คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 381/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในชั้นอุทธรณ์โจทก์ไม่ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยในเรื่องจุดชนว่าอยู่ในทางเดินรถของจำเลยที่ 2การที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าจุดชนอยู่ในทางเดินรถของจำเลยที่ 2จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ ย่อมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 47, 157จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 47, 157 เป็นกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนจำเลยที่ 2ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157ที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปรากฏว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์โดยสารปรับอากาศแซงรถคันอื่นล้ำเข้าไปในทางของรถจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 2 หลบไม่ทันจึงเฉี่ยวชนกับรถของจำเลยที่ 1 ขณะที่แล่นสวนทางมาในระยะกระชั้นชิด รถทั้งสองคันได้รับความเสียหายและจำเลยที่ 1 ได้รับอันตาายแก่กายสาหัส และศาลล่างทั้งสองศาลวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ขับรถโดยประมาทมีความผิดตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 1นั้นศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยที่ 1 ขับรถโดยไม่ระมัดระวัง ได้เห็นรถจำเลยที่ 2 ที่ขับแซงสวนทางมาแล้วไม่ชะลอความเร็ว ไม่เหยียบห้ามล้อหยุดรถแอบซ้ายสุด ยังขับต่อไปด้วยความเร็ว 70-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จนเกิดเฉี่ยวชนกับรถจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทด้วย มีความผิดตามฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้นำสืบว่าจำเลยทั้งสองขับรถสวนทางกันจำเลยที่ 1 ขับรถแซงรถคันอื่นขึ้นไป และจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์โดยสารปรับอากาศแซงรถยนต์โดยสารอีกคันหนึ่งขึ้นไปแล้วรถของจำเลยทั้งสองได้เฉี่ยวชนกัน มีเศษกระจกของรถจำเลยที่ 1 ตกอยู่ในทางของรถจำเลยที่ 2 ตามบันทึกการตรวจที่เกิดเหตุและแผนที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.1 จ.2 และมีพนักงานสอบสวนพยานโจทก์มาเบิกความยืนยันว่ามีเศษกระจกของรถจำเลยที่ 1 ตกอยู่ในทางรถของจำเลยที่ 2 พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวฟังได้ว่าจุดที่รถเฉี่ยวชนกันเกิดในทางของรถจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำแก้ฎีกาว่าการที่โจทก์ฎีกาในเรื่องจุดชนดังกล่าวอยู่ในทางของรถจำเลยที่ 2ซึ่งโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ในเรื่องนี้ไว้ จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ในชั้นศาลอุทธรณ์ โจทก์ไม่ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยในเรื่องจุดชนโดยอ้างว่า เหตุที่รถเกิดชนกันขึ้นมีพยานหลักฐานแสดงว่าได้เกิดขึ้นในทางของรถจำเลยที่ 2 ดังนั้นที่โจทก์ฎีกาว่า จุดที่รถของจำเลยทั้งสองชนกันอยู่ในทางของรถจำเลยที่ 2 จึงเป็นการยกเว้นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในชั้นศาลอุทธรณ์ ฎีกาโจทก์ข้อนี้จึงไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าเหตุที่รถของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้เกิดการชนกันขึ้นนั้น เป็นเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 ด้วยโดยขณะเกิดเหตุรถของจำเลยที่ 2 เป็นรถขนาดใหญ่แล่นสวนทางมา จำเลยที่ 1 ย่อมมองเห็นได้ในระยะไกลและเมื่อเห็นรถของจำเลยที่ 2ล้ำเข้ามาในทางของรถจำเลยที่ 1 ด้วยความเร็ว ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องระมัดระวังชะลอความเร็วลงให้มากและขับชิดขอบทางด้านซ้ายหรือหยุดแอบข้างทางให้ปลอดภัยเสียก่อนจำเลยที่ 1 หาได้กระทำไม่ ยังขับสวนทางขึ้นไปจึงเกิดเฉี่ยวชนกับรถของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ต้องมีความผิดฐานขับรถโดยประมาทนั้นได้ความจากนายสุวรรณ พรหมอยู่ประจักษ์พยานโจทก์ว่า คืนเกิดเหตุพยานขับรถตามหลังรถของจำเลยที่ 1 ทิ้งระยะห่างประมาณ 30-40 เมตร โดยใช้ความเร็วประมาณ70-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเห็นว่า จำเลยที่ 1 ใช้ความเร็วพอสมควรและได้ความจากจำเลยที่ 1 ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ชะลอความเร็วแล้วและขับรถชิดซ้ายฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังตามควรแก่พฤติการณ์ในภาวะของวิญญูชนที่อยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นจำเลยที่ 1ไม่ได้ประมาท”
พิพากษายืน

Share