คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8001/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบปฏิบัติผิดสัญญาจ้างออกแบบผิดพลาดเกี่ยวกับการใช้สารกันน้ำซึม และฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานปฏิบัติผิดสัญญาจ้างมิได้ตรวจสอบแบบและข้อกำหนดเกี่ยวกับสารน้ำซึมและวัสดุพื้นผิวจราจรที่ใช้ในการก่อสร้างว่าถูกต้องสามารถนำไปใช้งานได้หรือไม่ ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น ฟ้องของโจทก์จึงไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ชำรุดบกพร่อง อันมีอายุความ 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 แต่เป็นการฟ้องให้รับผิดเนื่องจากการผิดสัญญาจ้างธรรมดาคือออกแบบและควบคุมงานผิดพลาดซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
สัญญาจ้างทั้งสองฉบับระบุเรียกชื่อคู่สัญญาฝ่ายจำเลยทุกคนรวมกันว่า “วิศวกร” ซึ่งบ่งบอกถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ส่วนการจัดองค์กรทำงานระหว่างจำเลยด้วยกันเองเป็นเรื่องภายในกลุ่มของจำเลยเองไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แบ่งแยกความรับผิดของจำเลยแต่ละคนต่อโจทก์ได้
ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะต้องศึกษาถึงคุณสมบัติของมาสติคแอสฟัลท์อย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับอุณหภูมิที่จะทำให้มาสติคแอสฟัลท์อ่อนตัวหรือเปลี่ยนรูปเพราะประเทศไทยมีอากาศร้อนและพื้นผิวสะพานที่ออกแบบไว้เป็นเหล็กอากาศร้อนย่อมมีโอกาสที่จะทำให้ความร้อนที่สะสมบนพื้นผิวสะพานที่ทำด้วยเหล็กสูงขึ้นจนทำให้มาสติคแอสฟัลท์อ่อนตัวหรือเปลี่ยนรูปได้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มิได้ศึกษาโดยละเอียดถึงคุณสมบัติของมาสติคแอสฟัลท์ ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นวิศวกรผู้ควบคุมงานมีหน้าที่ต้องตรวจสอบงานแบบของวิศวกรผู้ออกแบบตั้งแต่แรกด้วยความระมัดระวังว่าสารกันน้ำซึมชนิดมาสติคแอสฟัลท์เหมาะสมที่จะใช้กับสะพานที่มีพื้นผิวเป็นเหล็กหรือไม่ แต่กลับไม่ทำการตรวจสอบให้ดี เมื่อผู้รับเหมาทักท้วงก็หาได้รีบทำการตรวจสอบหรือทดสอบให้ได้ความจริง แต่กลับยืนยันในระยะแรกให้ใช้มาสติคแอสฟัลท์จนผู้รับเหมาต้องทักท้วงหลายครั้ง จึงได้ทำการทดสอบและยอมรับว่าไม่เหมาะสม ย่อมเป็นความผิดพลาดบกพร่องไม่ใช้ความรู้ความสามารถตามมาตรฐานวิชาชีพตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานชำระค่าเสียหาย 31,821,821.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2531จนถึงวันฟ้อง 8,068,157.71 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 เมษายน 2531 จนถึงวันฟ้อง 7,783,087.22 บาท และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในต้นเงิน 31,821,821.80 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบร่วมกับจำเลยที่ 1ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานชำระค่าเสียหาย139,937,235.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2531 จนถึงวันฟ้อง 28,745,440.61 บาท และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 139,937,235.79 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 7 ชำระเงินค้ำประกันและดอกเบี้ยร่วมกับจำเลยที่ 1 จำนวน 5,131,928.99 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 5,106,397.01 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 7 ให้การขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกันชำระเงิน 139,937,235.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2ธันวาคม 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 7 ในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดชำระเงิน 5,131,928.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค้ำประกัน 5,106,397.01 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกันชำระเงิน171,759,057.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 7 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน5,106,397.