คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 76/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการซื้อไม้มา จากโจทก์และจำเลยที่ 4 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ตามที่ได้ รับ มอบหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 4 รับผิด ตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ซึ่งมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับมอบอำนาจและจำเลยที่ 4 ในฐานะส่วนตัว ซื้อวัสดุก่อสร้างไปจากโจทก์รวม 3 ครั้ง เป็นเงิน 281,456.35 บาท จำเลยที่ 1ชำระราคาบางส่วนเป็นเงิน 70,000 บาท คงค้างอยู่ 211,456.35 บาท โจทก์ทวงถามหลายครั้งแล้ว แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่รวมกันชำระเงิน 211,456.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และจำเลยที 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 ไปทำการซื้อไม้จากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินจำนวน211,456.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 211,456.35 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกนี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 4 ซื้อไม้จากโจทก์ไปก่อสร้างสถานีอนามัยและบ้านพักตามที่โจทก์นำสืบ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระราคาไม้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น แต่สำหรับจำเลยที่ 4 นั้น ตามคำฟ้องและข้อเท็จจริงที่ฟังได้ตามข้อนำสืบของโจทก์ได้ความว่าจำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการซื้อไม้จากโจทก์ และจำเลยที่ 4 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ตามที่ได้รับมอบหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 4 รับผิดตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share