คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 38/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การละเว้นไม่ระมัดระวังในสิ่งที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ทำหรือที่ตนไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องทำ ไม่เป็นละเมิด
การลงนามรับรองว่าของมีถูกต้องไม่ใช่สัญญาเป็นแต่หลักฐานอันหนึ่ง อาจสืบความจริงเป็นอย่างอื่นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นลูกจ้างขององค์การ อ.จ.ส. สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนจำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้ากองจำหน่าย จำเลยที่ 2 เป็นผู้ช่วยของจำเลยที่ 1

จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ร่วมกันจัดการ และจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้แก่ประชาชนตามอำเภอต่าง ๆ ในเขตเทศบาลนครกรุงเทพฯ ตามคำสั่งของสำนักนายกรัฐมนตรี

ในการนี้จำเลยทั้ง 2 รับเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากกองพัสดุขององค์การ อ.จ.ส.ที่คลองเตยมาเก็บรักษาไว้ ณ ที่ทำการของ อ.จ.ส. ซึ่งอยู่ที่อาคารถนนราชดำเนิน และจำเลยทั้ง 2 มีหน้าที่ดูแลรักษาร่วมกันมิให้ขาดหาย ทั้งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องตรวจสอบจำนวนเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งขนมาเก็บไว้นั้นว่าถูกต้องตามใบรับของซึ่งกองพัสดุที่คลองเตยนำส่งมายังกองคลังขององค์การ อ.จ.ส. และถูกต้องตามจำนวนในใบเก็บเงิน ซึ่งกองคลังขององค์การ อ.จ.ส. ได้ส่งมาให้ตรวจสอบหรือไม่ เมื่อเห็นว่าถูกต้องแล้วจำเลยที่ 1 ก็ลงนามรับรองจำนวนและราคาของเสื้อผ้าสำเร็จรูปตามบันทึกที่กองคลังขององค์การ อ.จ.ส. นำมาให้ตรวจนั้น แล้วจำเลยทั้ง 2 มีหน้าที่ร่วมกันจัดการจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปนี้แก่ประชาชนตามอำเภอต่าง ๆ ดังกล่าวและส่งเงินซึ่งจำหน่ายได้กับเสื้อผ้าสำเร็จรูปซึ่งเหลือจากการจำหน่ายนั้นแก่เจ้าหน้าที่องค์การ อ.จ.ส. ให้ครบถ้วนตามที่จำเลยที่ 1 ได้ลงนามรับรองในใบเก็บเงินที่ได้มอบให้กองคลังขององค์การ อ.จ.ส. ยึดถือไว้

เมื่อระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม 2490 ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2490 จำเลยทั้ง 2 ได้รับเสื้อผ้าสำเร็จรูปไว้ในความดูแลรักษาตามหน้าที่ตามจำนวนและราคาในสำเนาบันทึกและใบเก็บเงินรวม 16 ฉบับ ท้ายฟ้องจำนวนเสื้อผ้าสำเร็จรูป 31,500 ชุด (ชุดละ 30 บาท) เสื้อ 800 ตัว (ตัวละ 14 บาท) กางเกง 1,000 ตัว (ตัวละ 16 บาท) รวมเป็นราคา 972,200 บาท

