คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1352/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยสมคบกับนายสมศักดิ์ทำการชิงทรัพย์ แล้วพากันหลบหนี นายสมศักดิ์ได้ใช้มีดแทงสิบตำรวจโทแม้นถึงแก่ความตายเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นการจับกุม เมื่อได้แยกทางกับจำเลยไปคนละทิศละทางแล้ว ถือได้ว่าเหตุการณ์เกี่ยวกับการชิงทรัพย์ของจำเลยและนายสมศักดิ์ขาดตอนจากกันแล้ว จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคท้าย
ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรค 2 โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคท้าย ซึ่งเป็นบทที่มีอัตราโทษหนักกว่า ถือได้ว่าโจทก์ได้อุทธรณ์ในทำนองขอให้ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 212 แล้ว แม้ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยคงผิดมาตรา 339 วรรค 2 ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจพิพากษาเพิ่มโทษจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับนายสมศักดิ์ แซ่ล้อ ได้ร่วมกันชิงสายสร้อยคอทองคำ ๑ เส้น แล้ว นายสมศักดิ์ได้ใช้มีดทำร้ายร่างกายสิบตำรวจโทแม้น ทับสายทอง ถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓,๓๓๙
จำเลยให้การว่า ได้สมคบกับนายสมศักดิ์ชิงทรัพย์ผู้เสียหายแล้วหนีไปคนละทาง จำเลยมิได้ร่วมมือกับนายสมศักดิ์แทงทำร้ายสิบตำรวจโทแม้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๙ วรรค ๒ มอบตัวจำเลยให้ผู้ปกครองโดยวางข้อกำหนดให้ผู้ปกครองระวังมิให้จำเลยก่อเหตุร้ายขึ้นภายใน ๒ ปี
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๙ วรรคท้าย
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๙ วรรค ๒ อย่างศาลชั้นต้น แต่พิพากษาแก้โทษให้จำคุก ๔ ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปยังสถานฝึกและอบรมของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง มีกำหนดขั้นต่ำ ๒ ปี ขั้นสูง ๔ ปี
โจทก์จำเลยฎีกาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยได้ร่วมกับนายสมศักดิ์ชิงทรัพย์มาแต่ต้น แต่ปรากฏว่าเมื่อนายสมศักดิ์ใช้มีดแทงสิบตำรวจโทแม้นนั้น จำเลยได้แยกทางกับนายสมศักดิ์หนีสิบตำรวจโททองคำไปคนละทิศละทางแล้ว ถือได้ว่าเหตุการณ์เกี่ยวกับการชิงทรัพย์ของจำเลยและนายสมศักดิ์ขาดตอนจากกันแล้ว เพียงแต่จำเลยทราบว่านายสมศักดิ์มีอาวุธมีดติดตัวไปด้วย แล้วนายสมศักดิ์ซึ่งหนีไปแต่ผู้เดียวใช้มีดแทงสิบตำรวจโทแม้นผู้เข้าสกัดจับเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นจากการจับกุม จะให้จำเลยรับผลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๙ วรรคท้าย ด้วยดังฎีกาโจทก์อย่างไรได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๙ วรรค ๒ ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาจำเลยที่ว่าศาลอุทธรณ์จะพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยไม่ได้ เพราะโจทก์มิได้อุทธรณ์ดุลพินิจของศาลชั้นต้นเป็นการพิพากษาคดีเกินคำขอของโจทก์ ปรากฏว่า คดีนี้ แม้โจทก์จะมิได้คัดค้านดุลพินิจของศาลชั้นต้นโดยตรงก้ตาม แต่โจทก์ได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๙ วรรคท้าย ซึ่งมีอัตราโทษหนักกว่ามาตรา ๓๓๙ วรรค ๒ ถือได้ว่าโจทก์ได้อุทธรณ์ในทำนองขอให้ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นตามมาตรา ๒๑๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้ หาเป็นการพิพากษาคดีเกินคำขอดังฎีกาจำเลยไม่ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ดังได้วินิจฉัยมา ศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเด็กและเยาวชนพิพากษานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์จำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีเด็กและเยาวชน ให้ยกฎีกาโจทก์จำเลย

Share