แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสิบสองคนยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าจำเลยเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยไม่ชอบ แม้ไม่ได้ร้องเรียนเรื่องค่าจ้างโดยตรง แต่ก็เห็นได้ว่าโจทก์กับจำเลยจะต้องพิพาทกันด้วยเงินค่าจ้างในระหว่างวันเวลาที่จำเลยไม่ยินยอมให้โจทก์ทำงาน จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าจำเลยผู้เป็นนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใด และประสงค์ให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าจ้างจากจำเลย ซึ่งมีมูลคดีสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวต่อศาลแรงงานกลางจนกว่าการดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงานจะสิ้นสุด
ย่อยาว
คดีทั้งสิบสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน
โจทก์ทั้งสิบสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งสิบสองคน พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสิบสองคน
จำเลยทั้งสิบสองสำนวน ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองคน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสิบสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนที่โจทก์ทั้งสิบสองคนจะฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โจทก์ทั้งสิบสองคนได้ร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานสำนักเขตบึงกุ่มว่าจำเลยได้เปลี่ยนแปลงรอบเวลาการทำงานปกติจากเดิมซึ่งมีกะเดียวเวลา 07.00 นาฬิกา ถึง 16.00 นาฬิกา โดยจำเลยเพิ่มรอบเวลาทำงานเป็นสองกะคือ กะแรกเวลา 07.00 นาฬิกา ถึง 16.00 นาฬิกา กะที่สองเวลา 16.30 นาฬิกา ถึง 01.30 นาฬิกา ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2545 เป็นต้นไป อันเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2545 ถึง 19 เมษายน 2545 โจทก์ทั้งสิบสองคนไปทำงานตามปกติเวลา 07.00 นาฬิกา แต่จำเลยไม่ยินยอมให้โจทก์ทั้งสิบสองคนเข้าไปภายในบริเวณโรงงานของจำเลย และจำเลยถือว่าโจทก์ทั้งสิบสองคนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ให้โจทก์ทั้งสิบสองคนทำงานในกะที่สอง จำเลยจึงลงโทษโจทก์ทั้งสิบสองคนเป็นหนังสือเตือนและพักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 20 ถึง 26 เมษายน 2545 ดังนี้ แม้เรื่องที่โจทก์ทั้งสิบสองคนได้ร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานจะไม่มีกรณีที่โจทก์ทั้งสิบสองคนร้องเรียนว่าจำเลยหักค่าจ้างในช่วงระหว่างเวลาที่จำเลยไม่ยอมให้โจทก์ทั้งสิบสองคนเข้าไปภายในบริเวณโรงงานจำเลย กับช่วงระหว่างเวลาที่จำเลยพักงานโจทก์ทั้งสิบสองคนดังที่โจทก์ฟ้องต่อศาลแรงงานกลางก็ตาม แต่คดีนี้และกรณีที่โจทก์ทั้งสิบสองคนร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานก็มีมูลคดีสืบเนื่องจากการที่จำเลยเปลี่ยนแปลงรอบเวลาทำงานปกติจากกะเดียวเป็นสองกะโดยไม่ชอบ และเมื่อโจทก์ทั้งสิบสองคนจะเข้าทำงานตามรอบเวลาทำงานปกติ จำเลยไม่ยินยอมให้โจทก์ทั้งสิบสองคนเข้าไปภายในบริเวณโรงงานจำเลย ซึ่งจะเห็นได้ว่าโจทก์ทั้งสิบสองคนกับจำเลยจะต้องพิพาทกันด้วยเงินค่าจ้างในระหว่างวันเวลาที่จำเลยไม่ยินยอมให้โจทก์ทั้งสิบสองคนเข้าไปภายในบริเวณโรงงานจำเลย ทั้งยังปรากฏในเวลาต่อมาว่าจำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์ทั้งสิบสองคนโดยพักงานและไม่จ่ายค่าจ้างให้ จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสิบสองคนร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าจำเลยผู้เป็นนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใด และประสงค์ให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง นั่นเอง ซึ่งในกรณีนี้โจทก์ทั้งสิบสองคนอาจจะเลือกที่จะใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลแรงงานก็ได้ โดยจะต้องใช้สิทธิในทางใดทางหนึ่ง แต่จะใช้สิทธิพร้อมกันทั้งสองทางไม่ได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสิบสองคนยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานกล่าวหาว่าจำเลยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินของโจทก์ทั้งสิบสองคนดังกล่าวข้างต้นต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้ว โจทก์ทั้งสิบสองคนย่อมไม่มีสิทธิที่จะฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางจนกว่าการดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงานจะสิ้นสุด ศาลแรงงานกลางย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสองคนที่ฟ้องเรียกเงินค่าจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงไม่ชอบ ข้อกฎหมายนี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 , 246 ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.