คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3399/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การแบ่งปันทรัพย์มรดก นอกจากไม่มีบทกฎหมายบัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือแล้ว ที่ดินพิพาทที่มีเพียงใบไต่สวน ผู้เป็นเจ้าของจึงมีเพียงสิทธิครอบครอง ดังนั้น การแบ่งปันทรัพย์มรดกจึงกระทำได้โดยการส่งมอบการครอบครองเท่านั้น เมื่อที่ดินพิพาทมีการตกลงแบ่งปันกันระหว่างทายาทเป็นส่วนสัด อันเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่งแล้ว ว. ทายาทซึ่งเป็นมารดาโจทก์ครอบครองที่ดินส่วนพิพาทตอนกลางเพื่อตนเองตลอดมาและมอบการครอบครองให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามใบไต่สวนเลขที่ 262 หรือแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เลขที่ 12 ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ ห้ามจำเลยและบริวารกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองของโจทก์หรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายกันและนางพันที่ยังมิได้แบ่งปันแก่ทายาท ห้ามโจทก์และบริวารกระทำการรบกวนการครอบครองอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดก
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินตามใบไต่สวนเลขที่ 262 หรือแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เลขที่ 12 ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เนื้อที่ 55 ไร่ 3 งาน 14 ตารางวา ตามแผนที่วิวาท เป็นทรัพย์มรดกของนายกันและนายพันที่ยังมิได้มีการจัดการ ห้ามโจทก์และบริวารกระทำการรบกวนหรือโต้แย้งสิทธิของจำเลยในการกระทำในฐานะผู้จัดการมรดก ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามใบไต่สวนเลขที่ 262 หรือแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เลขที่ 12 ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี บริเวณส่วนกลางเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ ห้ามจำเลยและบริวารกระทำการใดอันเป็นการรบกวนการครอบครองหรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในที่ดินเฉพาะส่วนดังกล่าว ยกฟ้องแย้งจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า ที่ดินตามใบไต่สวนเลขที่ 262 ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เนื้อที่ 55 ไร่ 3 งาน 14 ตารางวา เดิมเป็นของนายกันและนางพันซึ่งมีบุตรด้วยกัน 7 คน คือนางปั้น นายหน่า นายแก นางแป้น นางแป้ง จำเลยและนางวงษ์มารดาโจทก์ ปี 2498 นางวงษ์ นางแป้นและนายหลุย สามีของนางแป้งได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวตาม ส.ค.1 เลขที่ 12 ปัจจุบันโจทก์ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ที่ดินเนื้อที่ 55 ไร่ 3 งาน 14 ตารางวา ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายกันและนางพันได้ตกลงแบ่งปันและต่างครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้มีการแบ่งปันให้แก่ทายาทเพราะไม่ปรากฏว่ามีหนังสือตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกหรือหนังสือสละมรดกของทายาทที่เป็นเอกสารมาแสดงต่อศาล โจทก์มีแต่พยานบุคคลกล่าวอ้างลอยๆ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังนั้นข้อนี้ได้ความจากพยานโจทก์ว่านายกันและนางพันเจ้ามรดกถึงแก่ความตายมา 70 ปีเศษแล้ว ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายกันและนางพัน เมื่อบุคคลทั้งสองถึงแก่ความตาย บุตรของบุคคลทั้งสองต่างตกลงแบ่งปันกันและเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดโดยนางแป้งบุตรคนหนึ่งครอบครองทางด้านทิศเหนือเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ นางวงษ์มารดาโจทก์ครอบครองเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ และนางแป้นบุตรอีกคนหนึ่งครอบครองทางด้านทิศใต้ เนื้อที่ 14 ไร่ ที่ดินส่วนที่นางวงษ์ครอบครองนั้นต่อเนื่องมาถึงโจทก์ซึ่งครอบครองต่อมาจนถึงปัจจุบันแม้โจทก์จะมีเพียงพยานบุคคลมาเบิกความโดยไม่มีพยานเอกสารการแบ่งปันทรัพย์มรดกมาแสดงต่อศาลก็ตาม แต่การแบ่งปันทรัพย์มรดก นอกจากไม่มีบทกฎหมายบัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือแล้ว ที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินที่มีเพียงใบไต่สวน ผู้เป็นเจ้าของจึงมีเพียงสิทธิครอบครอง ดังนั้นการแบ่งปันทรัพย์มรดกจึงกระทำได้โดยการส่งมอบการครอบครองเท่านั้น นอกจากนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินของนางแป้งด้านทิศเหนือประมาณ 10 ไร่ และของนางแป้นทางด้านทิศใต้ 14 ไร่ ซึ่งต่างก็ครอบครองเป็นของตนเรื่อยมาจนกระทั่งขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของร่วมโต้แย้งหรือใช้ติดตามเอาทรัพย์คืน คงปล่อยให้เวลาล่วงเลยมานานกว่า 