แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อข้อบังคับของสมาคมบัญญัติว่า ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินเพื่อกิจการของสมาคมได้ และเหรัญญิกจะจ่ายเงินของสมาคมทุกครั้งจะต้องได้รับอนุมัติจากนายกสมาคมก่อน การลงชื่อในเช็คเพื่อจ่ายเงินของสมาคม ให้นายก เหรัญญิก และเลขาธิการลงชื่อร่วมกันโดยประทับตราของสมาคมไว้ เมื่อข้อบังคับบัญญัติไว้เช่นนี้ จำเลยที่ 2, 3, 4 จึงทำสัญญาแทนสมาคมได้ สมาคมจึงต้องรับผิดตามสัญญานั้น
สมาคมกู้เงินธนาคารโจทก์โดยวิธีเบิกเงินเกินบัญชี ต่อมาภายในกำหนดอายุความ นายกสมาคมคนใหม่ได้มีหนังสือถึงธนาคารรับว่าเป็นหนี้ธนาคารโจทก์จริง และขอปิดบัญชีส่วนหนี้ซึ่งค้างชำระจะขอผ่อนชำระให้จนกว่าจะหมดสิ้น จึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ อายุความฟ้องร้องจึงสะดุดหยุดลง คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ประเพณีการค้าที่คำนวณดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดหรือในการค้าอย่างอื่นในทำนองเดียวกัน แม้กฎหมายยอมให้คิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นพิเศษก็ดี แต่ถ้าบัญชีเดินสะพัดนั้นมีการหักทอนหนี้และเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือ อันเป็นการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856, 859 และลูกหนี้ผิดนัดแล้วซึ่งลูกหนี้จะเบิกเงินเกินบัญชีไม่ได้ ย่อมไม่มีเหตุที่ธนาคารจะอ้างมาคิดดอกเบี้ยทบต้นต่อไป ทั้งตามกฎหมายก็ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ตกลงกู้เงินโจทก์โดยวิธีเบิกเงินเกินบัญชีในวงเงินไม่เกิน 32,000 บาท มีกำหนด 1 เดือน จำเลยที่ 2, 3, 4 เข้าทำสัญญาค้ำประกันรับผิดชอบต่อโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้และดอกเบี้ยรวม 65,891.68 บาท โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระจำเลยได้ให้กรรมการและเลขาธิการติดต่อมาขอผัดหนี้ ในที่สุดก็ไม่ชำระขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ตามข้อบังคับของสมาคมไม่มีวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงิน การที่จำเลยที่ 2, 3, 4 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ หากเป็นความจริงก็กระทำไปในฐานะส่วนตัว ไม่ใช่ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1และไม่ได้นำเงินมาใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่เคยรับหนังสือทวงถามหนี้ และไม่เคยรับสภาพหนี้ตามกฎหมาย เลขาธิการของสมาคมจำเลยไม่มีอำนาจรับสภาพหนี้แทนจำเลย คดีของโจทก์ขาดอายุความ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ศาลยกฟ้อง
จำเลยที่ 2, 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 4 ให้การรับว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ไปจริงตามฟ้อง และจำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ต่อโจทก์ไว้จริง แต่จำเลยประกันเฉพาะภายในกำหนด 1 เดือนเท่านั้น ต่อมาโจทก์ได้ขยายเวลากำหนดชำระหนี้อันแน่นอนออกไปให้คณะกรรมการของจำเลยที่ 1 ทุกชุด เป็นเวลาต่อเนื่องกันเกินกว่า 10 ปีแล้ว โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้เลยและกรรมการของจำเลยที่ 1 ชุดหลัง ๆ ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้แทนจำเลย โจทก์ก็ยินยอมตกลงจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาที่โจทก์ฟ้องคดีโจทก์ขาดอายุความ ความจริงจำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินพอจะชำระหนี้โจทก์ได้
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์และค้างชำระดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันฟ้องจริง หนี้ของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ ส่วนจำเลยที่ 2, 3, 4 เป็นผู้เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้จำเลยที่ 1 ภายในกำหนด 1 เดือน เงินที่จำเลยที่ 1 เบิกมาในระยะ 1 เดือน จำเลยที่ 1 ก็ได้ชำระแล้ว จำเลยที่ 2, 3, 4 จึงหมดความรับผิดชอบ พิพากษาให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้ตามฟ้อง ส่วนคดีเฉพาะจำเลยที่ 2, 3, 4 ให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าใน พ.ศ. 2498 จำเลยที่ 2, 3, 4 เป็นกรรมการของสมาคมจำเลยที่ 1 และได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับโจทก์ เดิมเมื่อจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลได้มีบัญชีเงินฝากอยู่กับโจทก์ ตามข้อบังคับของสมาคมจำเลยบัญญัติเกี่ยวกับการเงินไว้ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินเพื่อกิจการของสมาคมได้ และเหรัญญิกจะจ่ายเงินของสมาคมทุกครั้งจะต้องได้รับอนุมัติจากนายกสมาคมก่อน การลงชื่อในเช็คเพื่อจ่ายเงินของสมาคม ให้นายกเหรัญญิกและเลขาธิการลงชื่อร่วมกันโดยประทับตราของสมาคมไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาลฎีกาเชื่อว่าจำเลยที่ 2, 3, 4 ได้เข้าทำสัญญาแทนจำเลยที่ 1 โดยสุจริตจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์
สำหรับหนี้ขาดอายุความหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์จริงตามหนังสือที่โจทก์ทวงถามและขอปิดบัญชีเพียงวันที่ 31 กรกฎาคม 2504 หนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์อยู่ จำเลยที่ 1 ก็จะขอผ่อนชำระจนกว่าจะหมดสิ้น จึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ตามหนังสือลงวันที่ 4 ตุลาคม 2504 ที่จำเลยที่ 1 ยืนยันกับโจทก์ อายุความฟ้องร้องจึงสะดุดหยุดลง คดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์
พิพากษายืน