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่จำเลยที่ 7 นำเงินมาวางศาล นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ได้ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นวิศวกรผู้ออกแบบสะพานพระราม 9 ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1และทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นวิศวกรผู้ควบคุมงานตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างดำเนินการก่อสร้างสะพานพระราม 9 ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.3 เมื่อดำเนินการถึงขั้นตอนปูพื้นผิวจราจรชั้นใช้สารกันน้ำซึม ผู้รับเหมาได้ทักท้วงว่ามาสติค แอสฟัลท์ที่วิศวกรผู้ออกแบบกำหนดไม่เหมาะสมในการใช้งาน วิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานจึงได้เห็นชอบให้โจทก์เปลี่ยนมาใช้สารกันน้ำซึม ที.อี.ยู. แทน โจทก์จึงจ้างบริษัท ซี ไอ เอส ปารีส จำกัด และบริษัทเพอร์เฟคบิลท์ จำกัด ร่วมกันปูสารกันน้ำซึม ที.อี.ยู แทน หลังจากนั้นผู้รับเหมาได้ปูพื้นผิวจราจรด้วยแอสฟัลท์ติค คอนกรีตบนสารกันน้ำซึม ที.อี.ยู. จนเสร็จ แต่เมื่อโจทก์เปิดทดลองใช้สะพานไปได้ประมาณ 1 เดือน เกิดความชำรุดที่พื้นผิวจราจรหลายแห่งโจทก์ได้ซ่อมแซมแล้วเสร็จ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วว่าโจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1ถึงที่ 4 เป็นวิศวกรผู้ออกแบบสะพานช่วงยาวข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา(สะพานพระราม 9) ตามสัญญาจ้างเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1และทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นวิศวกรผู้ควบคุมงานให้ร่วมกันควบคุมการก่อสร้างสะพานตามที่วิศวกรผู้ออกแบบได้ออกแบบไว้ ตามสัญญาจ้างเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 แล้วโจทก์ยังบรรยายด้วยว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อผูกพันในสัญญาคือมิได้ใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นไปตามมาตรฐานทางด้านวิชาชีพออกแบบให้ปูสารกันน้ำซึมชนิดมาสติค แอสฟัลท์ ไม่เหมาะสมที่จะใช้กับสะพานพระราม 9 เนื่องจากพื้นผิวสะพานเป็นโครงเหล็กมีอุณหภูมิสูงถึง60 องศาเซนติเกรด ซึ่งจะทำให้มาสติคแอสฟัลท์อ่อนตัว พื้นผิวทางเกิดเป็นคลื่นอย่างรุนแรงและแตกตัวในที่สุด และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5และที่ 6 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานก็ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อผูกพันในสัญญา คือมิได้ตรวจสอบแบบและข้อกำหนดเกี่ยวกับสารกันน้ำซึมและวัสดุพื้นผิวจราจรที่ใช้ในการก่อสร้างว่าถูกต้องสามารถนำไปใช้ในงานก่อสร้างได้ดีหรือไม่ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเปลี่ยนสารกันน้ำซึมจากมาสติค แอสฟัลท์ มาเป็น ที.อี.ยู. ตามคำแนะนำของวิศวกรผู้ควบคุมงานโดยเสียค่าใช้จ่ายในการปูสารกันน้ำซึม ที.อี.ยู. เป็นเงิน35,976,493.50 บาท เกินกว่าที่ปูด้วยสารกันน้ำซึมชนิดมาสติค แอสฟัลท์31,821,821.80 บาท และหลังจากเปิดทดลองใช้สะพานพระราม 9ปรากฏว่าระบบพื้นผิวจราจรชำรุดเสียหายอย่างมาก ในที่สุดต้องรื้อพื้นผิวจราจรออกทั้งหมดและทำพื้นผิวจราจรโดยใช้สารกันน้ำซึมใหม่เสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตลอดจนค่าขาดประโยชน์รวมเป็นเงิน139,937,235.79 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 171,759,057.59 บาทซึ่งเหตุแห่งความเสียหายดังกล่าวเกิดจากความบกพร่องของวิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานที่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ฟ้องของโจทก์จึงได้บรรยายโดยแจ้งชัดถึงข้ออ้างที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานก็เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดทั้งสองฐานะตามข้อผูกพันของสัญญาแต่ละฉบับซึ่งมีความรับผิดแตกต่างกัน หาใช่เป็นการซ้ำซ้อนไม่ สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการซ่อมแซมที่โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าใช้วัสดุชนิดใดเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อ 2 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะผู้ว่าการของโจทก์ฟ้องคดีโดยคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมิได้มอบหมายหรือมีมติให้ฟ้องเป็นการขัดกับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 นั้น เห็นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ข้อ 2 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวไม่ได้บัญญัติว่า การฟ้องคดีโดยผู้ว่าการของโจทก์จะต้องได้รับมอบหมายหรือได้รับมติจากคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยแต่อย่างใดเพียงแต่บัญญัติไว้ในข้อ 17 ว่า “ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกผู้ว่าการเป็นผู้กระทำในนามของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และเป็นผู้กระทำแทนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย…” ซึ่งหมายถึงว่าผู้ว่าการเป็นผู้แทนโจทก์ในการกระทำกิจการต่าง ๆ เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาของจำเลยทั้งเจ็ด ผู้ว่าการซึ่งเป็นผู้แทนของนิติบุคคลย่อมมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 วรรคสอง (มาตรา 75 เดิม)ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อ 3 ว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในมูลผิดสัญญาจ้างทำของ ต้องนำอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 และ 601 มาใช้บังคับ สำหรับความรับผิดในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบ โจทก์ได้รับมอบงานตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม2526 ตามเอกสารหมาย ล.8 และโจทก์ทราบถึงการชำรุดบกพร่องดังกล่าวก่อนวันที่ 21 พฤษภาคม 2530 อันเป็นวันที่โจทก์มีหนังสือถึงวิศวกรผู้ออกแบบให้รับผิดชอบในการออกแบบที่ผิดพลาดตามเอกสารหมายจ.22 ลำดับ 87 ส่วนความรับผิดในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงาน จำเลยที่ 1ส่งมอบงานตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2530 ตามเอกสารหมาย จ.22ลำดับ 73, 89, 91, 92 โจทก์ทราบถึงเหตุแห่งการชำรุดบกพร่องในวันที่ 29ธันวาคม 2530 แต่โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2534 จึงขาดอายุความ 1 ปี แล้วนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบปฏิบัติผิดสัญญาจ้างโดยมิได้ใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นไปตามมาตรฐานทางด้านวิชาชีพ ทำให้ออกแบบผิดพลาดเกี่ยวกับการใช้สารกันน้ำซึมซึ่งไม่เหมาะสมที่จะใช้กับสะพานพระราม 9 เนื่องจากพื้นผิวสะพานเป็นโครงเหล็กมีอุณหภูมิสูง ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นและฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานปฏิบัติผิดสัญญาจ้างโดยมิได้ใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นไปตามมาตรฐานทางด้านวิชาชีพคือ มิได้ตรวจสอบแบบและข้อกำหนดเกี่ยวกับสารกันน้ำซึมและวัสดุพื้นผิวจราจรที่ใช้ในการก่อสร้างว่าถูกต้องสามารถนำไปใช้งานได้หรือไม่ ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น ฟ้องของโจทก์จึงไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 แต่เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดเนื่องจากการผิดสัญญาจ้างธรรมดาคือ ออกแบบและควบคุมงานผิดพลาดซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ฟ้องของโจทก์จึงหาขาดอายุความไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อ 4 ว่า จำเลยที่ 1ถึงที่ 4 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในการออกแบบสะพานพระราม 9 และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในการควบคุมงานก่อสร้างสะพานพระราม 9 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า งานออกแบบก่อสร้างตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ได้แบ่งงานกันเป็นส่วน ๆ ตามความสามารถของวิศวกรแต่ละคนงานออกแบบสะพานช่วงยาวเป็นผลงานการออกแบบของจำเลยที่ 4แต่ผู้เดียว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่เพียงเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางด้านเทคนิคและทรัพยากรเท่าที่มีอยู่ในประเทศไทย และงานควบคุมการก่อสร้างตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 ก็มีการแบ่งงานเป็นส่วน ๆ การควบคุมงานก่อสร้างสะพานช่วงยาวเป็นหน้าที่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ส่วนจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เพียงรับผิดชอบเฉพาะงานทางแยกต่างระดับที่ถนนสุขสวัสดิ์นั้น เห็นว่า สัญญาจ้างตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ตามลำดับ โดยในหน้า 1 ของสัญญาทั้งสองฉบับระบุไว้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 จะร่วมกันทำงานและร่วมรับผิดชอบตามข้อกำหนดในสัญญา และในสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวก็ไม่มีข้อความตอนใดแบ่งแยกความรับผิดของจำเลยแต่ละคนไว้ แต่กลับเรียกชื่อคู่สัญญาฝ่ายจำเลยทุกคนรวมกันว่า “วิศวกร” ซึ่งบ่งบอกถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ส่วนการจัดองค์กรการทำงานระหว่างจำเลยด้วยกันเองตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.3 และ ล.11 เป็นเรื่องภายในกลุ่มของจำเลยเองไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แบ่งแยกความรับผิดของจำเลยแต่ละคนต่อโจทก์ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อ 5 ถึงข้อ 7 ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบ และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5และที่ 6 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานจะต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายของระบบพื้นผิวจราจรบนสะพานพระราม 9 รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการเปลี่ยนสารกันน้ำซึมจากมาสติคแอสฟัลท์เป็น ที.อี.ยู.หรือไม่เพียงใด ในข้อนี้ปรากฏตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องใช้ความรู้ทั้งทางเทคนิคและทางเศรษฐศาสตร์อย่างดีที่สุด และเป็นไปตามมาตรฐานทางด้านวิชาชีพวิศวกรด้วยความชำนาญ เอาใจใส่ขยันหมั่นเพียร และจะต้องดำเนินการให้เป็นประโยชน์ต่อโจทก์มากที่สุดในการออกแบบสะพานให้สามารถก่อสร้างและใช้งานได้เป็นอย่างดี และปรากฏตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานมีหน้าที่และความรับผิดชอบในงานควบคุมการก่อสร้างที่ต้องใช้ความรู้ทางวิชาการวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ และวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างดีที่สุดให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ยอมรับกันทางด้านวิชาชีพนานาชนิด ต้องดำเนินงานด้วยความชำนาญเอาใจใส่ขยันหมั่นเพียร และเป็นประโยชน์ต่อโจทก์มากที่สุด โดยต้องตรวจสอบแบบก่อสร้าง ข้อกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ที่ใช้ในการก่อสร้าง เพื่อให้เกิดความถูกต้องสมบูรณ์ นำไปใช้ในงานก่อสร้างได้สัมฤทธิ์ผลตามความมุ่งหมาย ในกรณีที่ปรากฏข้อผิดพลาดในการออกแบบ ต้องเสนอแนะต่อโจทก์ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบ และข้อกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ออกแบบในส่วนของผิวจราจรบนสะพานเป็นเหล็กแผ่นเรียบ โดยต้องทำความสะอาดขัดสนิมออกจนได้มาตรฐานแล้วจึงฉาบด้วยสารรองพื้นประเภทยางมะตอยหลังจากฉาบพ่นสารรองพื้นแล้วต้องปูสารกันน้ำซึมชนิดมาสติค แอสฟัลท์หนา 8 มิลลิเมตร แล้วปูผิวด้วยแอสฟัลท์ติคคอนกรีต 2 ชั้น หนารวม 7 เซนติเมตร คือ ชั้นที่ 1 ชั้นรองพื้นทางหนา 3.5 เซนติเมตร ชั้นที่ 2 ชั้นผิวทางหนา 3.5 เซนติเมตร ต่อมาเมื่อการก่อสร้างดำเนินมาถึงชั้นปูผิวทาง ผู้รับเหมาได้ทักท้วงต่อจำเลยที่ 1ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 หลายครั้งว่าสารกันน้ำซึมชนิดมาสติค แอสฟัลท์ที่ออกแบบไว้ไม่เหมาะสมกับผิวสะพานที่เป็นเหล็ก ในระยะแรกวิศวกรของจำเลยที่ 1ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ยืนยันให้ใช้มาสติค แอสฟัลท์ แต่ต่อมาภายหลังจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ต่างยอมรับว่า มาสติคแอสฟัลท์ไม่สามารถใช้เป็นวัสดุกันน้ำซึมบนสะพานได้ จึงได้มีการตกลงให้เปลี่ยนสารกันน้ำซึมจากชนิดมาสติค แอสฟัลท์ เป็นทาร์ อีป๊อกซี่ ยูรีเทนหรือ ที.