แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์เสียขาไปข้างหนึ่งและต้องเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานนับว่าเป็นความเสียหายแก่ร่างกายและอนามัยของโจทก์ ถือเป็นความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินอย่างหนึ่ง ซึ่งโจทก์มีสิทธิจะเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 446.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารปรับอากาศรับจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์บรรทุกถังนมของจำเลยที่ 4ด้วยความประมาท โดยขับรถสวนทางกันเข้าทางโค้งแล่นกิยทางเข้าไปในช่องทางจราจรของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันทำให้โจทก์ซึ่งโดยสารมาในรถยนต์โดยสารปรับอากาศซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขาขวาขาดต้องออกจากงานขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,240,000บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุและจำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างหรือกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีส่วนประมาท เหตุเกิดขึ้นเพราะจำเลยที่ 3 ประมาทแต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น โจทก์เสียหายน้อยกว่าที่ฟ้อง โดยเสียหายไม่เกิน 106,000 บาท
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 มิใช่เจ้าของรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ และจำเลยที่ 3 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 4 เหตุเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ค่าเสียหายของโจทก์เรียกมาสูงเกินสมควร
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2ส่วนจำเลยที่ 3 มิได้เป็นฝ่ายประมาท จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด พิพากษาให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ร่วมกันใช้เงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยจะเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2526 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3และที่ 4
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารปรับอากาศแซงรถยนต์คันอื่นขึ้นไปชนกับรถยนต์ที่จำเลยที่ 3 ที่ขับสวนทางมาในเส้นทางเดินรถของจำเลยที่ 3 ด้วยความประมาท เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส แล้ววินิจฉัยว่า “…ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ต้องทนทุกข์ทรมานและเสียขาข้างหนึ่ง จำนวน 100,000 บาท นั้นมากเกินไป เพราะโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในการทนทุกข์ทรมาน ค่าเสียหายส่วนนี้จึงไม่ควรเกินกว่า 50,000 บาท นั้นเห็นว่าการที่โจทก์เสียขาไปข้างหนึ่งและต้องเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานนับว่าเป็นความเสียหายแก่ร่างกายและอนามัยของโจทก์ ถือเป็นความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินอย่างหนึ่งซึ่งโจทก์มีสิทธิจะเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยที่ 2 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 และสำหรับกรณีของโจทก์นี้ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายจำนวน 100,000 บาท เป็นค่าเสียหายที่พอสมควรแล้ว
อนึ่ง คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ขอให้จำเลยทั้งสี่ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดเฉพาะค่าเสียหายจำนวน 132,000 บาท และ 144,000 บาทส่วนค่าเสียหายจำนวนอื่นขอให้ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง แต่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องรวมกันมาทุกรายการเป็นเงินถึง 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิด จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องโดยให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และค่าเสียหายดังกล่าวเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงินจำนวน500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 12,000 บาท แทนโจทก์ นอกจากแก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.