คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 38/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา เมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนั้นให้จำเลย จำเลยย่อมมีอำนาจตามกฎหมายที่จะขอให้ศาลชั้นต้นสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดและประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ แม้ภายหลังโจทก์จะฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญา และศาลพิพากษาคดีอาญาถึงที่สุดว่าจำเลยมีความผิดฐานเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล และความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีแพ่งเกี่ยวกับอายุความที่โจทก์ตัดฟ้องไว้ คำพิพากษาคดีอาญาในเรื่องที่จำเลยเบิกความเท็จ ก็หามีผลลบล้างคำพิพากษาในคดีแพ่งไม่
จำเลยอาจกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามผลแห่งคำพิพากษาคดีอาญาแต่โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน เพราะเหตุจำเลยเบิกความเท็จ กลับฟ้องคดีโดยมีมูลฟ้องว่า จำเลยรู้อยู่แล้วว่าคดีแพ่งที่จำเลยฟ้องนั้นขาดอายุความแล้ว และจำเลยเบิกความเท็จเกี่ยวกับวันตายของผู้กู้เงิน จนศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานเบิกความเท็จ คดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยยังแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ที่จำเลยยึดไว้อีก เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ดังนี้จำเลยมีสิทธิที่จะกระทำเช่นนั้นได้ จึงยังถือไม่ได้ว่าการที่จำเลยขอประกาศขายทรัพย์สินที่ยึด ภายหลังจากจำเลยรู้ว่าจำเลยมีความผิดในคดีอาญา เป็นการกระทำโดยไม่ สุจริต และละเมิดต่อโจทก์ การยึดทรัพย์เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ไม่เป็นลาภมิควรได้และการถอนการบังคับคดีจะพึงกระทำได้ก็ต้องขอและว่ากล่าวกันแต่ในคดีเดิมเมื่อมีกรณีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งจำเลยได้ยึดไว้ในฐานะที่โจทก์เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ในคดีแพ่งแดงที่ 43/2509 ของศาลจังหวัดมหาสารคาม จำเลยกระทำโดยรู้อยู่แล้วว่าทรัพย์สินนั้นจำเลยได้มาโดยไม่สุจริตและจะต้องคืนให้โจทก์ เพราะจำเลยเบิกความเท็จอันเป็นข้อสำคัญต่อศาล โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาศาลจังหวัดมหาสารคามและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำเลยฟังคำพิพากษาแล้วจึงได้ขอให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทำให้ทรัพย์สินหรือสิทธิของโจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยถอนการยึดทรัพย์ ให้คืนทรัพย์สินตามบัญชีท้ายฟ้องแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดและประกาศขายทรัพย์สินของโจทก์เพื่อใช้หนี้ตามคำพิพากษาโดยสุจริต

ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความแล้วสั่งงดสืบพยาน พิพากษาให้จำเลยแจ้งไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้ถอนการยึดทรัพย์ของโจทก์ที่ 1 และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2