อี.ยู. โดยโจทก์ต้องแก้ไขสัญญากับผู้รับเหมา เสียค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนมาใช้สาร ที.อี.ยู. เป็นเงิน 35,976,493.50 บาท ค่าใช้จ่ายในการปูสารกันน้ำซึมชนิดมาสติค แอสฟัลท์ เดิมเป็นเงิน 4,154,671.70 บาทโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 31,821,821.80 บาท หลังจากปูพื้นผิวจราจรเสร็จและเปิดใช้สะพานพระราม 9 ได้ประมาณ 1 เดือน พื้นผิวจราจรแตกร้าวเสียหาย โจทก์ได้ทำการซ่อมแซมและว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบและสรุปหาสาเหตุของความเสียหาย รวมทั้งออกแบบควบคุมการรื้อและปูผิวจราจรโดยใช้สารกันน้ำซึมใหม่ เสียค่าใช้จ่ายในการนี้เป็นเงินรวม 139,937,235.79 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 171,759,057.59บาท เห็นว่า ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะต้องศึกษาถึงคุณสมบัติของวัสดุที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้างเพื่อให้งานก่อสร้างสำเร็จลุล่วงใช้ประโยชน์ได้สูงสุด การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ออกแบบให้ใช้มาสติค แอสฟัลท์เป็นสารกันน้ำซึมบนพื้นผิวสะพานที่เป็นเหล็กนั้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ควรที่จะศึกษาถึงคุณสมบัติของมาสติค แอสฟัลท์อย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับอุณหภูมิที่จะทำให้มาสติคแอสฟัลท์อ่อนตัวหรือเปลี่ยนรูป เพราะประเทศไทยมีอากาศร้อนและพื้นผิวสะพานที่ออกแบบไว้ก็เป็นเหล็ก อากาศร้อนย่อมมีโอกาสที่จะทำให้ความร้อนที่สะสมบนพื้นผิวสะพานที่ทำด้วยเหล็กสูงขึ้นจนทำให้มาสติค แอสฟัลท์อ่อนตัวหรือเปลี่ยนรูปได้ข้อเท็จจริงปรากฏจากทางพิจารณาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มิได้ศึกษาโดยละเอียดถึงคุณสมบัติของมาสติค แอสฟัลท์ ซึ่งเห็นได้จากการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ตอบคำถามของผู้รับเหมาเกี่ยวกับข้อกำหนดทางเทคนิคของมาสติคแอสฟัลท์ว่าอุณหภูมิที่ทำให้มาสติค แอสฟัลท์ เปลี่ยนรูปอยู่ที่ 90 ถึง140 องศาเซนติเกรด ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 เล่มที่ 3 หน้า 2ของ CLARIFICATION NO.3 และโจทก์ถ่ายสำเนาไว้ตามเอกสารหมายจ.22 ลำดับ 3 หน้า 3 แต่เมื่อผู้รับเหมาทักท้วงต่อจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5และที่ 6 ว่ามาสติค แอสฟัลท์ไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นวัสดุกันน้ำซึมบนสะพานพระราม 9 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ก็หาได้รีบทำการตรวจสอบหรือทดสอบให้ได้ความจริง แต่กลับยืนยันในระยะแรกให้ใช้มาสติค แอสฟัลท์ จนผู้รับเหมาต้องทักท้วงหลายครั้งจึงได้ทำการทดสอบและยอมรับว่ามาสติค แอสฟัลท์ไม่สามารถใช้เป็นวัสดุกันน้ำซึมบนสะพานพระราม 9 ได้ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.22ลำดับ 35 ซึ่งเป็นคำแปลโทรสารลงวันที่ 6 มีนาคม 2530 ของจำเลยที่ 4นอกจากนั้นหัวหน้าวิศวกรประจำจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ยังมีหนังสือลงวันที่ 29 เมษายน 2530 ถึงนายศิวะ เจริญพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการของโจทก์ มีข้อความเกี่ยวกับความเหมาะสมของมาสติค แอสฟัลท์ ว่า”ความไม่แน่ใจทั่ว ๆ ไป เกี่ยวกับความเหมาะสมของวัสดุตามข้อกำหนดเดิมได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง TEERBAUผู้ซึ่งมีประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้วัสดุนี้ตามข้อกำหนด MERK BLATTในยุโรป ได้พิจารณาแล้วว่าอุณหภูมิที่เป็นไปได้ที่ผิวจะขึ้นสูงถึง 45องศาเซนติเกรด สำหรับยุโรป และ 60 องศาเซนติเกรด สำหรับกรุงเทพ-มหานคร การทดสอบการไหล (CREEP