คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3680/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งของบุคคลซึ่งมิได้เป็นผู้บังคับบัญชาที่ได้มอบหมายงานให้จำเลยปฏิบัติ เป็นคำสั่งที่ออกโดยไม่มีอำนาจ จำเลยจึงไม่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจกระทำการตามคำสั่งนั้น การที่จำเลยรับเงินค่าดูดสิ่งปฏิกูลของเทศบาลซึ่งมิใช่หน้าที่ของจำเลยแล้วเบียดบังไว้ จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, และ 161 แต่เป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ แม้ต่อมาจำเลยจะได้นำเงินจำนวนที่ยักยอกไปดังกล่าวมาชดใช้คืนแก่เทศบาลก็ตาม ก็เป็นเพียงการกระทำเพื่อบรรเทาความเสียหายเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าเทศบาลซึ่งเป็นผู้เสียหายตกลงให้ระงับข้อพิพาทหรือสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญากับจำเลยเช่นนี้ ย่อมถือไม่ได้ว่า เป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายที่จะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2)

ย่อยาว

มูลกรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗, ๑๕๗, ๑๖๑ ลงโทษจำคุกรวม ๑๒ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗, ๑๕๗, และ ๑๖๑ ตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยเป็นพนักงานเทศบาลสามัญระดับ ๑ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่สุขาภิบาลฝ่ายสาธารณสุข เทศบาลเมืองมหาสารคาม ตั้งแต่วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๒๖ ตามคำสั่งเทศบาลเมืองมหาสารคามที่ ๒๓๖/๒๕๒๖ เอกสารหมาย จ.๑ แต่เนื่องจากฝ่ายสาธารณสุขมีงานที่ต้องรับผิดชอบหลายด้าน เพื่อให้งานเรียบร้อยและรัดกุมเป็นประโยชน์ต่อทางฝ่ายสาธารณสุข นางรัตนา คัยนันทน์ หัวหน้าฝ่ายสาธารณสุขได้ออกคำสั่งแบ่งงานให้ผู้ใต้บังคับบัญชารวม ๗ คน ในฝ่ายสาธารณสุขรวมทั้งจำเลยด้วย ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๒๗ ตามเอกสารหมาย จ.๑๐ โดยแบ่งงานกำหนดให้จำเลยรับผิดชอบงานความสะอาดภายในเขตฯ โรงฆ่าสัตว์ระงับเหตุรำคาญต่าง ๆ และงานเกี่ยวกับใบอนุญาต ประกอบการค้าต่าง ๆ เท่านั้นส่วนงานควบคุมการจัดเก็บเงินค่าดูดสิ่งปฏิกูล กำหนดให้นายฉกาจ ทองอตม์ เจ้าหน้าที่สุขาภิบาล ๒ เป็นผู้รับผิดชอบ กับกำหนดให้นายบำรุง ไชยมาตย์ ลูกจ้างประจำเจ้าหน้าที่รถดูดสิ่งปฏิกูล มีหน้าที่ดูแลบริการดูดสิ่งปฏิกูลภายในเขต ฯ ตามคำสั่งเอกสารหมาย จ.๑๐ ดังกล่าวมิได้กำหนดให้จำเลยรับผิดชอบงานควบคุมการจัดเก็บเงินค่าดูดสิ่งปฏิกูลหรือมีหน้าที่ดูแลบริการดูดสิ่งปฏิกูลด้วย ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยและนายฉกาจต่างเป็นพนักงานเทศบาล เป็นเจ้าหน้าที่สุขาภิบาลในฝ่ายสาธารณสุขของเทศบาลเมืองมหาสารคาม โดยมีนางรัตนา ดัยนันทน์ เป็นหัวหน้าฝ่าย ทั้งจำเลยและนายฉกาจต่างก็มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะตัวตามคำสั่งแบ่งงานรับผิดชอบ เอกสารหมายจ.๑๐ นายฉกาจหาได้เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยไม่ การที่นายฉกาจได้มอบงานควบคุมการดูดสิ่งปฎิกูลให้จำเลยควบคุมตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๗ เป็นต้นไปตามสำเนาคำสั่งเอกสารหมาย จ.๓ โดยขณะนั้นจำเลยไม่ได้อยู่ใต้บังคับบัญชาของนายฉกาจ เพราะทั้งนายฉกาจและจำเลยต่างเป็นเจ้าหน้าที่สุขาภิบาลในฝ่ายสาธารณสุขอยู่ด้วยกัน ทั้งนายฉกาจไม่มีอำนาจที่จะสั่งลบล้างคำสั่งของนางรัตนาหัวหน้าฝ่ายสาธารณสุขตามเอกสารหมาย จ.