แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประเด็นต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า หลังจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้วโจทก์ได้รับเงินต่าง ๆ จากจำเลยและโจทก์ทำบันทึกสละสิทธิในการที่จะเรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินหรือข้อเรียกร้องอื่นใดตามกฎหมายต่อไปทั้งสิ้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากจำเลย เมื่อเป็นข้อที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การแล้ว แม้ศาลแรงงานกลางมิได้กำหนดไว้เป็นประเด็นโดยตรงว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ หรือการที่โจทก์ทำบันทึกสละสิทธิในการเรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินหรือข้อเรียกร้องอื่นใดตามบันทึกดังกล่าวแล้ว โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามฟ้องจากจำเลยอีกหรือไม่ก็ตาม แต่ศาลแรงงานกลางได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ หากเลิกจ้างไม่เป็นธรรม สมควรที่จะให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมหรือให้ใช้ค่าเสียหายเพียงใด ดังนั้น ประเด็นที่ว่าให้ใช้ค่าเสียหายเพียงใดจึงเป็นประเด็นซึ่งครอบคลุมถึงข้อต่อสู้ดังกล่าวของจำเลยไว้ด้วยแล้ว
จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อกฎหมายซึ่งศาลแรงงานมิได้นำมาวินิจฉัยแต่เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานฟังมาพอแก่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายแล้วศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาใหม่ ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์และจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้าง7 เดือน เป็นเงิน เงินช่วยเหลือจำนวน 300,000 บาท และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 872,374 บาท ให้แก่โจทก์แล้ว และโจทก์ได้ทำหนังสือรับเงินชดเชยค่าตอบแทนในการเลิกจ้างให้ไว้แก่จำเลยระบุว่า โจทก์ขอสละสิทธิในการที่จะเรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินหรือข้อเรียกร้องอื่นใดตามกฎหมายต่อไปทั้งสิ้น เมื่อค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นเงินตามกฎหมายอย่างหนึ่ง แต่มิใช่เป็นเงินค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ย่อมสละเงินดังกล่าวได้ การที่โจทก์ทำบันทึกสละสิทธิในการเรียกร้องเงินดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามฟ้องจากจำเลยอีก