โจทก์ที่ 2 และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 เสียด้วย

โจทก์ทั้งสองฎีกา

คดีได้ความว่า นางสาวอุดม สืบโมรา จำเลย ได้มอบอำนาจให้นายบุญตา จันทรศิริ ฟ้องนางหยู่ แก้วสียา โจทก์ที่ 1 และนายบุญมานายเชียงใต้ โจทก์ที่ 2 ตามสำนวนคดีแพ่งของศาลชั้นต้นหมายเลขดำที่ 139/2508 หมายเลขแดงที่ 43/2509 ว่านายบุญ แก้วสียา สามีโจทก์ที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินไปจากจำเลย 20,000 บาท โจทก์ที่ 2 ทำหนังสือสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันนายบุญ แล้วนายบุญผิดนัดไม่ใช้ต้นเงินและดอกเบี้ยขอให้บังคับโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับมรดกของนายบุญ และบังคับโจทก์ที่ 2 ผู้ค้ำประกัน ให้ใช้ต้นเงินและดอกเบี้ยแก่จำเลย โจทก์ทั้งสองให้การปฏิเสธต่อสู้คดีหลายประการและตัดฟ้องว่าจำเลยรู้ดีว่านายบุญตายเกินกว่าหนึ่งปีแล้วคดีจึงขาดอายุความ ครั้นถึงวันนัดสืบพยานจำเลยในคดีเรื่องนั้นโจทก์ขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ใช้เงินตามฟ้องพร้อมด้วยดอกเบี้ย โจทก์ขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วสั่งยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้น จำเลยขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องคดีนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้ประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดแล้ว แต่ยังไม่มีการขายทอดตลาด เพราะโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาตามสำนวนคดีอาญาของศาลชั้นต้นหมายเลขดำที่ 113/2510 หมายเลขแดงที่ 393/2510 หาว่าจำเลยเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 139/2508 หมายเลขแดงที่ 47/2509 โดยจำเลยรู้ว่านายบุญตายวันที่ 16 พฤศจิกายน 2506 แต่จำเลยเบิกความว่านายบุญตายเมื่อไรจำเลยไม่ทราบ ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาว่าจำเลยไปดูศพนายบุญในวันที่นายบุญตายเอาเงินไปช่วยทำบุญ และจำเลยไปเผาศพนายบุญในวันรุ่งขึ้น แล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ให้จำคุก 5 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ 2 ปี คดีถึงที่สุด จำเลยฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันที่ 9 สิงหาคม 2511 ต่อมาวันที่ 4 เมษายน 2512 จำเลยยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไว้ ศาลชั้นต้นสั่งให้ประกาศขายทอดตลาดแล้ว แต่โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นสั่งงดขายทอดตลาดไว้รอฟังคำพิพากษาคดีนี้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นเจ้าหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งของศาลชั้นต้นหมายเลขดำที่ 139/2508 หมายเลขแดงที่ 43/2509 เมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนั้นให้จำเลยจำเลยย่อมมีอำนาจตามกฎหมายที่จะขอให้ศาลชั้นต้นสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดและประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ แม้จะปรากฏภายหลังว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นตามคดีหมายเลขดำที่ 113/2510 หมายเลขแดงที่ 393/2510 และศาลพิพากษาคดีอาญาถึงที่สุดว่าจำเลยมีความผิดฐานเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาลในคดีแพ่ง และความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีแพ่งเกี่ยวกับอายุความที่โจทก์ได้ตัดฟ้องไว้ คำพิพากษาคดีอาญาในเรื่องที่จำเลยเบิกความเท็จไม่มีผลลบล้างคำพิพากษาในคดีแพ่ง จำเลยอาจกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามผลแห่งคำพิพากษาในคดีอาญา แต่เป็นที่เห็นได้จากฟ้องและฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มิได้ฟ้องคดีนี้เรียกค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุจำเลยเบิกความเท็จ โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมีมูลฟ้องว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 139/2508 หมายเลขแดงที่ 43/2509 ขาดอายุความแล้ว และจำเลยเบิกความเท็จเกี่ยวกับวันตายของนายบุญผู้กู้ จนศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานเบิกความเท็จ คดีถึงที่สุดแล้วจำเลยยังแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ที่จำเลยยึดไว้อีก จึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ เช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยมีสิทธิที่จะกระทำเช่นนั้นได้ ยังถือไม่ได้ว่าการที่จำเลยขอประกาศขายทรัพย์สินที่ยึดภายหลังจากจำเลยรู้ว่าจำเลยมีความผิดในคดีอาญา เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและละเมิดต่อโจทก์กรณีตามฟ้องเป็นการยึดทรัพย์เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาไม่เป็นลาภมิควรได้ และการถอนการบังคับคดีจะพึงกระทำได้ก็จะต้องขอและว่ากล่าวกันแต่ในคดีเดิมเมื่อมีกรณีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ตามมูลกรณีที่ถูกต้อง

Share