คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 32/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามสำนวนในคดีก่อนและฟ้องโจทก์ทั้งสามในคดีนี้ตรงกันว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามในคราวเดียวกันทั้งอ้างเหตุที่จำเลยเลิกจ้างว่าโจทก์ทั้งสาม อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์อย่างเดียวกัน แต่ฟ้องของโจทก์ทั้งสามในคดีนี้กล่าวอ้างเหตุเพิ่มว่า โจทก์ทั้งสามยังไม่เกษียณอายุ จำเลยเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อหาใหม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามยอมรับตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีก่อนว่า ระเบียบข้อบังคับของจำเลยในการทำงานกำหนดว่า พนักงานโรงงานเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ดังนั้นเหตุที่จำเลยเลิกจ้างในคดีนี้เมื่อโจทก์ทั้งสาม มีอายุครบ 55 ปี ซึ่งเป็นการเกษียณอายุ ประเด็นคดีนี้จึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับในคดีก่อนซึ่งได้ว่ากล่าวกันมาแล้ว ซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่ามีมูลมาจากการเลิกจ้างของจำเลยในคราวเดียวกัน ฟ้องของโจทก์ทั้งสามคดีนี้ที่อ้างเหตุต่าง ๆ เพิ่มก็ไม่ทำให้มีประเด็นหรือเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์ทั้งสามคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31.

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 3
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามตามลำดับโดยโจทก์ทั้งสามไม่ได้กระทำความผิดและยังไม่ครบเกษียณอายุและโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายและเงินบำเหน็จ 594,270 บาท 843,780 บาท และ898,890 บาท แก่โจทก์ทั้งสามตามลำดับพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสามเคยฟ้องจำเลยเป็นคดีหมายเลขดำที่ 528/2534, 551/2534 และ 536/2534 ตามลำดับและศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งสามกลับนำคดีมาฟ้องจำเลยอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยมูลเหตุอยน่างเดียวกันเป็นคดีนี้ ฟ้องของโจทก์ทั้งสามเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเพราะโจทก์ทั้งสามครบเกษียณอายุตามระเบียบว่าด้วยการปฏิบัติงานของพนักงาน โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย โจทก์ทั้งสามได้รับเงินบำเหน็จไปจากจำเลยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ทั้งสามได้ร่วมกับบุคคลอื่นรวม33 คนฟ้องจำเลยเป็นคดีหมายเลขดำที่ 526-558/2534 ต่อมาในคดีดังกล่าวโจทก์ทั้งหมดรวมทั้งโจทก์ทั้งสามในคดีนี้ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลมีใจความตอนหนึ่งว่า “ข้าฯ โจทก์ทุกสำนวนไม่ติดใจเรียกร้องเงินบำเหน็จตามฟ้องกับจำเลยอีกต่อไป”ศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินบำเหน็จจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา คู่ความแถลงรับกันว่า โจทก์ทั้งสามเคยฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 528/2534 หมายเลขแดงที่3044/2534 คดีหมายเลขดำที่ 551/2534 หมายเลขแดงที่ 3067/2534 และคดีหมายเลขดำที่ 536/2534 หมายเลขแดงที่ 3052/2534 ตามลำดับโจทก์ทั้งสามกับพวกและจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันศาลแรงงานกลางได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว และโจทก์ทั้งสามยอมรับว่าเป็นลูกจ้างรายเดือนประจำโรงงานของจำเลย ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสามในคดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ โดยคดีก่อนโจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยข้อหาเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเพราะเกษียณอายุ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายและเงินบำเหน็จส่วนคดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยข้อหาเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมโจทก์ทั้งสามไม่ได้กระทำผิดและยังไม่ครบเกษียณอายุขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จและค่าเสียหาย ข้อหาต่างกันกับคดีก่อนนั้นเห็นว่าตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามสำนวนในคดีก่อนและคำฟ้องโจทก์ทั้งสามในคดีนี้ตรงกันว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามในคราวเดียวกันทั้งอ้างเหตุที่จำเลยเลิกจ้างว่าโจทก์ทั้งสามอายุครบ 55 บริบูรณ์อย่างเดียวกัน แต่ฟ้องของโจทก์ทั้งสามในคดีนี้กล่าวอ้างเหตุเพิ่มว่าโจทก์ทั้งสามยังไม่เกษียณอายุ จำเลยเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อหาใหม่ ซึ่งปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามยอมรับตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามข้อ 1 ในคีดก่อนว่า ระเบียบข้อบังคับของจำเลยในการทำงานกำหนดว่าพนักงานโรงงานเกษียณอายุเมื่อมีอายุครบ55 ปีบริบูรณ์ดังนั้นเหตุที่จำเลยเลิกจ้างในคดีนี้เพราะโจทก์ทั้งสามมีอายัครบ 55 ปี ซึ่งเกษียณาอายุนั่นเอง ประเด็นคดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับในคดีก่อนซึ่งวได้กล่าวกันมาแล้ว เป็นที่เห็นได้ว่ามีมูลมาจากการเลิกจ้างของจำเลยในคราวเดียวกันนั่นเอง ฟ้องของโจทก์ทั้งสามคดีนี้ที่อ้างเหตุต่าง ๆ เพิ่มก็ไม่ทำให้มีประเด็นเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ดังนั้น ฟ้องโจทก์ทั้งสามคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้า อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามสำนวนฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share