TEST) พบว่ามีอุณหภูมิ 60องศาเซนติเกรด ความเป็นไปได้มีมาสติค แอสฟัลท์จะไหลจะเพิ่มขึ้นสูงถึง600% จากที่อุณหภูมิ 45 องศาเซนติเกรด ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงการรับน้ำหนักและความลาดชันของสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพ-มหานครแล้ว เป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถยอมรับได้ของการอ่อนตัวของมาสติค แอสฟัลท์ซึ่งจะทำให้ผิวทางเกิดเป็นคลื่นอย่างรุนแรงและแตกในที่สุด ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นในฤดูร้อนแรกของการเปิดใช้งาน”ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.22 ลำดับ 71 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ออกแบบให้ใช้สารกันน้ำซึมชนิดมาสติค แอสฟัลท์โดยไม่ได้ศึกษาให้ดีเกี่ยวกับคุณสมบัติที่แท้จริงของวัสดุ โดยเฉพาะอุณหภูมิที่จะทำให้วัสดุนั้นอ่อนตัวหรือเปลี่ยนรูป รวมทั้งการคำนวณเกี่ยวกับความร้อนสะสมของโครงสร้างสะพานที่เป็นเหล็กในประเทศที่มีอากาศร้อนเช่นประเทศไทยว่าสมควรจะใช้วัสดุนั้นเป็นสารกันน้ำซึมหรือไม่ ย่อมเป็นความผิดพลาดบกพร่อง ไม่ใช้ความรู้ความสามารถตามมาตรฐานวิชาชีพตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นวิศวกรผู้ควบคุมงาน มีหน้าที่ต้องตรวจสอบแบบของวิศวกรผู้ออกแบบตั้งแต่แรกด้วยความระมัดระวังว่าสารกันน้ำซึมชนิดมาสติค แอสฟัลท์เหมาะสมที่จะใช้กับสะพานที่มีพื้นผิวเป็นเหล็กหรือไม่ แต่กลับไม่ทำการตรวจสอบให้ดีแม้ผู้รับเหมาจะได้ทักท้วงครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2529 ตามเอกสารหมาย จ.22 ลำดับ 5 แต่วิศวกรผู้ควบคุมงานก็ยังคงยืนยันในระยะแรกให้ใช้มาสติค แอสฟัลท์ และให้ผู้รับเหมาส่งตัวอย่างวัสดุพร้อมแผนงานเพื่อตรวจสอบ จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2530 จึงได้มีความเห็นว่ามาสติค แอสฟัลท์ยังคงเป็นสารกันน้ำซึมได้ เพียงแต่ต้องปรับปรุงบ้างและในเดือนเมษายน 2530 จึงยอมรับว่ามาสติค แอสฟัลท์ไม่เหมาะสม รวมระยะเวลาที่เสียไปถึง 9 เดือน ทำให้เกิดความล่าช้าแก่โครงการก่อสร้างโดยเฉพาะระยะเวลาการทดสอบหาสารกันน้ำซึมชนิดใหม่ที่มีคุณภาพเหมาะสม ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3ที่ 5 และที่ 6 บกพร่องต่อหน้าที่ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นเช่นกัน

สำหรับความรับผิดในความเสียหายของระบบพื้นผิวจราจรบนสะพานพระราม 9 รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการเปลี่ยนวัสดุกันน้ำซึมจากมาสติค แอสฟัลท์มาเป็น ที.อี.ยู. นั้น เห็นว่า การว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นวิศวกรผู้ออกแบบและให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5และที่ 6 เป็นวิศวกรผู้ควบคุมงานนั้นมุ่งประสงค์ให้การก่อสร้างสะพานสัมฤทธิ์ผลใช้งานได้ตามความมุ่งหมาย การที่วิศวกรผู้ออกแบบผิดพลาดบกพร่องและวิศวกรผู้ควบคุมงานก็บกพร่องในการตรวจสอบแบบและควบคุมงานดังที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วเป็นเหตุให้ต้องเปลี่ยนสารกันน้ำซึมจากมาสติค แอสฟัลท์มาเป็น ที.อี.ยู. โดยความเห็นชอบของวิศวกรดังกล่าว แต่ทั้งวิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานซึ่งทราบดีถึงปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้วก็มิได้ทำการทดสอบให้แน่ชัดว่าคุณภาพของสาร ที.อี.ยู. สามารถใช้งานได้ดีก่อนทำการปูพื้นผิวสะพานทั้งหมดเพราะเมื่อทำการทดสอบปูสาร ที.อี.ยู. และแอสฟัลท์ติค คอนกรีตซึ่งเป็นชั้นรองพื้นทาง และชั้นผิวทางแล้วปรากฏว่าแอสฟัลท์ติค คอนกรีตไม่มีแรงยึดติดกับสาร ที.อี.ยู. วิศวกร ผู้ควบคุมงานจึงให้เพิ่มส่วนผสมของยางมะตอยให้มากขึ้น ผู้รับเหมาก่อสร้างได้ทักท้วงว่าอากาศร้อนจะทำให้ผิวทางเกิดการเยิ้มไหล วิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานก็มิได้ทำการแก้ไข ส่วนผสมและทดสอบให้เกิดความมั่นใจว่าจะใช้งานได้ดีในสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยแต่กลับสั่งให้ปูพื้นผิวไปจนเสร็จ ปรากฏว่าเมื่อเปิดใช้สะพานได้ประมาณ 1 เดือน พื้นผิวก็เกิดความเสียหาย ซึ่งนายริชาร์ด อี รูท ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทดสอบออกแบบผลิตภัณฑ์ยางมะตอยที่โจทก์จ้างมาตรวจสอบและสรุปหาสาเหตุของความเสียหายเบิกความว่า สาเหตุที่พื้นผิวจราจรแตกเนื่องจากการเคลื่อนตัวของชั้น ที.