แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การสอบสวนทางวินัยโจทก์เกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหาว่าโจทก์ร่วมกับพวกทำหลักฐานเท็จว่ามีผู้แจ้งความนำจับสินค้าหลบเลี่ยงภาษีศุลกากรและขอรับเงินสินบนนำจับจากกรมศุลกากรไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวนั้น คณะกรรมการที่จำเลยที่ 1 แต่งตั้งสอบสวนได้ความจากพยานหลักฐานว่า การจับกุมสินค้าหนีภาษีรายนี้ไม่มีสายลับแจ้งความนำจับ ประกอบกับรูปคดีมีพิรุธไม่น่าเชื่อว่าภรรยาของผู้จับกุมจะเป็นสายลับแจ้งความนำจับเสียเอง แม้ในคดีอาญาที่โจทก์ถูกฟ้องว่าร่วมกันฉ้อโกง และทำหลักฐานเท็จ ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง แต่คณะกรรมการสอบสวนและจำเลยทั้งสอง ก็อาจเห็นว่าโจทก์ยังมีมลทินมัวหมองตามความเห็นเดิม ได้ การที่จำเลยทั้งสองใช้ดุลพินิจ เสนอความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีก็โดยมีพยานหลักฐานปรากฏตามสำนวนการสอบสวน ดังนี้การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้โจทก์รับราชการเป็นข้าราชการตำรวจประจำจำเลยที่ 2 ซึ่งสังกัดจำเลยที่ 1 เมื่อระหว่างวันที่ 22 กันยายน 2514 ถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2515 โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองตำรวจน้ำ มีหน้าที่จับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายศุลกากรและกฎหมายอื่น เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2514 โจทก์ได้รับแจ้งว่า เจ้าพนักงานตำรวจน้ำ จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์จับสินค้าหลบเลี่ยงภาษีศุลกากรได้จากเรือยนต์พรชัยนาวา 3 พันตำรวจโทการุณ ศรีวรนารถ พนักงานสอบสวนได้บันทึกเสนอโจทก์ว่า การจับสินค้าหลบเลี่ยงภาษีศุลกากรรายนี้มีสายลับแจ้งความนำจับ และโจทก์เป็นผู้สั่งการให้จับกุม ต่อมาพันตำรวจโททัศน์ อินทาปัจ ซึ่งเป็นผู้จับกุมได้ส่งใบแจ้งความนำจับพร้อมกับใบมอบฉันทะให้โจทก์เป็นผู้ไปรับเงินสินบนนำจับตามระเบียบแทนโจทก์ทราบว่านางอำไพ อินทาปัจ เป็นผู้แจ้งความนำจับ ต่อมาวันที่ 4มกราคม 2515 โจทก์ได้รับเงินสินบนนำจับทั้งหมดในนามของโจทก์และผู้มอบหมายจากกรมศุลกากร โจทก์ได้นำเงินสินบนนำจับดังกล่าวไปจ่ายให้แก่นางอำไพผู้แจ้งความนำจับรับไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ได้แกล้งกล่าวหาโจทก์โดยปราศจากมูลความจริงว่าการจับสินค้าหลบเลี่ยงภาษีศุลกากรรายนี้ไม่มีสายลับแจ้งความนำจับ หลักฐานการขอรับเงินสินบนนำจับเป็นหลักฐานเท็จ จำเลยที่ 2 ได้รายงานให้จำเลยที่ 1 สอบสวนโจทก์ทางวินัย ต่อมาปี พ.ศ. 2516 จำเลยที่ 1 ได้ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยขึ้น และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ออกคำสั่งที่789/2517 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2517 ให้โจทก์พักราชการ และต่อมาก้ได้ออกคำสั่งที่ 102/2518 ลงวันที่ 5 มกราคม 2518 ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2517 เป็นต้นไป โดยอ้างว่าโจทก์ร่วมกับพวกทำหลักฐานเท็จว่ามีผู้แจ้งความนำจับ และขอรับเงินนำจับจากกรมศุลกากรไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว นอกจากนี้จำเลยที่ 1ยังได้สั่งให้จำเลยที่ 2 ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการก็ได้ฟ้องโจทก์ และพันตำรวจโททัศน์ อินทาปัจเป็นจำเลยในคดีอาญาในข้อหาความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงและทำหลักฐานเท็จ โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่สั่งลงโทษโจทก์ทางวินัยต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งต่อมาได้มีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 ออกใช้บังคับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนหรือ ก.พ. จึงส่งเรื่องอุทธรณ์ของโจทก์ไปให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เป็นผู้พิจารณาต่อไปตามกฎหมายที่ออกใช้บังคับใหม่ ในระหว่างที่ ก.ตร.กำลังพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์อยู่นั้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาคดีอาญาที่โจทก์และพันตำรวจโททัศน์ถูกฟ้องว่าโจทก์และพันตำรวจโททัศน์มิได้กระทำความผิดตามฟ้อง ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า ในการจับกุมผู้ลักลอบนำสินค้าหลบเลี่ยงภาษีดังกล่าวนั้นมีนางอำไพ อินทาปัจ เป็นผู้แจ้งความนำจับ การที่โจทก์ทำหนังสือถึงกรมศุลกากรเพื่อขอรับเงินสินบนนำจับ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้แจ้งความนำจับไม่ใช่เป็นความเท็จ และไม่ใช่เป็นการหลอกลวงฉ้อโกงกรมศุลกากรโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ทั้งไม่ต้องคืนเงินสินบนนำจับให้แก่กรมศุลกากร โจทก์จึงทำหนังสือแจ้งผลคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวให้ก.ตร. ทราบเพื่อ ก.ตร. จะได้ใช้คำพิพากษาฎีกานั้นประกอบการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์และโจทก์ได้ขอให้จำเลยทั้งสองแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งลงโทษทางวินัยแก่โจทก์เสียใหม่แต่จำเลยทั้งสองกลับไม่คำนึงถึงการวินิจฉัยของศาลฎีกา จำเลยทั้งสองยังถือเอาข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหาเดิมของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์เป็นผู้กระทำผิดเป็นหลักในการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์และเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีเป็นทำนองว่าโจทก์ยังเป็นผู้กระทำความผิดอยู่อีก เป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีเข้าใจผิดหลงพิจารณาและมีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ทำให้โจทก์ยังต้องรับโทษถูกพักราชการและถูกปลดออกจากราชการตามคำสั่งเดิม โดยไม่แก้ไขยกเลิกคำสั่งลงโทษให้ถูกต้องตามความเป็นจริงเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาว่า คำวั่งของจำเลยที่ 1 คือคำสั่งที่ 789/2517 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2517 และคำสั่งที่ 102/2518 ลงวันที่ 5 มกราคม 2518 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จำนวน16,113,774.23 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ถูกปลดออกจากราชการตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 102/2518 ลงวันที่5 มกราคม 2518 เนื่องจากโจทก์กระทำผิดวินัย และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมติของอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวงมหาดไทย (อ.ก.พ.)ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2497 และเมื่อโจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี นกยกรัฐมนตรีได้มติของคณะรัฐมนตรีก็ได้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ คำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการจึงถึงที่สุด และเสร็จเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2497 มาตรา 105 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 คำสั่งที่ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการ เป็นการใช้อำนาจของทางราชการฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ เป็นคำสั่งตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ และสั่งโดยสุจริต จำเลยทั้งสองได้นำเรื่องของโจทก์ตามหนังสือลงวันที่ 17 กันยายน 2523 ซึ่งได้เสนอต่อจำเลยทั้งสอง เข้าที่ประชุมของ ก.ตร. เพื่อพิจารณา และ ก.ตร.ได้มีการประชุมลงมติแล้ว ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้กระทำการใดที่ทำให้โจทก์เสียหายตามฟ้อง หากแต่เกิดจากโจทก์ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และได้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ในขณะที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองตำรวจน้ำ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามฟ้อง เพราะโจทก์ถูกปลดออกจากราชการตามคำสั่งของรัฐบาลตามอำนาจของฝ่ายบริหาร