เมื่อการจำหน่ายสิ้นสุดลง จำเลยทั้ง 2 ส่งเงินที่จำหน่ายเสื้อผ้าได้และส่งเสื้อผ้าซึ่งเหลือจากการจำหน่ายแก่องค์การ อ.จ.ส. ไม่ครบตามจำนวนและราคาที่จำเลยทั้งสองได้รับมาดูแลรักษาและจำหน่ายไป เพราะเสื้อผ้าสำเร็จรูปขาดหายไป 667 ชุด คิดเป็นราคา 20,010 บาท ก็เพราะเหตุจำเลยทั้ง 2 กระทำไม่ถูกต้องครบถ้วนตามหน้าที่ซึ่งต้องกระทำอันถือได้ว่าจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์แห่งมูลหนี้ และเป็นเพราะจำเลยทั้ง 2 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทละเลยไม่ควบคุมดูแลงานให้เป็นไปโดยรอบคอบ คือจำเลยทั้ง 2 ควบคุมการขนเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากกองพัสดุคลองเตยมายังที่ทำการขององค์การ อ.จ.ส. โดยความประมาทจนเกิดการลักเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปในระหว่างทาง เมื่อนำเสื้อผ้าเหล่านี้มาเข้าห้องเก็บ ณ ที่ทำการขององค์การ อ.จ.ส. ถนนราชดำเนินจำเลยทั้ง 2 ก็ละเลยไม่ตรวจสอบจำนวนเสื้อผ้าว่าครบถ้วนตามที่ได้ขนมาจากกองพัสดุหรือไม่ ครั้นกองคลังขององค์การ อ.จ.ส. ส่งบันทึกและใบเก็บเงินมาให้จำเลยที่ 1 ตรวจสอบและรับรองว่าจำนวนเสื้อผ้าซึ่งขนมาเก็บไว้ถูกต้องเพียงใดจำเลยที่ 1 ก็ลงนามรับรองว่าถูกต้องโดยไม่ตรวจสอบกับเสื้อผ้าซึ่งนำมาเก็บรักษาไว้ อนึ่ง เมื่อมีเหตุอันสมควรสงสัยว่ามีคนร้ายลักเสื้อผ้าไปจากห้องเก็บเสื้อผ้าซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยทั้ง 2 จำเลยทั้ง 2 ก็ละเลยไม่ทำการตรวจสอบจำนวนเสื้อผ้าและสืบหาตัวคนร้าย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่องค์การ อ.จ.ส. การละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำไป ทางการ อ.จ.ส. ทราบเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2491 และรู้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมทำละเมิด ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2492 ผู้อำนวยการองค์การ อ.จ.ส. ได้แจ้งโดยหนังสือลงวันที่ 24 กันยายน 2491 ให้จำเลยที่ 1 นำเงินซึ่งยังส่งไม่ครบมาชำระต่อองค์การ อ.จ.ส. จำเลยที่ 1 ก็ไม่นำเงินมาชำระ

โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้ง 2 ร่วมกันใช้เงินสองหมื่นสิบบาทแก่โจทก์ทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7 1/2 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะใช้หนี้เสร็จ

จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์ว่าไม่เป็นความจริงจำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้ช่วยจำเลยที่ 1 ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่เป็นหัวหน้ากองจำหน่าย

จำเลยที่ 2 มีตำแหน่งหน้าที่เป็นหัวหน้าแผนกสืบราคาตลาดซึ่งประธานผู้อำนวยการ อ.จ.ส. ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2490

ในเดือนกันยายน 2490 จำเลยที่ 2 โดยคำสั่งของประธานผู้อำนวยการอ.จ.ส. เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการตรวจรับเวชภัณฑ์ที่กรมการแพทย์และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตลอดมาจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2490 จึงสั่งย้ายให้จำเลยที่ 2 กลับมาเป็นหัวหน้าแผนกลอยประจำ อ.จ.ส. ไม่ใช่หัวหน้าแผนสืบราคาตลาดดุจเดิม

การขนย้ายเสื้อผ้าจากท่าเรือมาเก็บที่โกดัง อ.จ.ส. อาคารราชดำเนินมีหลวงเดชนายเวรเป็นผู้ควบคุมการขนย้าย เมื่อมาถึงโกดังอาคารราชดำเนินแล้ว เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้ากองกับหัวหน้าแผนกจำหน่ายเป็นผู้ตรวจนับ ไม่ใช่จำเลยที่ 2 การดูแลรักษาก็ดี การจำหน่ายเสื้อผ้าออกขายก็ดี การตรวจสอบและรับรองจำนวนและราคาเสื้อผ้าตามบันทึกที่กองคลัง อ.จ.ส.นำมาให้ตรวจก็ดี เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และหัวหน้าแผนกจำหน่ายทั้งสิ้นซึ่งตามบันทึกและใบเก็บเงินรวม 16 ฉบับ ท้ายฟ้องจะเห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 มิได้เคยเกี่ยวข้องลงลายมือชื่อรับรองบันทึกหรือใบเก็บเงินแม้แต่ฉบับเดียว มีแต่ลายมือชื่อจำเลยที่ 1 กับผู้อื่นทั้งนั้น ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่มีตำแหน่งหน้าที่ซึ่งจะต้องรับผิดตามที่โจทก์ฟ้อง

อนึ่ง ฟ้องกล่าวว่า เกิดการลักเสื้อผ้าสำเร็จรูปในระหว่างทางและมีการลักเสื้อผ้าไปจากห้องเก็บเสื้อผ้า จึงถือว่าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์ที่มีคนร้ายลัก อันจำเลยที่ 2 มิต้องรับผิด และหลุดพ้นจากการชำระหนี้อีกประการหนึ่งด้วย

นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ตัดฟ้องว่า ฟ้องขาดอายุความแล้ว เพราะเรื่องเสื้อผ้าสำเร็จรูปหายขาดจำนวนไปก็เป็นเรื่องละเมิดอายุความ 1 ปี ก็เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 ได้มีหนังสือจากทางการ อ.จ.ส. แจ้งให้จำเลยที่ 1ทราบจำนวนและราคาของเสื้อผ้าที่ขาดหายและจำเลยที่ 1 ได้เซ็นยอมรับทราบรับสภาพหนี้ไว้แล้วเป็นลายลักษณ์อักษรแต่ผู้เดียว โจทก์เพิ่งใช้สิทธิเรียกร้องเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2492 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้พิพากษายกฟ้อง

จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธฟ้อง แต่รับว่าจำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้ากองจำหน่าย อ.จ.ส. จริง แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ไปรับตรวจนับเก็บดูแลรักษามิให้ขาดหายหรือตรวจสอบจำนวนหรือจำหน่ายซึ่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปตามฟ้องเลยโดยมีหน้าที่แต่เพียงจัดส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ไป รับ ตรวจ นับ จำหน่าย เก็บดูแลรักษามิให้ขาดหายและตรวจสอบจำนวนตลอดทั้งการควบคุมดูแลรักษาเท่านั้น

จำเลยที่ 1 เพียงรับทราบจำนวนและลงนามรับทราบไว้ในฐานะที่เป็นหัวหน้ากองตามระเบียบวิธีปฏิบัติราชการ ตามที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโดยเฉพาะเสนอให้ทราบเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีความรับผิดเลย หากแต่อยู่ในความรับผิดของจำเลยที่ 2 และพนักงานเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ก็ได้เคยยินยอมรับผิดอยู่แล้วก่อนจะเกิดคดีนี้

ระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม 2490 ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2490 จำเลยที่ 2 และพนักงานเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เบิกเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากกองพัสดุเป็นราคา 972,200 บาท ตามฟ้องโจทก์จริง แล้วต่อมากองจำหน่ายได้ส่งชำระเงินแล้ว คงค้างอยู่ 20,010 บาทจริง ซึ่งจำนวนเงินที่คงค้างนี้ จำเลยที่ 1 ปฏิเสธว่าไม่ได้อยู่ในความรับผิดของจำเลยที่ 1 แต่ประการใด แต่อยู่ในความรับผิดของจำเลยที่ 2 และพนักงานเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ทั้งสิ้น การที่เสื้อผ้าของ อ.จ.ส. ขาดจำนวนไปตามฟ้องเป็นเหตุอันพ้นวิสัยของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำละเมิดตามฟ้อง

กับตัดฟ้องว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะองค์การ อ.จ.ส. มิใช่นิติบุคคล และโจทก์ไม่มีอำนาจในกิจการขององค์การ อ.จ.ส. และคดีโจทก์ขาดอายุความถ้าหากจำเลยทำละเมิดตั้งแต่พฤศจิกายน 2490 หรือโจทก์รู้ถึงการละเมิดเมื่อ 31 ส.ค. 2491 ซึ่งเป็นวันที่ผู้อำนวยการ อ.จ.ส. ได้ทวงถามมายังจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้รายนี้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องอำนาจฟ้องนั้น เมื่อสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นนิติบุคคลย่อมมีสิทธิยื่นฟ้องเรียกหนี้ซึ่งบุคคลเป็นหนี้องค์การสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ และฟ้องโจทก์อยู่ในอายุความเรื่องละเมิด แต่โจทก์ก็ได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดอาศัยมูลหนี้อื่นด้วย จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบหมายให้ดำเนินการจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป ทั้งเป็นผู้รักษากุญแจห้องเก็บเสื้อผ้าที่เบิกจากกองพัสดุตลอดมา และทุกครั้งที่กองคลังส่งใบเก็บเงินและใบรับของมาสอบ จำเลยที่ 1 เซ็นชื่อยืนยันไปว่ารับของไว้ถูกต้อง แต่หาได้มีชื่อจำเลยที่ 2 บันทึกรับรู้หรือยืนยันไม่ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในหนี้รายนี้ คดีโจทก์ยังไม่พอจะให้จำเลยที่ 2ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ได้ พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินสองหมื่นสิบบาทแก่โจทก์พร้อมกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 1/2 ต่อปี จากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จกับให้จำเลยที่ 1 เสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายอีก 800 บาท แทนโจทก์ให้ยกฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 แต่ให้ค่าธรรมเนียมของจำเลยที่ 2 เป็นพับไป

