คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 316/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2543 ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2543 ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2543 ซึ่งเป็นวันเริ่มทำการใหม่ได้ เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ไปอีก 30 วัน จึงต้องนับต่อจากวันสุดท้ายที่ครบกำหนดคือเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2543 ซึ่งครบกำหนด 30 วัน ในวันที่ 22 สิงหาคม 2543 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อีกในวันที่ 30 สิงหาคม 2543 จึงเป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้แล้วและเมื่อไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์พิเศษและศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้นหรือเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัย จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อีกหลายครั้ง จนกระทั่งจำเลยที่ 2 ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 20 ธันวาคม 2543 ก็ตาม ก็ถือได้ว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นอุทธรณ์ที่ยื่นเกินกำหนดเวลา ไม่ชอบที่จะรับอุทธรณ์ดังกล่าวไว้พิจารณา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันใช้มีดยาวประมาณ 1 ฟุต ฟันทำร้ายร่างกายนายสมาน คงษาหรือคงสา ผู้เสียหายที่ 1 อย่างแรง ถูกบริเวณใบหน้าด้านขวาและไหล่ขวาเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กายสาหัส มีบาดแผลที่ใบหน้าด้านขวาและที่ไหล่ขวาลึกถึงกระดูกไหปลาร้า กระดูกไหปลาร้าแตก บาดเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้มีดดังกล่าวเป็นอาวุธฟันทำร้ายร่างกายนายพิสิฎฐ์ศักดิ์ เชื้อเงิน ผู้เสียหายที่ 2 อย่างแรงถูกบริเวณสะบักด้านซ้าย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กาย และจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้มีดดังกล่าวเป็นอาวุธทำร้ายร่างกายนายบรรเจิด ไม้ดัดพันธุ์ ผู้เสียหายที่ 3 ถูกบริเวณใบหูข้างขวาเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 3 ได้รับอันตรายแก่กาย และจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันใช้มีดดังกล่าวเป็นอาวุธทำร้ายร่างกายนายชาคริต ปานหงษ์ ผู้เสียหายที่ 4 ถูกบริเวณแขนซ้ายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 4 ได้รับอันตรายแก่กาย ก่อนคดีนี้จำเลยที่ 1ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า มียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 1 มีอายุไม่เกิน 14 ปี ศาลได้ว่ากล่าวตักเตือนและมอบตัวให้นายละเอียด พูนผล และนางสมาน พูนผล บิดามารดาจำเลยที่ 1ไป แต่วางข้อกำหนดให้บิดามารดาจำเลยที่ 1 คอยดูแลและระมัดระวังไม่ให้จำเลยที่ 1ก่อเหตุร้ายขึ้นภายใน 2 ปี มิฉะนั้นจะต้องชำระค่าปรับต่อศาลครั้งละ 1,000 บาทหากจำเลยที่ 1 ก่อเหตุร้ายขึ้น ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 386/2540 ของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2540 และภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลวางข้อกำหนดดังกล่าวจำเลยที่ 1 มาก่อเหตุร้ายกระทำความผิดในคดีนี้ขึ้นอีกอันแสดงว่าบิดามารดาจำเลยที่ 1ไม่ได้คอยดูแลและระมัดระวังไม่ให้จำเลยที่ 1 ก่อเหตุร้ายตามที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้เป็นการกระทำผิดข้อกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 ส่วนจำเลยที่ 2 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เป็นอันตรายสาหัส โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4095/2539 ของศาลจังหวัดสุพรรณบุรีเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 และจำเลยที่ 2 ได้กลับมากระทำความผิดในคดีนี้ขึ้นอีก ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 58, 74, 83, 91, 295, 297 บวกโทษของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษในคดีดังกล่าวเข้ากับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ และปรับบิดามารดาผู้ปกครองดูแลจำเลยที่ 1ฐานผิดข้อกำหนดเป็นจำนวน 1,000 บาทด้วย

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 386/2540 ของศาลชั้นต้น และจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4095/2539 ของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295, 297 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษ จำเลยที่ 1 อายุ 14 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 3 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส จำคุก 6 เดือน รวม 2 กระทง (ที่ถูกรวมทั้งหมด)จำคุก 12 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 อายุไม่เกิน 20 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 หนึ่งในสาม ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 4 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส จำคุก 8 เดือน รวม 2 กระทง (ที่ถูกรวมทั้งหมด)จำคุก 16 เดือนและให้ปรับบิดามารดาจำเลยที่ 1 ตามสัญญาวางข้อกำหนดเด็กในคดีหมายเลขแดงที่ 386/2540 ของศาลชั้นต้นเป็นเงิน 1,000 บาท และบวกโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ 4095/2539 ของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี มีกำหนด 6 เดือนเข้ากับโทษของจำเลยที่ 2 คดีนี้ เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 22 เดือน

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2543 อันเป็นวันศุกร์ และจะครบกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2543แต่วันดังกล่าวเป็นวันอาทิตย์หยุดราชการ จำเลยทั้งสองจึงยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2543 อันเป็นวันจันทร์ ซึ่งศาลชั้นต้นเปิดทำการได้และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสองขยายระยะเวลาดังกล่าวได้อีก 30 วันนับจากวันที่ 24 กรกฎาคม 2543 ตามที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้อง ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม2543 จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อีก 30 วัน นับตั้งแต่วันดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและหลังจากนั้นจำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาต่อศาลชั้นต้นอีกหลายครั้งและศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ทุกครั้ง จนในที่สุดจำเลยทั้งสองได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2543 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 โดยเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นพ้นกำหนดเวลาไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับไว้พิจารณานั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2543 ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 23กรกฎาคม 2543 ซึ่งเป็นวันอาทิตย์หยุดราชการ จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2543 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มทำการใหม่ได้ เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ไปอีก 30 วันจึงต้องนับต่อจากวันสุดท้ายที่ครบกำหนดระยะเวลาเดิมคือเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 24กรกฎาคม 2543 ซึ่งครบกำหนด 30 วัน ในวันที่ 22 สิงหาคม 2543 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อีกในวันที่ 30 สิงหาคม 2543 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาเมื่อพ้นกำหนดที่ศาลชั้นต้นขยายให้แล้ว และเมื่อไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์พิเศษและศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้นหรือเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัย จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 แม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อีกหลายครั้ง จนกระทั่งจำเลยที่ 2 ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 20 ธันวาคม 2543 ก็ตามก็ถือได้ว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นอุทธรณ์ที่ยื่นเกินกำหนดเวลา ไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับไว้พิจารณาพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share