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์รับราชการตำรวจในตำแหน่งผู้บังคับการกองตำรวจน้ำเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2514 พันตำรวจโททัศน์ อินทาปัจ กับพวกได้จับสินค้าหลบหนีภาษีจากเรือยนต์พรชัยนาวา 3โจทก์ได้นำหนังสือมอบฉันทะซึ่งนางอำไพ อินทาปัจ ภรรยาของพันตำรวจโททัศน์ลงลายพิมพ์นิ้วมือไปขอรับเงินสินบนนำจับจากกรมศุลกากรแทนนางอำไพ กรมศุลกากรได้จ่ายเงินสินบนนำจับเป็นเช็คจำนวน906,408.85 บาท ให้โจทก์รับไปต่อมาหนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าเจ้าหน้าที่ทำหลักฐานเท็จไปขอรับเงินสินบนนำจับ จำเลยที่ 1 ได้ตั้งกรรมการสอบสวนแล้วไม่เชื่อว่านางอำไพเป็นผู้แจ้งความนำจับสินค้าหลบหนีภาษีรายนี้ อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทยได้มีมติให้ปลดโจทก์และพันตำรวจโททัศน์ออกจากราชการ จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งให้โจทก์พักราชการ และมีคำสั่งให้ปลดโจทก์ออกจากราชการตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และหมายเลข 2 จำเลยที่ 2 ได้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ และพันตำรวจโททัศน์ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงและทำหลักฐานเท็จเพื่อขอรับเงินสินบนนำจับ คดีอาญาดังกล่าวศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษโดยแจ้งผลคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวไปด้วย คณะรัฐมนตรีพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว มีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.10 แผ่นที่ 10
ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า คดีอาญาที่โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยนั้นศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1758/2523 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ว่า นางอำไพ อินทาปัจ เป็นผู้แจ้งความนำจับ หลักฐานที่โจทก์มีถึงอธิบดีกรมศุลกากรรับรองว่ามีผู้แจ้งความนำจับ ตลอดจนการขอรับเงินสินบนตำจับในฐานะผู้รับมอบฉันทะแทนผู้แจ้งความนำจับไม่ใช่ความเท็จและไม่ใช่เป็นการหลอกลวงฉ้อโกงกรมศุลกากร โจทก์มิได้กระทำผิดตามฟ้องทุกข้อหา พิพากษายกฟ้อง ขณะที่ศาลฎีกาได้พิพากษาชี้ขาดคดีอาญาดังกล่าวนั้น คดีทางวินัยยังอยู่ในระหว่างที่จำเลยทั้งสองพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ โจทก์ได้แจ้งคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวไปให้จำเลยทั้งสองทราบแล้ว จำเลยทั้งสองคงมีความเห็นว่า พฤติการณ์และการกระทำของโจทก์อาจมีส่วนรวมในการกระทำผิดด้วยโจทก์จึงยังมีมลทินมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน จำเลยทั้งสองได้รับรายงานต่อนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ การที่จำเลยทั้งสองใช้ดุลพินิจว่า โจทก์ยังมีมลทินมัวหมอง เป็นการใช้ดุลพินิจที่ขัดกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่1758/2523 ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำที่จงใจละเมิดต่อโจทก์นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้ตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ทางวินัยตามเอกสารหมาย ล.13 กรรมการสอบสวนได้ทำการสอบสวนตามเอกสารหมาย ล.4 และ ล.6… พยานทุกปากได้ให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่น่าเชื่อถือได้ ประกอบกับรูปคดีมีพิรุธ ไม่น่าเชื่อว่าภรรยาของผู้จับกุมจะเป็นสายลับแจ้งความนำจับเสียเองแม้คดีอาญาศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้อง คณะกรรมการสอบสวนและจำเลยทั้งสองก็อาจมีความเห็นว่า โจทก์ยังมีมลทินมัวหมองตามความเห็นเดิมได้ การที่จำเลยทั้งสองใช้ดุลพินิจเสนอความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีก็โดยมีพยานหลักฐานปรากฏตามสำนวนการสอบสวน การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง สำหรับฎีกาของโจทก์ข้ออื่นนั้นเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย…”
พิพากษายืน.