คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 953/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.ฎ.โอนกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทยไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจฯ มาตรา 3 บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า โจทก์เป็นส่วนราชการ และมีฐานะเป็นกรม โจทก์จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ มาตรา 7 (4) และเป็นส่วนราชการของรัฐบาล ห้องพิพาทที่จำเลยพักอาศัยเป็นส่วนหนึ่งของอาคารของโจทก์ จึงเป็นทรัพย์สินของทางราชการ เมื่อจำเลยเกษียณอายุราชการจึงไม่มีสิทธิพักอาศัยอยู่ในห้องพิพาทต่อไป ตามระเบียบการปฏิบัติเข้าพักอาศัยในอาคารของกรมตำรวจ การที่จำเลยยังคงอยู่ในห้องพิพาทไม่ยอมออกไปเมื่อโจทก์ได้บอกกล่าวให้ออกไปแล้ว จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย และโจทก์อยู่ในฐานะเป็นผู้กระทำงานของรัฐบาลโดยหน้าที่หาใช่เป็นการกระทำการโดยส่วนตัวไม่ การที่โจทก์มอบอำนาจให้ผู้อื่นฟ้องคดีจึงไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจ เพราะได้รับการยกเว้นตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 121

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพ้นจากราชการของโจทก์ เนื่องจากเกษียณอายุราชการเป็นเหตุให้จำเลยหมดสิทธิพักอาศัยในอาคารของโจทก์ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยพร้อมบริวารออกจากอาคารโจทก์แล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากอาคารห้องพักเลขที่ 33/167 อาคาร 2 อาคารสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนกลาง (ซอยเฉลิมลาภ) ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ของโจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะหนังสือมอบอำนาจไม่ได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากอาคารห้องพิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พ.ร.ฎ.โอนกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2541 มาตรา 3 บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าโจทก์เป็นส่วนราชการ และมีฐานะเป็นกรม โจทก์จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 7 (4) และเป็นส่วนราชการของรัฐบาล ห้องพิพาทที่จำเลยพักอาศัยเป็นส่วนหนึ่งของอาคารโจทก์ จึงเป็นทรัพย์สินของทางราชการ เมื่อจำเลยเกษียณอายุราชการจึงไม่มีสิทธิพักอาศัยอยู่ในห้องพิพาทต่อไปตามระเบียบการปฏิบัติเข้าพักอาศัยในอาคารของโจทก์ในส่วนกลาง การที่จำเลยยังคงอยู่ในห้องพิพาทไม่ยอมออกไปเมื่อโจทก์ได้บอกกล่าวให้ออกไปแล้วจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องและมอบอำนาจให้ผู้อื่นขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากห้องพิพาทอันเป็นทรัพย์สินของทางราชการได้ โจทก์จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้กระทำงานของรัฐบาลโดยหน้าที่ หาใช่เป็นการกระทำโดยส่วนตัวไม่ การที่โจทก์มอบอำนาจให้ผู้อื่นฟ้องคดี จึงไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจ เพราะได้รับการยกเว้นตามบทบัญญัติมาตรา 121 แห่ง ป.รัษฎากร ดังนั้น แม้หนังสือมอบอำนาจของโจทก์จะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็มีผลใช้ได้ตามกฎหมาย ผู้รับมอบอำนาจจึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์และแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความดำเนินคดีแทนได้ หาใช่ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยตามที่อ้างไม่”
พิพากษายืน

Share