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 1 มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายอันจะพึงถือว่าจำเลยทำละเมิดจำเลยจะบกพร่องก็ในทางวินัย ไม่รอบคอบตามหน้าที่ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาผู้คนและการงานทั้งนี้เป็นไปโดยเชื่อถือไว้วางใจกันจึงเกิดมีผู้ทำละเมิดให้เกิดการเสียหาย และก็ยังไม่แน่ว่าเป็นใครบ้าง และคนที่ทำให้เกิดการขาดหายขึ้นนั้นก็คือคนที่ไปปฏิบัติงานตามหน้าที่โดยที่เป็นคนของ อ.จ.ส. นั่นเอง ซึ่งจำเลยที่ 1 หาต้องรับผิดแทนคนเหล่านั้นไม่ ตัวอย่างฎีกาที่ 273/2487 ระหว่างคณะกรมการจังหวัดฉะเชิงเทราโจทก์ นายเฉลียว อุรุทธมา ที่ 1 นายใหญ่ สริชวนะ ที่ 2, นายประจัน บุญญลิมชนะ ที่ 3 จำเลยจึงพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความเป็นพับไปทั้ง 2 ฝ่าย

โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบตามจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้อง

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีเรื่องนี้แล้ว ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำใบเบิกเสื้อกางเกงมาจำหน่ายโดยให้ผู้อยู่ในบังคับบัญชาไปเบิกมาจากกองพัสดุของ อ.จ.ส. ที่ท่าเรือคลองเตย เมื่อกองพัสดุจ่ายของแล้ว ก็ส่งใบรับของไปยังกองคลังเงินของ อ.จ.ส. กองคลังเงิน ก็ทำบันทึก ส่งใบเก็บเงินและใบรับของมายังกองจำหน่ายเพื่อให้ชำระราคา จำเลยที่ 1ลงนามรับรองในบันทึกว่าจำนวนของและราคาถูกต้องแล้วจึงจัดการส่งของออกขายแก่ประชาชน ผู้มีสิทธิตามราคาที่กำหนดไว้ เมื่อเสร็จการขายแล้ว เจ้าหน้าที่กรมตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบว่า กางเกงขาดหายไปเป็นจำนวนและราคาเงินตามฟ้อง

การนำเสื้อกางเกงเข้าห้องเก็บนั้น ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้ตรวจก่อนเอาเข้าเก็บหรือสั่งให้บุคคลผู้ใดคณะใดตรวจรับจากผู้ที่ไปรับของมา จำเลยที่ 1 ถือลูกกุญแจร่วมกับจำเลยที่ 2 โดยต่างคนถือไว้คนละลูก คนใดอยู่ก็ใช้ลูกกุญแจไขได้ โดยไม่ต้องอยู่พร้อมกัน

อนึ่ง ได้ความว่า นายเติมพันธ์ เคยเป็นผู้ไปเบิกเสื้อกางเกงก่อนใคร ๆ ถึง 10 ครั้งจากกองพัสดุ ตลอดจนจัดการนำเข้าเก็บในห้องเก็บและรักษากุญแจคนละลูกกับจำเลยที่ 1 และเป็นผู้นำออกไปจำหน่ายแก่ประชาชน แล้วจำเลยที่ 2 มาทำหน้าที่แทน เมื่อจำเลยที่ 2 ไปตรวจเวชภัณฑ์ที่อื่น นายเติมพันธ์ก็เข้ามารับทำงานแทนจำเลยที่ 2 อีก

