แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนซึ่งเป็นพยานบอกเล่า แม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 จะอนุญาตให้อ้างเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 2 ได้ แต่การใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะมิใช่เป็นพยานหลักฐานที่ดีที่สุดที่โจทก์พึงนำมาแสดง ดังนั้น จึงต้องพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และพฤติการณ์ในการได้มาซึ่งคำให้การรับสารภาพดังกล่าวด้วย
แม้คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ตามบันทึกการจับกุมจะมีใจความสอดคล้องกับคำเบิกความของพันตำรวจตรี ว. แต่บันทึกคำให้การรับสารภาพที่พันตำรวจตรี ว. ได้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเขียนบันทึกคำให้การรับสารภาพ โดยให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ กลับมีใจความที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คงมีแต่ข้อความในสามบรรทัดสุดท้ายเท่านั้นที่พอจะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่จำเลยที่ 2 ถูกตรวจค้นและจับกุมในขณะเกิดเหตุ แต่ก็มิได้แสดงให้เห็นด้วยว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีนของกลาง พยานหลักฐานโจทก์เกี่ยวกับคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นจับกุมจึงขัดแย้งกันเองในข้อสำคัญ และมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อของพยานหลักฐานโจทก์เกี่ยวกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นสอบสวนด้วย เพราะนอกจากคำให้การตามคำให้การรับสารภาพซึ่งวินิจฉัยว่าเป็นคำให้การปฏิเสธ จะขัดแย้งตรงกันข้ามกับคำให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาแล้ว ยังปรากฏว่าหลังจากเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 กับพวกเวลา 0.30 นาฬิกา จนถึงเวลาที่จำเลยที่ 2 ถูกส่งตัวให้แก่พนักงานสอบสวน จำเลยที่ 2 ถูกสอบปากคำอย่างต่อเนื่องโดยเจ้าพนักงานตำรวจหลายคนเป็นเวลาประมาณ 8 ชั่วโมง และเมื่อพันตำรวจตรี ช. พนักงานสอบสวนได้รับตัวจำเลยที่ 2 ไว้แล้ว ได้ทำการสอบปากคำจำเลยที่ 2 ต่อเนื่องไปจนถึงเวลา 12 นาฬิกา ที่นำตัวจำเลยส่งไปชี้ที่เกิดเหตุและถ่ายภาพไว้ด้วย ดังนั้น การสอบปากคำจำเลยที่ 2 ในชั้นสอบสวนรวมทั้งการนำจำเลยที่ 2 ไปชี้ที่เกิดเหตุและถ่ายภาพจึงมีเหตุสมควรสงสัยว่าน่าจะเกิดขึ้นระหว่างที่จำเลยที่ 2 มีความเหนื่อยล้าอ่อนเพลียทั้งร่างกายและจิตใจ และมีผลกระทบต่อน้ำหนักความน่าเชื่อของคำรับสารภาพที่ได้รับจากจำเลยที่ 2 ด้วย พยานหลักฐานโจทก์เกี่ยวกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นสอบสวนจึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 และริบของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 38 ปี จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 19 ปี ส่วนจำเลยที่ 1 แม้ให้การรับสารภาพแต่กลับเบิกความช่วยจำเลยที่ 2 จึงเห็นสมควรลดโทษให้เพียงหนึ่งในสาม เท่ากับจำเลยที่ 2 ซึ่งให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 25 ปี 4 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์มือถือของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (เดิม) จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 19 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า ก่อนเกิดเหตุ พันตำรวจตรีวาทินซึ่งเป็นสารวัตรสืบสวนได้รับรายงานจากสายลับว่าจะมีผู้นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งมอบให้แก่ลูกค้าในท้องที่ตำบลทับกฤช อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ จึงตั้งด่านตรวจที่ตู้สายตรวจตำบลทับกฤชตั้งแต่เวลา 21 นาฬิกา ของวันที่ 27 ธันวาคม 2544 เพื่อตรวจค้นรถที่ผ่านไปมาจนถึงเวลาเที่ยงคืนก็ยังไม่พบผู้กระทำความผิด พันตำรวจตรีวาทินจึงใช้วิธีการนำกำลังออกตรวจท้องที่แทน และเมื่อถึงบริเวณศาลาเกิดเหตุ พบจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นหญิง 2 คน และชาย 1 คน ตรงกับที่สายลับรายงานว่าเป็นคนที่จะนำเมทแอมเฟตามีนมาส่งมอบ พันตำรวจตรีวาทินกับพวกจึงเข้าไปแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ขอทำการตรวจค้นและยึดได้เมทแอมเฟตามีนของกลางตามที่ฟังได้ยุติข้างต้น และจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ปรากฏตามบันทึการจับกุม หมาย จ. 1 และบันทึกคำให้การรับสารภาพ หมาย จ. 4 กับบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา หมาย จ. 9 และนำชี้ที่เกิดเหตุตามบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ หมาย จ. 11 กับภาพถ่าย หมาย จ. 12 และ จ. 14 ตามลำดับ
จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 รู้จักจำเลยที่ 1 ก่อนเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน เนื่องจากมีความรักใคร่ชอบพอกัน เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2544 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์รับจำเลยที่ 2 ไปเที่ยวงานกาชาดที่ตลาดปากน้ำโพ และออกจากงานเพื่อกลับบ้านเมื่อเวลาประมาณเที่ยงคืน เมื่อผ่านศาลาที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 แวะเข้าไปจอดรถพูดกับหญิงคนหนึ่งซึ่งอยู่ในศาลานั้น ส่วนจำเลยที่ 2 ยืนรออยู่ ต่อมาไม่นานนัก มีเจ้าพนักงานตำรวจเข้ามาจับกุมและค้นพบเมทแอมเฟตามีนได้ที่ใต้ถุนศาลาเกิดเหตุซึ่งจำเลยที่ 2 ให้การว่าไม่รู้เรื่อง แต่ก็ยังถูกนำตัวไปสอบปากคำที่สถานีตำรวจตั้งแต่เที่ยงคืน จนกระทั่งรุ่งเช้า และเจ้าพนักงานตำรวจนำเอกสารมาให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อโดยไม่ได้อ่านข้อความให้ฟัง ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ทราบว่าเอกสารดังกล่าวมีข้อความว่าจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 2 จะไม่ลงลายมือชื่อ
พิเคราะห์แล้ว โจทก์มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุเพียงสองปาก คือ พันตำรวจตรีวาทินกับจ่าสิบตำรวจวัชระวิทย์ ผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสามที่ศาลาเกิดเหตุ แต่การที่ได้ความจากคำเบิกความของพยานทั้งสองปากนี้เพียงว่าขณะจับกุมจำเลยทั้งสามนั่งอยู่ด้วยกันในศาลาที่เกิดเหตุซึ่งปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ. 12 ว่าอยู่ด้านตรงกันข้ามกับใต้ถุนศาลาด้านที่พบเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อน และไม่ได้ความด้วยว่าขณะที่เข้าแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและขอตรวจค้นจำเลยทั้งสามนั้น จำเลยที่ 2 มีการกระทำอย่างใดบ้างที่แสดงว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย พยานหลักฐานโจทก์ที่อาจรับฟังพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 2 ได้ จึงคงมีเพียงคำเบิกความของพันตำรวจตรีวาทินเกี่ยวกับที่มาของการเข้าแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและขอตรวจค้นจำเลยทั้งสามกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน สำหรับคำเบิกความของพันตำรวจตรีวาทินเกี่ยวกับที่มาของการเข้าแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและขอตรวจค้นจำเลยทั้งสามนั้น ได้ความจากคำเบิกความตอบคำซักถามว่า ก่อนเกิดเหตุ พันตำรวจตรีวาทินสืบทราบโดยได้รับรายงานจากสายลับว่าจะมีคนนำเมทแอมเฟตามีนมาส่งมอบให้แก่ลูกค้าในท้องที่ตำบลทับกฤช อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ และเมื่อตั้งด่านตรวจเพื่อทำการตรวจค้นรถที่ผ่านไปมาเป็นเวลาประมาณ 3 ชั่วโมงแล้วยังไม่ได้ผล พันตำรวจตรีวาทินจึงใช้วิธีการนำกำลังออกตรวจท้องที่แทน เมื่อถึงศาลาที่เกิดเหตุเห็นผู้หญิง 2 คน และชาย 1 คน นั่งอยู่ในศาลา ตรงกับที่สายลับรายงานว่าจะเป็นคนนำเมทแอมเฟตามีนมาส่งมอบ และเห็นมีรถจักรยานยนต์ยี่ห้อซูซูกิ จำนวน 2 คัน จอดอยู่ที่บริเวณด้านหน้าของศาลาดังกล่าวด้วย แต่เมื่อเบิกความตอบคำถามค้าน กลับได้ความว่าสายลับไม่ได้ระบุสถานที่แน่ชัดว่าตกลงรับมอบเมทแอมเฟตามีนกันที่ใดและไม่ได้ระบุชื่อคนรับและคนส่งเมทแอมเฟตามีน คงรายงานแต่เพียงว่าคนร้ายจะใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ และศาลาเกิดเหตุไม่มีเสาไฟฟ้าสาธารณะ มีเพียงแสงสว่างจากไฟรถจักรยานยนต์ของพวกพันตำรวจตรีวาทินเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าก่อนเกิดเหตุพันตำรวจตรีวาทินได้รับข้อมูลจากสายลับเพียงว่าคนร้ายซึ่งจะนำเมทแอมเฟตามีนมาส่งมอบในท้องที่ที่พันตำรวจตรีวาทินรับผิดชอบ จะใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะแต่สายลับมิได้ระบุยี่ห้อหรือลักษณะพิเศษของรถจักรยานยนต์ดังกล่าว และการที่พันตำรวจตรีวาทินนำพวกเข้าไปแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและขอตรวจค้นจำเลยทั้งสามก็เพราะเห็นรถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่ที่บริเวณด้านหน้าศาลาเกิดเหตุด้วยแสงสว่างจากไฟรถยนต์ของพวกพันตำรวจตรีวาทินเท่านั้น นอกจากนี้เมื่อพิจารณาภาพถ่ายหมาย จ. 14 ยังเห็นได้ด้วยว่าแสงสว่างจากรถยนต์ของพวกพันตำรวจตรีวาทินดังกล่าวไม่น่าจะส่องสว่างไปถึงจุดที่โจทก์นำสืบว่าเห็นจำเลยทั้งสามนั่งอยู่ด้วยกันในศาลาที่เกิดเหตุ พยานหลักฐานโจทก์ส่วนนี้จึงไม่มีน้ำหนักให้เชื่อได้ว่าพันตำรวจตรีวาทินมีข้อมูลมาตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการที่จำเลยทั้งสามอยู่ด้วยกันในศาลาเกิดเหตุซึ่งอยู่ห่างไกลจากชุมชนและในยามวิกาลก็ไม่อาจถือว่าเป็นข้อพิรุธของจำเลยที่ 2 แต่ประการใด
ส่วนคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนซึ่งเป็นพยานบอกเล่านั้น แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 จะอนุญาตให้อ้างเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 2 ได้ แต่การใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อของพยานหลักฐานดังกล่าวต้องทำด้วยความระมัดระวังเพราะมิใช่เป็นพยานหลักฐานที่ดีที่สุดที่โจทก์พึงนำมาแสดง ดังนั้น จึงต้องพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และพฤติการณ์ในการได้มาซึ่งคำให้การรับสารภาพดังกล่าวด้วย โจทก์มีพันตำรวจตรีวาทินเบิกความตอบคำซักถามเกี่ยวกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นสอบสวนได้ความว่า เมื่อจ่าสิบตำรวจวัชระวิทย์ค้นได้ถุงพลาสติกซึ่งมีเมทแอมเฟตามีนของกลางใส่รวมกันแล้ว จึงนำจำเลยทั้งสามพร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนของกลาง และรถจักรยานยนต์ไปที่สถานีตำรวจเพื่อตรวจนับและสอบปากคำ จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับว่าเป็นคนสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากอำเภอเก้าเลี้ยวเพื่อขายและเคยนำเอาเมทแอมเฟตามีนมาขายที่บริเวณศาลาเกิดเหตุหลายครั้งแล้ว นอกจากนี้ยังค้นได้เงินจากจำเลยที่ 2 จำนวน 18,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นเงินที่ได้จากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จึงแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 2 ว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมหมาย จ. 1 และพันตำรวจตรีวาทินยังได้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเขียนบันทึกคำให้การรับสารภาพ หมาย จ. 5 ให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อด้วย แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับข้อความในบันทึกทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว เห็นว่า แม้คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ตามบันทึกการจับกุม หมาย จ. 1 จะมีใจความสอดคล้องกับคำเบิกความของพันตำรวจตรีวาทินดังกล่าวข้างต้นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปซื้อเมทแอมเฟตามีนจากอำเภอเก้าเลี้ยวเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2544 และมีข้อความเพิ่มเติมต่อไปว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 3 นำเมทแอมเฟตามีนจากอำเภอเก้าเลี้ยวมาให้ที่ตำบลทับกฤช อำเภอชุมแสง โดยขับรถจักรยานยนต์ตามกันมาเมื่อถึงศาลาเกิดเหตุกำลังจะแยกย้ายกันก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อน แต่บันทึกคำให้การรับสารภาพ หมาย จ. 5 กลับมีใจความที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ข้อความในบันทึกคำให้การรับสารภาพ หมาย จ. 5 