คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3472/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 ของจำเลยที่ 1 เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.27202 ของจำเลยที่ 1 เช่นกันซึ่งเป็นอักษรญี่ปุ่นแล้ว จะเห็นได้ว่า อักษรญี่ปุ่น อ่านว่า “นายาโก้ เปปาร์” และกรอบลวดลายดังกล่าวมีลักษณะเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 จะมีส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น อักษรญี่ปุ่นและอักษรโรมันซึ่งเป็นคำบรรยายของสินค้า และอักษรโรมัน คำว่า “Na” ขนาดใหญ่จำนวน 7 คำ อยู่ตรงกลางของเครื่องหมายการค้าด้วย ซึ่งแม้จะมีการนำข้อความอื่น ๆ มาประกอบเช่นนี้ก็ยังเห็นได้จากตัวเครื่องหมายการค้า หาใช่ข้อความที่มีลักษณะเป็นการบรรยายของสินค้า หรือแม้แต่ตัวอักษรโรมัน “Na” ก็หาได้เป็นสาระสำคัญแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น การที่มีอักษรโรมัน “Na” ในเครื่องหมายการค้าถึง 8 แห่ง ก็ไม่ทำให้สาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าแตกต่างไป คดีเป็นอันรับฟังว่าสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 คือ อักษรญี่ปุ่นเหมือนกับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.27202 ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของได้ กับให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.27202 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ที่ 1 ยื่นคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งภายหลังจากที่มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5269/2542 แล้ว โดยมีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะใช้เครื่องหมายการค้าซึ่งมีสาระสำคัญคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน ถือว่าเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 เป็นเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบายอันไม่พึงรับจดทะเบียนให้โจทก์ที่ 1 จึงร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพื่อให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้
สำหรับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.97406 ของจำเลยที่ 1 นั้นมีสาระสำคัญอยู่ที่อักษรญี่ปุ่น อ่านว่า “เอ็นเอ เปปาร์” ซึ่งคำดังกล่าวไม่มีความหมายและจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุดกับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 ส่อแสดงว่านายทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็เห็นอยู่แล้วว่าเครื่องหมายการค้าทั้ง 2 เครื่องหมายคล้ายกันมาก เพียงแต่จำเลยที่ 1 เปลี่ยนอักษรญี่ปุ่น 3 ตัวแรกให้แตกต่างจากเดิมเท่านั้น โดยตัวอักษรที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังคงมีลักษณะใกล้เคียงกันมากเท่ากับว่าเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.97406 มีส่วนสาระสำคัญคล้ายกับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.27202 ที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่าคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไว้แล้ว ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.97406 เป็นเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบายและไม่พึงรับจดทะเบียนให้เช่นกัน
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 เป็นเครื่องหมายการค้าที่ห้ามมิให้รับจดทะเบียน ย่อมไม่สมควรนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 410468 ของโจทก์ทั้งสองอีกต่อไป และเมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองมีลักษณะบ่งเฉพาะ และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองในคดีดังกล่าวกับคดีนี้เป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกัน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวต้องผูกพันตามผลแห่งคำพิพากษานั้น และมีผลให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นหน่วยงานและเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่พิจารณาการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องถือตามผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว
สำหรับคำขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 410468 ของโจทก์ทั้งสองต่อไปนั้น เป็นการขอให้บังคับนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองไปเลย ทั้งที่นายทะเบียนยังจักต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าในประการอื่นต่อไปเสียก่อน ในชั้นนี้ย่อมไม่อาจก้าวล่วงพิพากษาให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองตามคำขอได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรญี่ปุ่นอ่านว่า “ชาโค เปปาร์” พร้อมภาพประกอบ ซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วในประเทศญี่ปุ่น สำหรับสินค้ากระดาษลอกลาย มีการผลิตและจำหน่ายสินค้าดังกล่าวมาเป็นเวลานานจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและนิยมใช่แพร่หลายของสาธารณชนทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศรวมทั้งประเทศไทย จำเลยที่ 1 ลอกเลียนเครื่องหมายการค้าอักษรญี่ปุ่นของโจทก์ทั้งสองตามฟ้องโดยทุจริต และยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อจำเลยที่ 2 สำหรับสินค้าจำพวก 16 รายการสินค้าแบบลอกลาย ซึ่งเป็นสินค้าชนิดและประเภทเดียวกับของโจทก์ทั้งสอง นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ตามคำขอเลขที่ 270285 ทะเบียนเลขที่ ค.27202 โจทก์ทั้งสองจึงดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำภาษาญี่ปุ่นตามฟ้องดีกว่าจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว และให้จำเลยที่ 1 ใช่ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง หลังจากนั้นโจทก์ที่ 1 มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 3 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งได้มีการดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาโจทก์ที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรญี่ปุ่นอ่านว่า “ชาโค เปปาร์” พร้อมภาพประกอบต่อจำเลยที่ 3 ตามคำขอเลขที่ 410468 สำหรับสินค้าจำพวก 16 รายการสินค้าแบบลอกลาย จำเลยที่ 3 