แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์ทั้งสองได้รับชำระเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้น และปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองกับเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันไว้ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนที่ดินฯ มาตรา 10 เนื่องจากไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทน ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2539 แล้ว ซึ่งตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดให้แก่โจทก์ทั้งสองภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2539 อันเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยทั้งสองจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญา โดยได้รับในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ตามความในมาตรา 26 วรรคสาม อันเป็นกฎหมายพิเศษโดยไม่ต้องนำสืบถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในวันที่ 10 กรกฎาคม 2539 แต่อย่างใด
ส่วนเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืน เป็นเงินค่าทดแทนตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคสาม ดังนั้นเมื่อคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ไม่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนส่วนนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ของเงินค่าทดแทนส่วนนี้ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตามมาตรา 25 วรรคหนึ่งก่อน เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนส่วนนี้ต่อรัฐมนตรีฯ การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนส่วนนี้จากจำเลยทั้งสองต่อศาลจึงเป็นการข้ามขั้นตอนโดยไม่ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 34,426,595.20 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 31,175,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 8,250,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 9 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 77112 ตำบลคันนายาว (คลองเกร็ด) อำเภอบางกะปิ (บึงกุ่ม) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 4 ไร่ 5 ตารางวา ต่อมามีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 37 สายถนนวงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานคร ตอนแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (บางพลี) – บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (วังน้อย) พ.ศ.2536 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2536 การดำเนินการของฝ่ายจำเลยตามพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวถูกเวนคืนบางส่วนเป็นเนื้อที่ 275 ตารางวา คงเหลือที่ดินจากการเวนคืนเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 30 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองตารางวาละ 35,000 บาท ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2539 แต่โจทก์ทั้งสองไม่พอใจจึงยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขอเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่ถูกเวนคืนเพิ่มเป็นตารางวาละ 100,000 บาท คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีฯ มีมติเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นตารางวาละ 51,000 บาท และโจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้พร้อมดอกเบี้ยไปแล้ว
…เมื่อคำนึงถึงราคาซื้อขายที่ดินแปลงอื่นที่โจทก์ทั้งสองนำสืบ อัตราเงินค่าทดแทนที่ดินที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้แก่โจทก์ทั้งสอง สภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่อยู่ติดถนนรามอินทราหลักกิโลเมตรที่ 9.70 โดยมีด้านหน้ากว้างประมาณ 40 เมตร อยู่ติดถนนรามอินทราซึ่งเป็นถนนสายใหญ่สายหลักสายหนึ่ง มีศักยภาพที่จะใช้ประโยชน์ในการประกอบธุรกิจการค้าได้ ประกอบเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) แล้ว เห็นว่า เงินค่าทดแทนที่ดินเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองผู้ถูกเวนคืนและสังคมคือ ตารางวาละ 65,000 บาท เนื้อที่ 275 ตารางวา เป็นเงินจำนวน 17,875,000 บาท โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 3,850,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตาม มาตรา 26 วรรคสาม ปรากฏว่า โจทก์ทั้งสองกับเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาฯ ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 10 ในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2539 ตามสำเนาบันทึกข้อตกลงยินยอมเอกสารหมาย จ.7 นับแต่วันนั้นไปอีก 120 วัน คือวันที่ 10 กรกฎาคม 2539 อันเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยทั้งสองจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน นับตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2539 เป็นต้นไป ตามความในมาตรา 26 วรรคสาม อันเป็นกฎหมายพิเศษโดยไม่ต้องนำสืบถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในวันที่จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนจะได้ดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดต้องปรับเปลี่ยนไปตามประกาศของธนาคารออมสินเรื่องอัตราดอกเบี้ยฝาก แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 9 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ทั้งสองด้วย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนโดยอ้างว่ามีราคาลดลงหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามสำเนาหนังสืออุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองเอกสารหมาย จ.10 โจทก์ทั้งสองได้มีคำขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ทั้งสองอีกตารางวาละ 51,000 บาท เนื้อที่ดินที่ถูกเวนคืน 275 ตารางวา เป็นเงินจำนวน 14,025,000 บาท เท่านั้น หาได้มีข้อความใดขอหรือเรียกเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาลดลงแต่อย่างใดไม่ เงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลือจาการเวนคืนเป็นเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคสาม ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ไม่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนส่วนนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจะต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนส่วนนี้ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ก่อน แต่โจทก์ทั้งสองหาได้อุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนส่วนนี้ต่อรัฐมนตรีฯ ไม่ การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนส่วนนี้จากจำเลยทั้งสองต่อศาลจึงเป็นการข้ามขั้นตอน โดยไม่ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนส่วนนี้ตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,850,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 9 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ทั้งสอง นับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