อี.ยู. ทั้งสองชั้น และการเคลื่อนตัวของชั้น ที.อี.ยู. กับชั้นรองผิวทาง ผิวจราจรบิดตัวเสียหายเนื่องจากส่วนผสมของแอสฟัลท์ของชั้นผิวทางกับชั้นรองผิวทางไม่เหมาะสมเป็นเหตุให้ผิวจราจรบิดตัวและน้ำยางล้นออกมาบนผิวทาง วิธีการแก้ไขจะต้องรื้อวัสดุที่อยู่เหนือพื้นผิวเหล็ก (STEEL DECK) ออกทั้งหมดแล้วใช้วัสดุใหม่ในการก่อสร้าง ดังนั้น เห็นได้ว่าสาเหตุของความเสียหายทั้งหมดเกิดจากความบกพร่องในการออกแบบและควบคุมงานเกี่ยวกับการใช้วัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพไม่เหมาะสมแก่การใช้งาน วิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นรวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการเปลี่ยนสารกันน้ำซึมจำนวน31,821,821.80 บาท ด้วย ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การที่ผู้ออกแบบเลือกใช้มาสติค แอสฟัลท์ เป็นสารกันน้ำซึมเนื่องจากเป็นวัสดุที่มีความเหมาะสมที่สุดในขณะออกแบบและผู้ออกแบบไม่มีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องคิดค้นหรือประดิษฐ์วัสดุใด ๆ ขึ้นใหม่เพื่อใช้งานนั้น เห็นว่า การที่ผู้ออกแบบจะเลือกใช้วัสดุใดในการก่อสร้าง ผู้ออกแบบควรที่จะต้องทราบถึงคุณสมบัติของวัสดุนั้นว่าใช้งานได้ดีหรือไม่ หากไม่แน่ใจก็ควรจะทดสอบให้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจก่อนที่จะกำหนดให้ใช้วัสดุนั้น การกำหนดใช้วัสดุให้ถูกต้องกับการคิดค้นประดิษฐ์วัสดุขึ้นใหม่เป็นคนละเรื่องกัน เมื่อจำเลยที่ 1รับออกแบบจำเลยที่ 1 ก็ต้องกำหนดหรือหาวัสดุที่จะใช้งานได้กับแบบที่ออกมา กล่าวคือ เมื่อจำเลยที่ 1 ออกแบบโครงสร้างและพื้นผิวสะพานเป็นเหล็ก จำเลยที่ 1 ก็ต้องกำหนดหรือหาวัสดุที่จะใช้ปูพื้นผิวสะพานที่เป็นเหล็กให้ใช้งานได้ หากไม่สามารถหาวัสดุดังกล่าวได้เพราะไม่มีในประเทศไทยหรือไม่มีเวลาเพียงพอที่จะทำการทดสอบการใช้งานจำเลยที่ 1ก็จะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบและปรึกษาหาทางแก้ไข มิใช่กำหนดวัสดุหรือเปลี่ยนแปลงวัสดุโดยเพียงแต่เข้าใจว่าน่าจะใช้งานได้หรือทำการทดสอบผิวเผินแล้วทำการก่อสร้างไปจนเกิดความเสียหายขึ้น ซึ่งไม่อาจทำให้จำเลยที่ 1 พ้นความรับผิดได้ และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์พิจารณาเลือกสรร ที.อี.ยู. เพราะราคาถูกกว่า บริษัทผู้ผลิต ที.อี.ยู. รับประกันผลงาน5 ปี จึงมีเหตุผลสำคัญอย่างเพียงพอให้วิศวกรตัดสินใจไม่คัดค้าน และเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น โจทก์ไม่ใช้สิทธิตามหนังสือรับประกันให้บริษัทผู้ผลิต ที.อี.ยู. ใช้ค่าเสียหาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้วิศวกรรวมถึงจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ออกแบบและควบคุมงานให้งานก่อสร้างสัมฤทธิ์ผลใช้งานได้ เมื่อการออกแบบกำหนดให้ใช้สารกันน้ำซึมครั้งแรกไม่ถูกต้องแล้วมีการเปลี่ยนมาใช้สาร ที.อี.ยู.โดยวิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานเห็นชอบโดยไม่ตรวจสอบหรือทดสอบให้แน่ชัดเสียก่อน จึงไม่อาจอ้างเหตุว่าโจทก์เป็นคนเลือกสรรที.อี.ยู. และมีการรับประกันโดยบริษัทผู้ผลิตเพื่อให้ตนเองพ้นผิดได้ส่วนการที่โจทก์ไม่เรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทผู้ผลิต ที.อี.