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยอ้างว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วและให้แสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนเองแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้อักษรญี่ปุ่นทั้งหมดและรูปแบบลวดลายเพราะเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขาย หรือไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ โจทก์ที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 3 คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าซึ่งมีจำเลยที่ 4 เป็นประธานวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของจำเลยที่ 3 โจทก์ทั้งสองเพิ่งทราบจากคำสั่งของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวว่า ระหว่างการดำเนินคดีที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ข้างต้นนั้น จำเลยที่ 1 โดยทุจริต ได้นำอักษรญี่ปุ่น อ่านว่า “นายาโก้ เปปาร์” และ “เอ็นเอ เปปาร์” พร้อมภาพประกอบ ไปยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าจำพวก 16 รายการสินค้าแบบลอกลายเป็นคำขอเลขที่ 336329 และ 370494 ตามลำดับ และได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นทะเบียนเลขที่ ค.78846 และ ค.97406 ตามลำดับ โจทก์ที่ 1 จึงยื่นคำขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพื่อให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว แต่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้ยกคำขอของโจทก์ที่ 1 การกระทำของจำเลยทั้งสี่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองมีลักษณะบ่งเฉพาะและโจทก์ทั้งสองมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยที่ 1 เครื่องหมายการค้า ทะเบียนเลขที่ ค.78846 และ ค.97406 ของจำเลยที่ 1 นำอักษรญี่ปุ่นและลวดลายประดิษฐ์ตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองไปใช้เป็นสาระสำคัญอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้นับเป็นเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อรัฐประศาสโนบาย และขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังผลิตสินค้าออกจำหน่ายโดยมีเจตนาลวงขายสินค้า ทำให้สาธารณชนสับสนหลงเชื่อว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นของโจทก์ทั้งสอง หรือโจทก์ทั้งสองมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าอักษรญี่ปุ่นคำว่า “ชาโค เปปาร์” พร้อมภาพประกอบ ตามคำขอเลขที่ 410468 ของโจทก์ทั้งสองเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ไม่เป็นคำสามัญหรือเป็นคำที่มีความหมายใช้กันทั่วไปและโจทก์ทั้งสองมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 17/2544 และคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 18/2544 ให้จำเลยทั้งสี่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 และ ค.97406 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 573/2544 ให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 410468 ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 410468 ของโจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง เป็นเงินจำนวน 190,000 บาท และจำนวนเดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะยุติการจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าตามฟ้อง
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีเจตนาทุจริต เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสอง และไม่ขัดต่อรัฐประศาสโนบาย คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเดิมไม่เกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องในคดีนี้ คำวินิจฉัยและคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าชอบด้วยกฎหมายและถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ฟ้องของโจทก์ทั้งสองในส่วนของค่าเสียหายเป็นฟ้องซ้ำ และโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิห้ามจำเลยที่ 1 จำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 คำสั่งและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าชอบด้วยกฎหมายและแนวทางปฏิบัติแล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองตามฟ้องไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะถือว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 410468 ของโจทก์ทั้งสองเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ไม่เป็นคำสามัญหรือเป็นคำที่มีความหมายใช้กันทั่วไป และโจทก์ทั้งสองมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 17/2544 และคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 18/2544 ให้จำเลยทั้งสี่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 และ ค.97406 และเพิกถอนคำวินิจฉัยคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 573/2544 ให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 410468 กับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 410468 ของโจทก์ทั้งสอง ดังนั้น ประเด็นข้อพิพาทที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดไว้ คือ เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 410468 ของโจทก์ทั้งสองกับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 และทะเบียนเลขที่ ค.97406 ของจำเลยที่ 1 เป็นเครื่องหมายการค้าที่อาจรับจดทะเบียนได้โดยชอบหรือไม่ จึงเกี่ยวพันกันและสมควรวินิจฉัยไปพร้อมกัน โดยประเด็นแรกที่เห็นควรจะวินิจฉัยก่อนคือเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 และ ค.97406 ของจำเลยที่ 1 มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนหรือไม่ ซึ่งเป็นเหตุผลในการพิจารณาต่อไปว่า คำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ยกคำร้องขอเพิกถอนของโจทก์ที่ 1 ชอบหรือไม่ สำหรับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 นั้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.27202 ซึ่งเป็นอักษรญี่ปุ่นคำว่า แล้วจะเห็นได้ว่า อักษรญี่ปุ่น อ่านว่า “นายาโก้ เปปาร์” และกรอบลวดลายดังกล่าวมีลักษณะเหมือนกัน เพียงแต่ว่า เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 จะมีส่วนประกอบอื่นๆ เช่น อักษรญี่ปุ่นและอักษรโรมันซึ่งเป็นคำบรรยายของสินค้าและอักษรโรมัน คำว่า “Na” ขนาดใหญ่จำนวน 7 คำ อยู่ตรงกลางของเครื่องหมายการค้าด้วย ซึ่งแม้จะมีการนำข้อความอื่น ๆ มาประกอบเช่นนี้ ก็ยังเห็นได้จากตัวเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเองว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาใช้อักษรญี่ปุ่นนี้เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้า