๑๐ ได้ คำสั่งของนายฉกาจดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่สั่งการโดยไม่มีอำนาจกระทำได้ ถึงแม้ต่อมานายเกียรติ นาคะพงษ์ นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคามได้ออกคำสั่งเทศบาลเมืองมหาสารคามที่ ๔๔๖/๒๕๒๗ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๗ แต่งตั้งให้นางรัตนา คัยนันท์ หัวหน้าฝ่ายสาธารณสุขเป็นเจ้าพนักงานสาธารณสุข และแต่งตั้งนายฉกาจ ทองอตม์ เป็นหัวหน้างานสุขาภิบาลและรักษาความสะอาดโดยให้เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานสาธารณสุขรับผิดชอบงานสาธารณสุขท้องถิ่น ตามสำเนาคำสั่งเอกสารหมาย จ.๑๑ โดยสั่งเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๗ แม้จะให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๗ เป็นต้นไป ก็เป็นการออกคำสั่งภายหลังจากนายฉกาจออกคำสั่งมอบหมายงานควบคุมการดูดสิ่งปฏิกูลให้จำเลยปฏิบัติตามเอกสารหมาย จ.๓ แล้ว ดังนั้น คำสั่งตามเอกสารหมาย จ.๑๑ จึงไม่มีผลย้อนหลังเพื่อให้คำสั่งตามเอกสารหมาย จ.๓ ที่มิชอบด้วยกฎหมายกลับกลายเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังมิได้มีคำสั่งใด ๆ ยกเลิกเพิกถอนคำสั่งแย่งงานตามเอกสารหมาย จ.๑๐ เลย เช่นนี้ จำเลยจึงหาได้เป็นเจ้าพนักงานซึ่งผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเงิน จัดการดูแลรักษากรอกข้อความลงในเอกสารและออกใบเสร็จรับเงินค่าดูดสิ่งปฏิกูลดังโจทก์ฟ้องไม่ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗, ๑๕๗, และ ๑๖๑ ตามฟ้องนั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยได้ยักยอกเงินค่าดูดสิ่งปฏิกูลจำนวน ๑๒,๗๐๐ บาท ของเทศบาลเมืองมหาสารคามไปนั้น แม้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗ ก็ตาม แต่การที่จำเลยได้รับเงินค่าดูดสิ่งปฏิกูลจำนวนดังกล่าวไว้แล้ว ได้เบียดบังยักยอกเอาเงินเทศบาลเมืองมหาสารคามไปเป็นของจำเลยโดยทุจริตเช่นนี้ จึงเป็นความผิดฐานยักยอกอีกสถานหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้นั้นจึงชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยต่อไปว่าก่อนฟ้องจำเลยได้ชดใช้เงินจำนวน ๑๒,๗๐๐ บาท ให้แก่เทศบสลเมืองมหาสารคามและไม่ปรากฏว่าเทศบาลเมืองมหาสารคามสงวนสิทธิที่จะดำเนินคดีอาญากับจำเลยอีกต่อไปเป็นพฤติการณ์ที่ตกลงยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะปรากฏตามฟ้องด้วยว่า จำเลยนำเงินจำนวน ๑๒,๗๐๐ บาท ที่ยักยอกไปดังกล่าวชดใช้คืนแก่เทศบาลเมืองมหาสารคามแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการกระทำเพื่อบรรเทาความเสียหายส่วนหนึ่งต่างหาก ทั้งไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ เลยว่าเทศบาลเมืองมหาสารคามซึ่งเป็นผู้เสียหายตกลงให้ระงับข้อพิพาท หรือสละสิทธิ์ในการดำเนินคดีอาญากับจำเลยเช่นนี้ ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายที่จะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๒) ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๒) นั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ จำคุกมีกำหนด ๑ ปี ๖ เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง อันเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลุทธรณ์

Share