คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1409/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม กำหนดให้ผู้กระทำละเมิดในกรณีทำให้เขาถึงตายรับผิดต่อบุคคลที่ต้องขาดไร้อุปการะเฉพาะที่ผู้ตายมีหน้าที่อุปการะตามกฎหมายเท่านั้น แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1563 และมาตรา 1564 บัญญัติให้บุตรและบิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูกันนั้น หมายถึงบุตรและบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติกำหนดสิทธิและหน้าที่ให้บิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนอกกฎหมายแต่ประการใด ดังนั้น แม้บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วจะเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของบิดาได้ แต่ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดา บุตรนอกกฎหมายจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะจากผู้กระทำละเมิดให้บิดาตนถึงแก่ความตายได้
ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้และมิได้ยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ก็เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา142 (5) ประกอบมาตรา 246

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำนวน 120,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 384,000 บาท และค่าปลงศพแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำนวน 61,000 บาท รวมเป็นเงิน 565,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 544,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 20 มีนาคม 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 มีนาคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยกฟ้องโจทก์ที่ 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ที่ 3 เป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายพงษ์เทพ พัฒโนทัย ผู้เป็นบิดาได้รับรองแล้ว เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2542 ลูกจ้างของจำเลยขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 81 – 0304 นครสวรรค์ ไปในทางการที่จ้างของจำเลยด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บง – 1797 อุทัยธานี ซึ่งมีนายพงษ์เทพโดยสารมาและนายพงษ์เทพถึงแก่ความตาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อนายพงษ์เทพ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 3 ว่า บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้ตามมาตรา 1629 (1) นั้นจะมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดเพราะเหตุที่การตายลงนั้นทำให้ตนต้องขาดไร้อุปการะหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม นั้น กำหนดให้ผู้กระทำละเมิดในกรณีทำให้เขาถึงตายรับผิดต่อบุคคลที่ต้องขาดไร้อุปการะเฉพาะที่ผู้ตายมีหน้าที่อุปการะตามกฎหมายเท่านั้น แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1563 และมาตรา 1564 บัญญัติให้บุตรและบิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูกันนั้น หมายถึงบุตรและบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติกำหนดสิทธิและหน้าที่ให้บิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนอกกฎหมายแต่ประการใด ดังนั้น แม้บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วจะเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของบิดาได้ แต่ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดา บุตรนอกกฎหมายจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิดให้บิดาตนถึงแก่ความตายได้ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้และมิได้ยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ก็เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share