แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยชำระค่าเช่าซื้อเกินกำหนดเวลาและบางครั้งชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบจำนวน โจทก์ยินยอมรับไว้โดยมิได้ทักท้วงแสดงว่าโจทก์และจำเลยปฏิบัติต่อกันโดยมิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อรวมทั้งจำนวนเงินค่าเช่าซื้อแต่ละงวดตามสัญญาเป็นสาระสำคัญอีกต่อไป ถือได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างเจตนาระงับข้อสัญญาเกี่ยวกับการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าหรือไม่ตรงตามจำนวนเงินว่าเป็นการผิดนัดผิดสัญญาแล้ว ดังนั้นหากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ก่อน เมื่อโจทก์มิได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระแก่โจทก์จะถือว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันยังไม่ได้ โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากโจทก์ 1 คันโดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน แล้วจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อสัญญาจึงเลิกกัน โจทก์ได้รับรถยนต์คืนแล้วขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชำระเงิน 300,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อมาตลอดไม่เคยผิดสัญญา ต่อมาโจทก์ไม่ส่งพนักงานมาเก็บเงิน จำเลยที่ 1จึงนำรถยนต์คืนโจทก์เองโดยโจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญา ซึ่งโจทก์ยอมรับไว้ในสภาพพอใจ โจทก์จึงไม่เสียหายหรือเสียหายก็ไม่เกิน10,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงิน 150,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2530 และโจทก์ยอมรับโดยไม่ทักท้วงนั้น ย่อมหมายความว่าจนถึงวันที่ 23 กันยายน 2530สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังไม่เลิกกัน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันตั้งแต่วันที่ 19กันยายน 2529 ซึ่งตรงกับตามคำฟ้องของโจทก์นั้นย่อมไม่อาจรับฟังได้แม้สัญญาเช่าซื้อจะตกลงกันไว้ตามข้อ 8 มีใจความว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดยอมให้ถือว่า สัญญานี้เลิกกันโดยโจทก์มิต้องบอกกล่าวก่อน และตามข้อ 10 มีใจความว่าถ้าโจทก์ยอมผ่อนผันกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดหรือผิดสัญญาครั้งใดอย่างใดไม่ให้ถือว่าเป็นการผ่อนผันการผิดนัดหรือผิดสัญญาครั้งอื่นอย่างอื่นก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อเกินกำหนดเวลาและบางครั้งชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบจำนวนนั้น โจทก์ยินยอมรับไว้โดยมิได้ทักท้วงแต่อย่างใด พฤติการณ์แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1ปฏิบัติต่อกันโดยมิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อรวมทั้งจำนวนเงินค่าเช่าซื้อแต่ละงวดตามสัญญาเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญอีกต่อไป จึงถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างเจตนาระงับข้อสัญญาเกี่ยวกับการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าหรือไม่ตรงตามจำนวนเงินเป็นการผิดนัดผิดสัญญาตามข้อ 8 และข้อ 10 ดังกล่าวแล้ว ดังนั้น กรณีหากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาก็จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ก่อน กล่าวคือต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ติดค้างอยู่ ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้น โจทก์จึงจะบอกเลิกสัญญาได้เมื่อโจทก์มิได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระแก่โจทก์ จะถือว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันยังไม่ได้โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายตามฟ้องจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์จึงเป็นกรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ได้ด้วย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์