70 ปี ยิ่งกว่านั้นยังได้ความต่อไปว่าในปี 2498 ทายาทที่ครอบครองที่ดินรวมถึงนางวงษ์ได้แจ้งการครอบครองที่ดิน แต่มีนายแกคัดค้านจนเป็นคดีพิพาทขึ้นมาสู่ศาลชั้นต้นและมีการประนีประนอมยอมความกันและศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวโดยนายแกยอมรับว่าที่ดินพิพาท นายหลุย สามีของนางแป้งครอบครอง 10 ไร่ ที่ดินส่วนที่เหลือ นางวงษ์ มารดาโจทก์ และนางแป้งครอบครองเป็นสัดส่วนโดยได้รับมรดกมาจากนายกันและนางพัน ส่วนนายแกอยู่ในฐานะผู้อาศัยตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว จำเลยเป็นเพียงผู้เข้ามาไกล่เกลี่ยก็ตาม แต่จำเลยก็เบิกความยอมรับว่าในช่วงที่นายแกมีเรื่องฟ้องร้องกับนายหลุย นางวงษ์ และนางแป้น ที่ศาลชั้นต้นและมีการประนีประนอมยอมความกันนั้น จำเลยได้เข้ามาช่วยพูดคุยและไม่ให้ทะเลาะกันเนื่องจากเป็นพี่น้องกัน แสดงให้เห็นว่าจำเลยรับรู้ถึงข้อพิพาทระหว่างคู่ความทั้งสองฝ่ายดังกล่าวแล้ว หากที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันให้แก่ทายาทแล้ว จำเลยน่าจะต้องไกล่เกลี่ยเพื่อให้แบ่งปันที่ดินให้แก่จำเลยและทายาทอื่นที่มิได้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย แต่จำเลยกลับไกล่เกลี่ยคู่ความทั้งสองฝ่ายจนกระทั่งยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงเท่ากับจำเลยยอมรับสิทธิของนางวงษ์มารดาโจทก์ว่าเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยการรับมรดกแล้ว หาใช่เป็นการครอบครองที่ดินดังกล่าวแทนจำเลยและทายาทอื่นแต่อย่างใดไม่ ทั้งยังได้ความจากโจทก์โดยจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า เมื่อนางวงษ์มอบการครอบครองที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ต่อมาเมื่อปี 2538 โจทก์ยื่นคำร้องขอรังวัดที่ดินพิพาท มีนายนัดกับนายน้อมบุตรของนายแกเข้ามาคัดค้านจนเป็นคดีพิพาทกันในศาลชั้นต้นในที่สุดนายนัดกับนายน้อมก็ยอมรับว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินที่ขอรังวัดอีกเช่นกัน ส่วนที่จำเลยอ้างมาในฎีกาว่า นายพิสูจน์เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาการออกโฉนด การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า ปัจจุบันที่ดินแปลงเลขที่ 262 ยังไม่มีการแบ่งปันให้แก่ทายาท แสดงว่าที่ดินพิพาทยังไม่ได้แบ่งกันให้แก่ทายาทนั้นเป็นกรณีที่พยานเบิกความตามความเอกสารเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากพยานเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ทนายโจทก์ให้พยานดูเอกสารหมาย จ.5 แล้วพยานเบิกความว่าเป็นเรื่องที่จำเลยมาขอตรวจหลักฐานทางทะเบียนของที่ดินตามใบนำเลขที่ 262 ซึ่งผลการตรวจสอบปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน เนื่องจากมีคดีฟ้องร้องกันอยู่ที่ศาล ดังนั้น จึงรับฟังได้แต่เพียงว่าในทะเบียนของสำนักงานที่ดิน ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินยังคงเป็นชื่อของนายกันและนางพัน และยังไม่มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงเป็นชื่อของทายาทเท่านั้น พยานไม่ได้ทราบข้อเท็จจริงว่าได้มีการแบ่งปันที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทของนายกันและนางพันแล้วหรือไม่ ยิ่งกว่านั้นจำเลยเพิ่งเข้ามาคัดค้านการรังวัดขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์เมื่อปี 2541 ทั้งที่จำเลยสามารถคัดค้านและขอแบ่งปันได้ตั้งแต่จำเลยเข้าไปเป็นผู้ไกล่เกลี่ยดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว แต่จำเลยหาได้ดำเนินการแต่อย่างใดไม่พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทมีการตกลงแบ่งปันกันระหว่างทายาทเป็นส่วนสัด อันเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคหนึ่งแล้ว เมื่อนางวงษ์มารดาโจทก์ครอบครองที่ดินส่วนพิพาทตอนกลางเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ เพื่อตนเองตลอดมาและมอบการครอบครองให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า ฟ้องแย้งยังไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายกันถึงแก่ความตายเมื่อประมาณปี 2457 นางพันถึงแก่ความตายประมาณปี 2464 มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกและทายาทผู้รับมรดกได้ครอบครองเพื่อตนเองมาตั้งแต่ปี 2498 เมื่อนับถึงวันที่จำเลยฟ้องแย้งเพื่อขอแบ่งมรดกคือวันที่ 16 พฤษภาคม 2543 เป็นเวลาเกินกว่า 70 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และเป็นเวลาประมาณ 45 ปี นับแต่มีการแบ่งปันทรัพย์มรดก ดังนั้น ฟ้องแย้งของจำเลยจึงขาดอายุความตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้วที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยแม้จะวินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share