เกือบทั้งฉบับเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ไปหาหลานสาวซึ่งเรียนหนังสืออยู่ที่อำเภอเมืองนครสวรรค์โดยมีจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ที่ใช้เป็นยานพาหนะ คงมีแต่ข้อความในสามบรรทัดสุดท้ายเท่านั้นที่พอจะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่จำเลยที่ 2 ถูกตรวจค้นและจับกุมในขณะเกิดเหตุ ทั้งข้อความดังกล่าวที่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 1 ออกจากบ้านหลานสาวจำเลยที่ 2 เวลาประมาณ 20 ถึง 21 นาฬิกา ของวันที่ 27 ธันวาคม 2544 เมื่อถึงศาลาเกิดเหตุจำเลยที่ 1 บอกให้จำเลยที่ 2 รออยู่ที่ศาลานั้น และพูดโทรศัพท์ตลอดมาจนพบกับเจ้าพนักงานตำรวจที่ขอตรวจค้นและจับกุมก็แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธเพราะข้อความดังกล่าวมิได้แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพดังที่พันตำรวจตรีวาทินอ้าง ทั้งมิได้แสดงให้เห็นด้วยว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีนของกลางไม่ว่าในทางใดก็ตาม พยานหลักฐานโจทก์เกี่ยวกับคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นจับกุมจึงขัดแย้งกันเองในข้อสำคัญและไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อของพยานหลักฐานโจทก์เกี่ยวกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นสอบสวนด้วย เพราะนอกจากคำให้การตามคำให้การรับสารภาพ หมาย จ. 5 ซึ่งวินิจฉัยข้างต้นว่าเป็นคำให้การปฏิเสธ จะขัดแย้งตรงกันข้ามกับคำให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา หมาย จ. 9 แล้ว การที่ได้ความจากคำเบิกความตอบคำถามค้านของจ่าสิบตำรวจวัชระวิทย์ผู้ร่วมจับกุมว่าหลังจากจับกุมและนำตัวจำเลยทั้งสามมาสอบปากคำที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอชุมแสงเมื่อเวลา 0.30 นาฬิกา ตนเพิ่งมาลงชื่อในบันทึกการจับกุมหมาย จ. 1 ช่วงเกือบเช้าของวันที่ 28 ธันวาคมนั้น ประกอบกับได้ความจากคำเบิกความตอบคำถามของพันตรีชำนาญ จำปีเจริญสุข พนักงานสอบสวนว่า จำเลยทั้งสามถูกจับกุมเวลาประมาณเที่ยงคืน แต่พันตำรวจตรีวาทินกับพวกนำตัวมาส่งให้ตนตอน 8 นาฬิกา ซึ่งตรงกับที่ได้ความตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาหมาย จ. 9 ว่า หลังจากเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 กับพวกได้ที่ศาลาเกิดเหตุเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2544 เวลา 0.30 นาฬิกา มีการนำตัวจำเลยกับพวกไปที่ห้องสืบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอชุมแสง และมีเจ้าพนักงานตำรวจหลายคนสอบปากคำจำเลยที่ 2 เพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดร่วมกันจนเวลาประมาณ 8 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจที่ทำการจับกุมจึงส่งตัวจำเลยที่ 2 ให้แก่พนักงานสอบสวน แสดงว่าชั้นจับกุมจนถึงเวลาที่จำเลยที่ 2 ถูกส่งตัวให้แก่พนักงานสอบสวนจำเลยที่ 2 ถูกสอบปากคำอย่างต่อเนื่องโดยเจ้าพนักงานตำรวจหลายคนเป็นเวลาประมาณ 8 ชั่วโมง และเมื่อพันตำรวจตรีชำนาญ พนักงานสอบสวนได้รับตัวจำเลยที่ 2 ไว้แล้ว ได้ทำการสอบปากคำจำเลยที่ 2 ต่อเนื่องไปจนถึงเวลา 12 นาฬิกา ที่นำตัวจำเลยส่งไปชี้ที่เกิดเหตุและถ่ายภาพไว้ด้วย ดังปรากฏตามวันที่และวันที่กับเวลาที่ลงกำกับในบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา หมาย จ. 9 และบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบกับคำรับสารภาพ หมาย จ. 11 นั่นเอง ฉะนั้นการสอบปากคำจำเลยที่ 2 ในชั้นสอบสวนรวมทั้งการนำจำเลยที่ 2 ไปชี้ที่เกิดเหตุและถ่ายภาพจึงมีเหตุควรสงสัยว่าน่าจะเกิดขึ้นระหว่างที่จำเลยที่ 2 มีความเหนื่อยล้าอ่อนเพลียทั้งร่างกายและจิตใจ และมีผลกระทบต่อน้ำหนักความน่าเชื่อของคำรับสารภาพที่ได้รับจากจำเลยที่ 2 ด้วย พยานหลักฐานโจทก์เกี่ยวกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นสอบสวนจึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อเช่นกัน ทำให้โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่เชื่อฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์