือรองอธิบดีกรมการค้าภายในผู้แทนกระทรวงพาณิชย์เป็นกรรมการในคณะกรรมการน้ำตาลทรายด้วยจึงถือได้ว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวชอบแล้ว มิได้ตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการน้ำตาลทรายและได้รับเลือกจากคณะกรรมการน้ำตาลทรายให้เป็นประธานคณะกรรมการน้ำตาลทรายจึงมีอำนาจในฐานะเป็นกรรมการและเป็นประธานคณะกรรมการน้ำตาลทรายส่วนกรณีที่คณะกรรมการน้ำตาลทรายได้มีมติให้ตัดโควต้า ก. ของโจทก์ทั้งสามเป็นกรณีที่คณะกรรมการดังกล่าวควบคุมการจำหน่ายน้ำตาลทรายในราชอาณาจักรตามที่พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 มาตรา 42 ()2) บัญญัติให้คณะกรรมการน้ำตาลทรายมีหน้าที่ดังกล่าวนั่นเอง กล่าวคือ มีอำนาจสั่งตัดโควตาก. ของโจทก์ทั้งสามได้ หาใช่ไม่มีอำนาจ โจทก์กล่าวอ้างว่า คณะกรรมการน้ำตาลทรายซึ่งมีจำเลยที่ 5 เป็นประธานมีมติดังกล่าวโดยไม่ชอบ และจำเลยที่ 5ให้การปฏิเสธ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ทั้งสาม เมื่อโจทก์แถลงไม่สืบพยานข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าคณะกรรมการน้ำตาลทรายมีมติดังกล่าวโดยไม่ชอบ ต้องยกฟ้องโจทก์
ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น นอกจากจำเลยจะแถลงขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย โดยพิจารณาจากคำฟ้องคำให้การ และเอกสารที่โจทก์จำเลยส่งศาลไว้ทั้งหมดแล้ว โจทก์จำเลยยังแถลงไม่ติดใจที่จะสืบพยานประกอบด้วย เมื่อผลแห่งการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายปรากฏว่า จำเลยที่ 5 มีอำนาจตัดโควต้า ก. ของโจทก์ คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การสั่งตัดโควตา ก.ของจำเลยที่ 5 เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อโจทก์จำเลยแถลงไม่สืบพยานกันต่อไปย่อมถือว่าโจทก์จำเลยขอปิดคดีของตนเสร็จแล้ว ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะวินิจฉัยคดีให้เสร็จไปได้ ไม่มีเหตุที่จะต้องดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป