คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 382/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ ต่อมาได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ หลังจากครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวันที่ 20 กันยายน2529 ไปจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2531 ซึ่งโจทก์บอกเลิกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เบิกเงินจากบัญชีดังกล่าว หรือโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีกการที่จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนหนี้ตามยอดเงินที่ค้างชำระในระหว่างนั้นสองครั้ง จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ ไม่ใช่เพื่อให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีพฤติการณ์แสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีก ถือว่าสัญญาเลิกกันนับแต่วันที่ 20กันยายน 2529 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเพียงวันดังกล่าว หามีสิทธิคิดถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2531 ไม่ จำนวนยอดหนี้ในวันที่ 20 กันยายน 2529 อันเป็นวันสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันไม่มีระบุไว้ในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันที่โจทก์ส่งศาล คงระบุไว้ในวันที่ 29 สิงหาคม 2529 และวันที่ 30 กันยายน2529 ดังนี้ ศาลย่อมคำนวณดอกเบี้ย ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2529ถึงวันที่ 20 กันยายน 2529 ตามอัตราดอกเบี้ยที่กำหนด แล้วนำไปรวมกับยอดหนี้ในวันที่ 29 สิงหาคม 2529 เป็นยอดหนี้ในวันที่20 กันยายน 2529 ได้เอง ศาลฎีกาคำนวณรวมยอดหนี้ที่จำเลยที่ 1และที่ 2 ต้องร่วมกันชำระแก่โจทก์รวม 479,159.58 บาท แต่ศาลอุทธรณ์คำนวณรวมยอดหนี้ได้ 479,029.59 บาท เป็นการคำนวณผิดพลาดไปเล็กน้อยศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคแรก สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองมีข้อความทำนองเดียวกันว่าจำเลยที่ 3 ค้ำประกันและจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่ทำไว้กับโจทก์เป็นจำนวน 400,000บาทหรือไม่เกิน 400,000 บาท แสดงว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาค้ำประกันและจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 400,000 บาทเท่านั้น แม้จะปรากฏว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 กู้เบิกเงินเกินบัญชีที่กำหนดก็ตาม ก็เป็นการผูกพันระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับโจทก์เท่านั้น หามีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ด้วยไม่ และแม้สัญญาค้ำประกันจะมีข้อความตอนท้ายว่า “ผู้ค้ำประกันยอมเข้าค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาที่กล่าวแล้วจนกว่าธนาคารจะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง” และข้อความว่า”ถ้าแม้ว่าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้และหรือไม่สามารถชำระหนี้ตามสัญญาที่กล่าวมาแล้วไม่ว่าด้วยเหตุใด… ผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดร่วมกับลูกหนี้ในอันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญานั้นทันที” ก็มีความหมายแต่เพียงว่าผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดร่วมกับลูกหนี้(จำเลยที่ 1) ในอันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาทันทีและโดยสิ้นเชิงภายในต้นเงิน 400,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวเท่านั้น มิได้หมายความว่าจะต้องรับผิดในจำนวนหนี้เท่ากับลูกหนี้แต่อย่างใด จำเลยที่ 3 ขอชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อหนี้ถึงกำหนดโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 701 วรรคแรกแล้ว โจทก์ไม่ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 3 โดยจะให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ในยอดหนี้ที่เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 3 ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันและผู้จำนองหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้รายนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 701,727 ประกอบด้วยมาตรา 744(3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันไว้ต่อโจทก์ ภายหลังที่เปิดบัญชีแล้ว จำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าและจ่ายออกเพื่อหักทอนบัญชีหลายครั้ง ต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2528 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีต่อโจทก์เป็นจำนวนเงินไม่เกิน400,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ของยอดหนี้ที่เบิกเกินบัญชี จำเลยที่ 1 จะชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนหากไม่ชำระยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนได้ และกำหนดชำระหนี้ให้หมดสิ้นภายในวันที่ 20 กันยายน 2529 จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง นอกจากนี้จำเลยที่ 3ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 78890, 78891 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้ต่อโจทก์เพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ทุกประเภททั้งที่มีอยู่แล้วในขณะทำสัญญาจำนองหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้าในวงเงิน 400,000 บาท ให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตกลงจะชำระดอกเบี้ยเดือนละครั้ง หากค้างชำระให้นำดอกเบี้ยทบกับเงินต้นได้และหากบังคับจำนองขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 3 ยอมใช้เงินส่วนที่ขาดอยู่จนครบถ้วน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำเลยที่ 1 ได้เดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมา เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงเดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมา ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่นำเงินเข้าบัญชีเพื่อลดยอดหนี้เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2531 โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้บอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนองแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ถึงวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 607,998.95 บาท และเป็นหนี้โจทก์ถึงวันฟ้องทั้งสิ้น641,230.62 บาท ขอบังคับให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้จำนวน 641,230.62บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 607,998.95บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ให้นำทรัพย์สินที่จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ และหากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้จำเลยที่ 3 ชดใช้ในส่วนที่ขาดอยู่จนครบ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะใบมอบอำนาจไม่มีตราสำคัญของโจทก์ประทับ จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดเต็มจำนวนที่โจทก์ฟ้อง เพราะตามสัญญากู้ ข้อ 1 สัญญาค้ำประกันข้อ 1 และข้อ 2 สัญญาจำนอง และสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนอง จำเลยที่ 3มีเจตนาค้ำประกัน การชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในการเบิกเงินเกินบัญชีเพียงไม่เกินจำนวน 400,000 บาท เท่านั้น โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีไปจำนวนเกิน 400,000 บาท เป็นเรื่องที่โจทก์สมัครใจยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกไปโดยไม่มีสิทธิเบิกนอกเหนือจากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าว จำเลยที่ 3 ผู้จำนองต้องรับผิดชำระเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์จำกัดจำนวนเงินเพียงไม่เกิน400,000 บาท และโจทก์คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปีจำเลยที่ 3 ยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันและจำนองตามกฎหมายเท่านั้น มิใช่อย่างลูกหนี้ร่วม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2530 จำเลยที่ 3 ได้ขอชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมรับชำระหนี้ จำเลยที่ 3จึงหลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินให้จำเลยที่ 3 ทำให้จำเลยที่ 3 เสียหายขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินถึงวันฟ้องเป็นเงิน 100,000 บาท เพราะที่ดินของจำเลยที่ 3 ตั้งอยู่ทำเลที่ดี ขอฟ้องแย้งให้โจทก์ไปจดทะเบียนปลดจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 78890, 78891 แขวงลาดยาว เขตบางเขน (บางซื่อ)กรุงเทพมหานคร ต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้แก่จำเลยที่ 3 โดยให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น หากโจทก์ไม่ไปจดทะเบียนปลดจำนองให้แก่จำเลยที่ 3 ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาและให้โจทก์ชำระค่าเสียหายจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี และจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1อย่างลูกหนี้ร่วมโดยไม่จำกัดจำนวน จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองที่โจทก์ฟ้อง การที่จำเลยที่ 3 ขอชำระหนี้เป็นจำนวน 400,000บาท พร้อมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่ 21 กันยายน 2529 ซึ่งเป็นเงิน 400,000 บาทเศษ ไม่ครบถ้วนตามมูลหนี้ที่จำเลยที่ 3ต้องรับผิดจึงเป็นการชำระหนี้ไม่ชอบ โจทก์มีสิทธิเลิกสัญญาและไม่จำต้องปลดภาระค้ำประกันและไถ่ถอนจำนองที่ดินอันเป็นหลักประกันจำเลยที่ 3 ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ยังคงใช้ประโยชน์ในที่ดินประกอบกิจการค้าขายตลอดมา ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 566,708.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินจำนองขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ก่อน ในวงเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์อื่นชำระหนี้จนกว่าจะครบ ให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 3
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 479,029.59 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 21 กันยายน 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ แต่ให้หักเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระโจทก์2 ครั้ง รวมจำนวน 5,817.93 บาทจากหนี้ดังกล่าวด้วย ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และให้โจทก์ไปจดทะเบียนปลดจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 ซึ่งจำนองไว้ต่อโจทก์ ถ้าโจทก์ไม่ไปจดทะเบียนปลดจำนองดังกล่าว ก็ให้ถือเอาคำพิพากษานี้แทนการแสดงเจตนาของโจทก์ตามฟ้องแย้ง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่11 กรกฎาคม 2528 จำเลยที่ 1 ขอเปิดบัญชีเดินสะพัด ประเภทบัญชีกระแสรายวันกับธนาคารโจทก์ ต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2528 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ในวงเงิน 400,000 บาทยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนหากไม่ชำระยอมให้คิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนได้ และกำหนดชำระหนี้ให้หมดสิ้นภายในวันที่ 20 กันยายน 2529 ปรากฏตามหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.11 ในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ 3เข้าเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ปรากฏตามสัญญาค้ำประกันเงินกู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.12 และจำเลยที่ 1ยังจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1ดังกล่าวอีกด้วย ปรากฏตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน และหนังสือสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกสารหมาย จ.13 และ จ.14นับแต่นั้นมาจำเลยที่ 1 เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมายจ.17 และโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นตลอดมาจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2531ซึ่งเป็นวันบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2530 จำเลยที่ 3มีหนังสือขอชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จำนวน 400,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 21 กันยายน 2529 เป็นต้นไป ปรากฏตามหนังสือขอชำระหนี้เอกสารหมาย ล.3 โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 16พฤศจิกายน 2530 ตอบปฏิเสธการรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 3 ในจำนวนเงินดังกล่าว โดยจะให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ในจำนวนยอดหนี้ของสิ้นเดือนกันยายน 2530 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 558,776.16 บาทปรากฏตามหนังสือของโจทก์ตอบปฏิเสธการรับชำระหนี้เอกสารหมาย ล.4ต่อมาวันที่ 20 พฤษภาคม 2531 โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญา กับมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน และบอกกล่าวบังคับจำนอง ปรากฏตามหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ หนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันและบังคับจำนองเอกสารหมาย จ.4 และ จ.8 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด
พิเคราะห์แล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันที่ 20 กันยายน 2529 ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์หรือวันที่ 20 พฤษภาคม 2531 ดังฎีกาโจทก์ เห็นว่า ตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.17 ปรากฏว่า ตั้งแต่ถัดจากวันที่ 3 กรกฎาคม 2529 จนถึงวันที่ 20 กันยายน 2529 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีให้แก่โจทก์ และต่อจากนั้นไปจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2531ซึ่งเป็นวันที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไปยังจำเลยที่ 1 ไม่มีรายการระบุว่าจำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวเลย คงมีแต่รายการโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนตลอดมา และจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนหนี้ตามยอดเงินที่ค้างชำระในระหว่างนั้นเพียง 2 ครั้ง กล่าวคือ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2530 เป็นเงิน 700.09 บาท และวันที่ 17 ธันวาคม2530 เป็นเงิน 5,117.84 บาท รวมกันเป็นเงิน 5,817.93 บาท ทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 1 เคยขอเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวหรือโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีก จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ไม่ใช่เพื่อให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไป เพราะไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีหักกลบลบกันในระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไป ถือว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันนับแต่วันที่ 20 กันยายน 2529 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้วตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันที่ 20 กันยายน 2529 ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ หามีสิทธิคิดถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2531 ดังโจทก์ฎีกาไว้ไม่ สำหรับยอดหนี้ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระในวันที่ 20 กันยายน2529 ต่อไปอีกนั้น โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยโดยไม่ทบต้นตลอดไปจนกว่าจะมีการชำระหนี้รายนี้เสร็จแก่โจทก์ จำนวนยอดหนี้ในวันที่20 กันยายน 2529 ดังกล่าวนั้น ไม่มีระบุไว้ในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.17 คงระบุไว้ในวันที่ 29 สิงหาคม 2529 จำนวน474,866.27 บาท และวันที่ 30 กันยายน 2529 จำนวน 481,111.09 บาทโดยรวมดอกเบี้ยทบต้นจำนวน 6,244.82 บาท ไว้ด้วยแต่ในเดือนกันยายน2529 นั้น โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันที่ 20 กันยายน2529 เท่านั้น คำนวณดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากยอดเงินจำนวน474,866.27 บาท นับแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2529 ถึงวันที่ 20 กันยายน2529 แล้วเป็นเงิน 4,293.31 บาท ที่ศาลอุทธรณ์คำนวณเป็นเงิน4,163.32 บาท จึงผิดพลาดไปเล็กน้อย และเมื่อคำนวณรวมยอดหนี้ในวันที่ 20 กันยายน 2529 แล้ว เป็นเงิน 479,159.58 บาท ที่ศาลอุทธรณ์คำนวณเป็นเงิน 479,029.59 บาท จึงผิดพลาดไปเล็กน้อยด้วย จำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้โจทก์ต้องรับผิดชำระหนี้จำนวน479,159.58 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 21 กันยายน 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ให้หักเงินที่จำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้โจทก์ 2 ครั้ง รวมจำนวน 5,817.93 บาท จากหนี้ดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ก็ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 479,029.59 บาท ที่คำนวณผิดพลาดไปเล็กน้อยแก่โจทก์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคแรก
สำหรับจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันและจำนองที่ดินประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ตามหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.11 ระบุจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 กู้ไว้ไม่เกิน 400,000 บาท โดยผู้กู้จะผ่อนชำระให้หมดสิ้นภายในวันที่20 กันยายน 2529 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวให้แก่โจทก์ดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว สัญญาค้ำประกันเงินกู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.12 ก็ดี หนังสือสัญญาจำนองที่ดินและหนังสือสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกสารหมาย จ.13 และ จ.14 ก็ดี ต่างระบุไว้ในข้อ 1 ของสัญญาทั้งสามฉบับดังกล่าวเป็นข้อความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 3 ค้ำประกันและจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่ทำไว้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท หรือไม่เกิน400,000 บาท แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 3 มีเจตนาค้ำประกันและจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1ในวงเงิน 400,000 บาท เท่านั้น แม้จะปรากฏว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 กู้เบิกเงินเกินบัญชีเกินวงเงิน 400,000 บาท ก็เป็นการผูกพันกันระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 กับโจทก์เท่านั้น หามีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ด้วยไม่ จำเลยที่ 3คงต้องรับผิดแก่โจทก์ในต้นเงิน 400,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวเท่านั้น และแม้สัญญาค้ำประกันเงินกู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.12 ข้อ 1 มีข้อความตอนท้ายว่า”ผู้ค้ำประกันยอมเข้าค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาที่กล่าวแล้วจนกว่าธนาคารจะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง” และข้อ 2 มีข้อความว่า “ถ้าแม้ว่าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ และหรือไม่สามารถชำระหนี้ตามสัญญาที่กล่าวแล้วไม่ว่าด้วยเหตุใด… ผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดร่วมกับลูกหนี้ในอันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญานั้นทันที” ก็มีความหมายแต่เพียงว่า ผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดร่วมกับลูกหนี้(จำเลยที่ 1) ในอันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญานี้ทันทีและโดยสิ้นเชิง ภายในต้นเงิน 400,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวเท่านั้นมิได้หมายความว่าจะต้องรับผิดในจำนวนหนี้เท่ากับลูกหนี้แต่อย่างใด ดังนั้นกรณีที่เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2530 จำเลยที่ 3 มีหนังสือขอชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จำนวน 400,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 21 กันยายน 2529 เป็นต้นไปตามหนังสือขอชำระหนี้เอกสารหมาย ล.3 จึงเป็นการขอชำระหนี้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เมื่อหนี้นั้นถึงกำหนดโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 701 วรรคแรกแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 3 ดังกล่าว โดยจะให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ในจำนวนยอดหนี้ของสิ้นเดือนกันยายน 2530 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 558,776.16บาท ตามหนังสือของโจทก์ตอบปฏิเสธการรับชำระหนี้เอกสารหมาย ล.4ซึ่งเป็นจำนวนหนี้ที่เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 3 ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้รายนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 701, 727 ประกอบด้วยมาตรา 744(3) คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นอกจากที่คำนวณจำนวนยอดหนี้ในวันที่ 20 กันยายน 2529 ผิดพลาดไปเล็กน้อยจึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 479,159.58 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 21 กันยายน 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ให้หักเงินที่จำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้โจทก์ 2 ครั้ง รวมจำนวน 5,817.93 บาท จากหนี้ดังกล่าวด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share