หาใช่ข้อความที่มีลักษณะเป็นการบรรยายของสินค้าหรือแม้แต่ตัวอักษรโรมัน “Na” ก็หาได้เป็นสาระสำคัญแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น การที่มีอักษรโรมัน “Na” ในเครื่องหมายการค้าถึง 8 แห่ง ก็ไม่ทำให้สาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าแตกต่างไปตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบ คดีเป็นอันรับฟังว่าสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 คือ อักษรญี่ปุ่นเหมือนกับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.27202 ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่า คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสอง จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของได้ กับให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.27202 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2540 ซึ่งอยู่ในระหว่างเวลาที่โจทก์ทั้งสองพิพาทกับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.27202 โดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองในคดีเดิมนั้นก็คือ เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 410468 ของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ และโจทก์ที่ 1 ยื่นคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2543 ปรากฏตามคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.18 และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งที่ 17/2544 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2544 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.21 แสดงว่าโจทก์ที่ 1 ยื่นคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งภายหลังจากที่มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5269/2542 แล้ว โดยมีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะใช้เครื่องหมายการค้าซึ่งมีสาระสำคัญคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน ถือว่าเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 เป็นเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบาย ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (9) อันไม่พึงรับจดทะเบียนให้ โจทก์ที่ 1 จึงร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพื่อให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 62 ซึ่งการที่โจทก์ที่ 1 กล่าวอ้างในคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน โดยอ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5269/2542 และเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.27202 กับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 นั้น ก็เพื่อแสดงให้ปรากฏถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นนั่นเอง การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่พิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าว และยกคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองในประเด็นนี้โดยวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 ของจำเลยที่ 1 แตกต่างจากเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 410468 ของโจทก์ทั้งสองก็ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศดังที่วินิจฉัยแล้วข้างต้น อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 18/2544 ซึ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค.97406 ของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีสาระสำคัญอยู่ที่อักษรญี่ปุ่น.. ……..อ่านว่า “เอ็นเอ เปปาร์” คำดังกล่าวไม่มีความหมาย และจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุดกับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 ปรากฏตามทะเบียนเครื่องหมายการค้า ส่อแสดงว่านายทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็เห็นอยู่แล้วว่า เครื่องหมายการค้าดังกล่าวทั้ง 2 เครื่องหมายคล้ายกันมาก นอกจากนี้จำเลยที่ 1 เพียงเปลี่ยนอักษรญี่ปุ่น 3 ตัวแรก เพื่อให้แตกต่างไปจากอักษรญี่ปุ่นเดิมเท่านั้น โดยตัวอักษรที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังคงมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับตัวอักษรญี่ปุ่นในเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 นั่นเอง และพฤติการณ์แสดงอยู่ว่าอักษรญี่ปุ่นดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้า เท่ากับว่าเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.97406 มีส่วนสาระสำคัญคล้ายกับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.27202 ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่าคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นขอจดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2541 ปรากฏตามทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับโจทก์ที่ 1 ยื่นคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2543 และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งที่ 18/2544 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2544 ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.97406 เป็นเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบายตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (9) ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น และไม่พึงรับจดทะเบียนให้เช่นกัน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 18/2544 และคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อมามีว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 410468 ของโจทก์ทั้งสอง เป็นเครื่องหมายการค้าที่อาจรับจดทะเบียนได้โดยชอบหรือไม่ โดยคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวคล้ายกับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 ปรากฏตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 573/2544 เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ได้กล่าวอ้างถึงความไม่สมบูรณ์ของเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 ไว้แล้ว แต่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ได้นำมาพิจารณาวินิจฉัยโดยให้เหตุผลว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์ที่ 