ยู. นั้นก็เป็นสิทธิในส่วนของโจทก์ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้ว ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ละเลยเปิดโอกาสให้รถบรรทุกหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดมาใช้เส้นทางสะพานพระราม 9 ทำให้เกิดความเสียหายแก่พื้นผิวจราจรนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ทราบดีว่าการออกแบบสะพานนั้นมีข้อกำหนดจำเพาะให้รับน้ำหนักยานพาหนะหนัก60 ตัน และน้ำหนักรถบรรทุก 10 ล้อ ในเมืองไทยเท่าที่พบหนักมากที่สุดเพียง 40 ตัน ตามที่ปรากฏในมาตรฐานการออกแบบและการวิเคราะห์เอกสารหมาย จ.103 หน้า 2 จำเลยที่ 1 จึงมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนการแข่งขันวิ่งมาราธอนบนสะพานนั้นน้ำหนักจำนวนคนหลายหมื่นคนไม่น่าจะทำให้พื้นผิวบนสะพานเสียหาย เพราะน้ำหนักจำนวนคนย่อมจะน้อยกว่าน้ำหนักรถบรรทุกซึ่งวิ่งบนสะพานเต็มเนื้อที่อีกทั้งไม่ปรากฏความเสียหายหลังจากการวิ่งมาราธอน แต่ความเสียหายเกิดขึ้นหลังจากเปิดใช้สะพานได้ประมาณ 1 เดือน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อ 8 ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงไร โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่เคยปิดซ่อมแซมผิวจราจรทั้งหมด โจทก์จึงไม่ขาดรายได้เลย ทั้งส่วนที่เสียหายมีเพียง250 ตารางเมตร ตารางเมตรละ 1,000 บาท ค่าเสียหายจึงไม่เกิน250,000 บาท โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์เนื้อที่ของความเสียหายที่แท้จริงเอกสารหมาย ล.5 แสดงให้เห็นว่าพื้นผิวจราจรมีเพียง 18,750 ตารางเมตรการที่โจทก์ดำเนินการรื้อก่อสร้างใหม่มากกว่าส่วนที่เสียหายจริง 250ตารางเมตร จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่เกินนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่ได้ปิดการจราจรทั้งหมดระหว่างซ่อมแซมผิวจราจร แต่การซ่อมแซมผิวจราจรโดยปิดการจราจรเพียงบางช่องย่อมทำให้การจราจรติดขัด ผู้ใช้เส้นทางซึ่งไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควรย่อมจะหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางนั้น และโจทก์ต้องซ่อมแซมพื้นผิวสะพานตลอดมาจนกระทั่งปี 2538 ก็ยังไม่แล้วเสร็จ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยเชื่อว่าความเสียหายแท้จริงส่วนนี้มากกว่าที่โจทก์ขอมา 30,000,000 บาท จึงกำหนดให้ตามขอนั้นชอบแล้ว ส่วนพื้นที่ความเสียหายนั้นได้ความจากคำเบิกความของนายประเสริฐ สอนบุตรนาค ซึ่งเป็นวิศวกรควบคุมการก่อสร้างฝ่ายผู้รับเหมาว่า สะพานพระราม 9 มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 25,000ตารางเมตร มีช่องทางจราจรทั้งหมด 6 ช่องทาง และมีไหล่ทางทั้งสองข้าง และปรากฏจากเอกสารหมาย จ.128 ซึ่งเป็นสัญญาจ้างให้ทำการเปลี่ยนพื้นผิวจราจรบนสะพานพระราม 9 ว่า สะพานพระราม 9 มีพื้นผิวจราจร 20,305 ตารางเมตร และพื้นผิวทางเท้าและพื้นผิวตรงกลาง(FOOTPATHS AND MEDIANS) 6,100 ตารางเมตร แสดงว่าเมื่อรวมพื้นผิวจราจร พื้นผิวทางเท้าและพื้นผิวตรงกลางแล้วมีพื้นผิวรวมทั้งสิ้นกว่า 25,000 ตารางเมตร มิใช่มีเพียง 18,750 ตารางเมตรตามเอกสารหมาย ล.5 ซึ่งเป็นเพียงแผ่นพับโฆษณาสะพานพระราม 9สำหรับพื้นที่ความเสียหายนั้น โจทก์มีนายสมบัติ ปานเอี่ยม หัวหน้าแผนกบำรุงรักษาสะพานมาเบิกความเป็นพยานว่าหลังจากเปิดใช้สะพานพระราม 9 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2530 แล้วประมาณ 1 เดือนผิวสะพานเสียหายต้องทำการซ่อมแซมเพื่อให้ใช้ได้ชั่วคราวตลอดมาจนถึงขณะพยานเบิกความในเดือนพฤศจิกายน 2537 โดยซ่อมแซมเฉพาะส่วนที่เกิดความเสียหายเป็นจุด ๆ เพื่อให้รถวิ่งไปมาได้สะดวกรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมในส่วนที่โจทก์ซ่อมแซมเองปรากฏตามเอกสารหมาย จ.109 และ จ.110 ซึ่งจากเอกสารดังกล่าวเห็นได้ว่าการซ่อมแซมบางครั้งก็มีพื้นที่ไม่ถึง 250 ตารางเมตร บางครั้งก็เกินกว่า 250 ตารางเมตร แสดงว่าพื้นที่ความเสียหายมิใช่มีเพียง250 ตารางเมตร ดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในค่าซ่อมแซมส่วนนี้จำนวน 7,788,812.23 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาเกี่ยวกับการคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างจำนวน 1,078,750.80 บาท การออกแบบทดสอบและประเมินผิวจราจรจำนวน 3,805,372 บาท การควบคุมการก่อสร้างซ่อมแซมผิวทางจำนวน10,760,025 บาท ค่าว่าจ้างนายริชาร์ด อี รูท กับพวกศึกษาหาสาเหตุของความเสียหายพร้อมเสนอแนะวิธีและมาตรการเพื่อซ่อมแซมผิวจราจรจำนวน 1,004,275.76 บาท ค่ารื้อพื้นผิวจราจ

Share