แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีที่จะมีการเข้ามาเป็นคู่ความโดยการร้องสอดตามป.วิ.พ. มาตรา 57 ได้นั้น ไม่ว่าจะเป็นการขอเข้ามาเองหรือถูกหมายเรียกเข้ามาก็ดี ผู้ที่จะเข้ามานั้นต้องเป็นบุคคลนอกคดีจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ขอให้เรียกเข้ามานั้นเป็นคู่ความอยู่ในคดีนี้แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา แต่โจทก์ก็ยังดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 ต่อไป จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลภายนอกที่จำเลยที่ 2 จะเรียกเข้ามาโดยการร้องสอดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 57(3) ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วม ขอให้จำเลยทั้งสามชำระเงิน 393,160.52 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เป็นผู้ค้ำประกันหนี้จำเลยที่ 1 ในวงเงิน300,000 บาท จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเกินวงเงินที่ค้ำประกันขอให้ยกฟ้อง
เมื่อสืบพยานโจทก์แล้ว ในวันสืบพยานจำเลยก่อนสืบพยาน จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกจำเลยที่ 1 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามป.วิ.พ. มาตรา 57(3) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 385,399.71บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ฎีกาว่ามีสิทธิเรียกจำเลยที่ 1เข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ ในปัญหานี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57 บัญญัติไว้ในวรรคแรกว่า “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด…” ดังนั้น กรณีที่จะมีการเข้ามาเป็นคู่ความโดยการร้องสอดตามมาตรานี้ได้นั้น ไม่ว่าจะเป็นการขอเข้ามาเองหรือถูกหมายเรียกเข้ามาก็ดี ผู้ที่จะเข้ามานั้นต้องเป็นบุคคลนอกคดี แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ขอให้เรียกเข้ามานั้นเป็นคู่ความอยู่ในคดีนี้แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา แต่โจทก์ก็ยังดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1ต่อไป จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลภายนอกที่จำเลยที่ 2จะเรียกเข้ามาโดยการร้องสอดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) ได้
พิพากษายืน.