แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การโอนขายทรัพย์โดยสมยอมกันอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้น แม้ศาลจะได้พิพากษาตามยอมให้ลูกหนี้โอนทรัพย์แก่บุคคลอื่นแล้วก็ตาม เจ้าหนี้ก็มีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนการโอนโดยไม่สุจริตนั้นได้
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ในชั้นศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้รวมพิจารณา
คดีเรื่องร้องขัดทรัพย์นั้น เดิมโจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินกู้กับดอกเบี้ยแก่โจทก์ คดีถึงที่สุด โจทก์นำยึดเรือน ๑ หลังอ้างว่าเป็นของจำเลย ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ ขอให้ถอนการยึด ศาลชั้นต้นพิพากษาคำร้องขัดทรัพย์ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายก ให้รอฟังผลในคดีแพ่งอีกคดีหนึ่งให้ถึงที่สุดก่อน โจทก์ฎีกา
สำนวนที่สอง โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายเรือนพิพาทระหว่างผู้ร้องขัดทรัพย์กับจำเลยและเพิกถอนสัญยาประนีประนอมในคดีนั้นด้วย ศาลชั้นต้นพิพากษาตามฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
มีปัญหาข้อกฎหมายมาสู่ศาลฎีกาว่า ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ลูกหนี้ และจำเลยที่ ๒ ผู้ร้องขัดทรัพย์ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไปขอทำยอมในคดีแพ่งแดงที่ ๓๒๖๗/๒๕๐๓ ได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เรื่องนี้โจทก์คัดค้านว่า หนี้ที่จำเลยที่ ๒ นำมาฟ้องจำเลยที่ ๑ ในคดีดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นโดยสมยอมกัน ศาลจำต้องฟังพยานว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหนี้จำเลยที่ ๒ จริงหรือไม่เพราะโจทก์อ้างว่ามูลหนี้ที่จำเลยที่ ๒ นำมาฟ้องจำเลยที่ ๑ ไม่มีอยู่จริง ทำให้โจทก์เสียเปรียบ
สรุปแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงนั้น ส่อแสดงให้ศาลฟังไม่สนิทว่า จำเลยทั้ง ๒ ได้ซื้อเรือนพิพาทไว้จากจำเลยที่ ๑ โดยสุจริต น้ำหนักถ้อยคำพยานจำเลยที่ ๒ และเหตุผลสู้พยานโจทก์ไม่ได้ การกระทำนิติกรรมสัญญาระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ เป็นกรณีให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ ๑ เสียเปรียบ
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขัดทรัพย์และให้เพิกถอนการโอนเรือนพิพากษาอันเป็นการฉ้อฉลระหว่างจำเลยที่ ๑ กับที่ ๒