1 นำส่งนั้น เป็นกรณีของรูปเครื่องหมายการค้าที่แตกต่างกันกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ในกรณีนี้จึงไม่อาจนำมากล่าวอ้างเพื่อเป็นเหตุให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ซึ่งการกล่าวอ้างของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองนั้นไม่ถูกต้องเช่นใด คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 573/2544 เช่นนี้จึงไม่ชอบ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้แล้วว่า เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 เป็นเครื่องหมายการค้าที่ห้ามมิให้รับจดทะเบียน ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (9) ย่อมไม่สมควรนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 410468 ของโจทก์ทั้งสองต่อไป คำสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในส่วนนี้จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อมามีว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองมีลักษณะบ่งเฉพาะ จึงไม่ต้องดำเนินการตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ให้โจทก์ทั้งสองไม่ขอถือสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้อักษรญี่ปุ่นทั้งหมดและรูปแบบลวดลายหรือไม่ ปัญหานี้แม้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะยังไม่ได้วินิจฉัยคำสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าในเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะยังไม่วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจนกว่าคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะได้วินิจฉัยให้เสร็จสิ้นแล้ว แต่เพื่อไม่ให้คดีเนิ่นช้า และข้อเท็จจริงดังกล่าวมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5269/2542 วินิจฉัยไว้แล้ว จึงเห็นควรวินิจฉัยปัญหานี้ให้เสร็จสิ้นไป เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาคดีดังกล่าววินิจฉัยแล้วว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองมีลักษณะบ่งเฉพาะ และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองในคดีดังกล่าวกับคดีนี้เป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกัน จำเลยที่ 1 เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวต้องผูกพันตามผลแห่งคำพิพากษานั้น และมีผลให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นหน่วยงานและเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่พิจารณาการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องถือตามผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองมีลักษณะบ่งเฉพาะจึงไม่ต้องดำเนินการตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ให้โจทก์ทั้งสองไม่ขอถือสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้อักษรญี่ปุ่นทั้งหมดและรูปแบบลวดลาย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อมามีว่า จำเลยที่ 1 ต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังว่า เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 และ ค.97406 มีส่วนสาระสำคัญคล้ายกับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.27202 ซึ่งศาลฎีกาได้เคยตัดสินว่า มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองจนอาจทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของได้และการจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.27202 ของจำเลยที่ 1 มีลักษณะเป็นการลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์ทั้งสอง และคดีนี้รับฟังต่อไปด้วยว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 และ ค.97406 โดยทราบถึงเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองดีอยู่แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ยังคงนำสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกับของโจทก์ทั้งสองและนำออกจำหน่ายโดยซองสินค้าของจำเลยก็ใช้สีและรูปแบบเดียวกับสินค้าของโจทก์ทั้งสองเช่นนี้ ถือว่าเป็นการเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์ทั้งสอง สำหรับพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 1 นำสืบหักล้างมานั้นเป็นเพียงคำเบิกความลอยๆ ของจำเลยที่ 1 จึงมีน้ำหนักน้อยไม่พอรับฟังหักล้างได้ ส่วนค่าเสียหายนั้นศาลฎีกาได้เคยกำหนดไว้ในคดีก่อนเป็นค่าเสียหายจำนวนเดือนละ 5,000 บาท เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 5,000 บาท ตามคำขอ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
ส่วนคำขอของโจทก์ทั้งสองที่ขอให้แสดงว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 410468 ดีกว่าจำเลยที่ 1 นั้น เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5269/2542 ได้พิพากษาไว้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องพิพากษาให้อีก สำหรับคำขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 410468 ของโจทก์ทั้งสองต่อไปนั้นเป็นการขอให้บังคับนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองไปเลย ทั้งที่นายทะเบียนยังจักต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าในประการอื่นต่อไปเสียก่อน ในชั้นนี้ย่อมไม่อาจก้าวล่วงพิพากษาให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองตามคำขอได้ ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ทั้งสองไม่จำต้องวินิจฉัยอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษากลับว่า เครื่องหมายการค้าอักษรญี่ปุ่นคำว่า “ชาโค เปปาร์” พร้อมภาพประกอบตามคำขอเลขที่ 410468 ของโจทก์ทั้งสองเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ และโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าว ให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 17/2544 และคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 18/2544 เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า 573/2544 กับให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.78846 และ ค.97406 และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงินจำนวน 190,000 บาท และจำนวนเดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 มกราคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะยุติการจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าตามฟ้อง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share