คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3579/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานตำรวจวิ่งไล่ตามจับจำเลยซึ่งวิ่งหนีไปในระยะห่างกันประมาณ 50 เมตร จำเลยหันกลับมาแล้วใช้ปืนยิงมาที่เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งวิ่งนำหน้า 1 นัด เมื่อพฤติการณ์ที่จำเลยยิงดังกล่าวฟังไม่ได้ว่าเป็นการยิงในลักษณะมุ่งเล็งต่อเป้าหมาย ทั้งตามบันทึกการจับกุมก็ระบุแต่เพียงว่าจำเลยยิงสกัดกั้นการติดตามของเจ้าพนักงานตำรวจ แสดงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาที่จะยิงเจ้าพนักงานตำรวจคนหนึ่งคนใด หากเป็นเพียงการยิงขู่เพื่อมิให้เจ้าพนักงานติดตามจับกุมเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๘, ๑๔๐, ๒๘๙, ๓๒, ๘๐, ๙๑ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ ๔๑ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๔ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๓ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ( ฉบับที่ ๖ ) พ.ศ.๒๕๒๖ มาตรา ๔ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ ๗๒, ๗๒ ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๓, ๖, ๗ และสั่งริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ และต่อสู้ว่าสำหรับข้อหามีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองตามฟ้อง จำเลยได้ถูกฟ้องในความผิดฐานนี้แล้ว ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๓๕๕/๒๕๒๙ คดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๕๑๗/๒๕๒๙ ของศาลชั้นต้นฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อน จึงต้องห้ามตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตร ๑๓๘, ๑๔๐, ๒๘๙, ๘๐, ๙๑ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที ๔๑ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๔ ประกาศของคณปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๓ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ( ฉบับที่ ๖ ) พ.ศ.๒๕๒๖ มาตรา ๔ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ ๗๒, ๗๓ ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๓, ๖, ๗ ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานให้จำคุก ๔ ปี ฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานให้จำคุกตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนไว้ในครองครองจำคุก ๑ ปี ฐานพกอาวุธปืน จำคุก ๖ เดือน เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตแล้ว ไม่จำต้องนำโทษที่กำหนดไว้มารวมเข้ากันอีกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๓) ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยให้จำคุก ๑ ปี เมื่อรวมโทษฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองและพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม
คำพิพากษาศาลชั้นต้น คงจำคุกมีกำหนดรวม ๒ ปี ๖ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาเฉพาะฟ้องโจทก์ในข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงานตามที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาว่าการกระทำของจำเลยเข้าข่ายเป็นความผิดตามที่ถูกกล่าวหาอีกกระทงหนึ่งด้วยหรือไม่ สำหรับข้อหาดังกล่าวข้อเท็จจริงได้ความจากร้อยตำรวจโทสมจิตร สินชาติ และร้อยตำรวจตรีพิพิธ บุญมี และคณะที่ได้แบ่งกำลังกันออกเป็นสองฝ่ายในการเข้าทำการจับกุมจำเลยซึ่งหลบซ่อนอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุว่า เมื่อจำเลยเห็นเจ้าพนักงานได้ออกวิ่งหนีจากใต้ถุนบ้านไปทางทิศตะวันออกในมือถือปืนสั้น ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ทุกปากได้ความตรงกันว่า ขณะเจ้าพนักงานกำลังวิ่งไล่ตามจำเลยซึ่งวิ่งหนีไปในระยะห่างกันประมาณ ๕๐ เมตร จำเลยได้หันกลับมาแล้วใช้ปืนยิงมาที่สิบตำรวจโทอุดร สีไพสน ซึ่งวิ่งนำหน้า ๑ นัด สิบตำรวจโทอุดรจึงยิงโต้ตอบไป จำเลยวิ่งหนีต่อไปอีกประมาณ ๑๐๐ เมตร ก็ไปล้มลงและจึงถูกจับกุมตัวไว้ ปรากฏว่าจำเลยถูกระสุนปืนที่หลังแถบซ้าย เจ้าพนักงานยึดได้อาวุธปืนจากจำเลยซึ่งเป็นปืนพกลูกซองขนาด ๑๒ และกระสุน ๑ นัด เป็นของกลาง เห็นว่าพฤติการณ์ที่จำเลยยิงขณะกำลังวิ่งหนีการติดตามของเจ้าพนักงานตำรวจในระยะยังอยู่ห่างกันถึง ๕๐ เมตร ไม่น่าเชื่อว่าเป็นการยิงในลักษณะมุ่งเล็งต่อเป้าหมาย ทั้งตามบันทึกการจับกุมก็ระบุแต่พียงว่าจำเลยยิงสกัดกั้นการติดตามของเจ้าพนักงานตำรวจเพียง ๑ นัด แสดงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาที่จะยิงเจ้าพนักงานตำรวจคนหนึ่งคนใด หากเป็นเพียงการยิงขู่เพื่อมิให้เจ้าพนักงานติดตามจับกุมเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาพยายามฆ่า ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share