เสื้อกางเกงที่ขาดหายไปนี้ มีปัญหาว่าขาดหายไปเมื่อใดตามที่ได้ความตามคำพยาน อาจเป็นไปได้หลายประการ คือ รับมาจากกองพัสดุคลองเตย อาจไม่ครบถ้วน โดยนับเร็ว ผู้ไปรับมองตามไม่ทันอาจขาดจำนวน หรือถูกคนงานลัก หรือยักยอกระหว่างกลางทาง โดยถีบกระสอบเสื้อกางเกงลงจากรถยนต์ หรือขนกลับคืนพัสดุท่าเรือเมื่อยุติการนับการขน และมีระเบียบว่า การรับมอบกระสอบเสื้อกางเกงจากพัสดุท่าเรือนั้น มีตราตีประจำกระสอบ เปิดตรวจนับไม่ได้ ซึ่งอาจขาดจำนวนมาแต่เดิมจากกองพัสดุท่าเรือก็ได้หัวหน้าสายที่รับเสื้อกางเกงไปจำหน่ายตามอำเภอต่าง ๆ จำหน่ายไม่หมด ส่งคืนไม่ครบ อ้างเหตุว่าเมื่อรับจาก อ.จ.ส. ตรวจนับไม่ได้เพราะเสื้อกางเกงอยู่ในกระสอบตีตราต้องเปิดเมื่อตอนจำหน่ายแก่ประชาชน ถือว่าขาดจำนวนอยู่แต่เดิม ส่วนจำเลยที่ 1 ก็เซ็นชื่อรับรองให้ไปทั้ง ๆ ที่ของอาจขาดจำนวนอยู่ในกระสอบตีตราไว้เปิดตรวจไม่ได้ โดยเชื่อเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ทั้งผู้รับและผู้ส่ง

โจทก์ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังและควบคุมรักษาเสื้อและกางเกงที่รับมาและจำหน่ายไปโดยวิธีใกล้ชิดและเคร่งครัดตั้งแต่ต้นจนปลาย จึงเป็นเหตุให้บังเกิดความรั่วไหลเสียหายจึงถือว่าเป็นการทำละเมิด

ศาลนี้เห็นว่า กรณีที่กระทำมาดังกล่าวนี้ หาใช่เป็นเรื่องละเมิดไม่

เพราะเหตุว่า เรื่องละเมิดตามกฎหมายนั้น มีบัญญัติอยู่ในลักษณะ 5 ว่าด้วยละเมิด ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 มีความว่า

“ผู้ใดจงใจประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินฤาสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด ฯลฯ”

การละเมิดนั้น เป็นประทุษกรรม กระทำต่อบุคคล โดยผิดกฎหมายด้วยอาการฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่ห้ามไว้ หรือละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำหรือที่ตนมีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

มาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นแม่บทของเรื่องละเมิด แต่ยังมีบทอื่น ๆ อีกหลายบทในลักษณะ 5 เป็นบทเพิ่มเติม

การละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่กฎหมายมิได้บัญญัติให้กระทำหรือตนไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องกระทำ หาเป็นการละเมิดไม่

การที่จำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลควบคุมรักษาทรัพย์ที่กล่าวหาโดยใกล้ชิดและเคร่งครัดตั้งแต่ต้นจนปลาย จึงเป็นช่องทางให้คนใน อ.จ.ส.ที่ทำงานร่วมอยู่ด้วยลักหรือยักยอกทรัพย์รายนี้ไปได้บ้างนั้น หาใช่เป็นการละเมิดไม่ เพราะจำเลยที่ 1 มิได้ทำผิดกฎหมาย หรือละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำ และไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายในอันที่จะต้องกระทำ หากการรั่วไหลเสียหายนั้นบังเกิดจากการกระทำของผู้อื่นซึ่งอยู่ภายในวงการบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ในทางราชการ จำเลยที่ 1 อาจต้องรับผิดชอบในทางราชการตามระเบียบข้อบังคับหรือวิธีการตามที่ทางราชการวางไว้ แต่ในกรณีเช่นคดีนี้ตามลักษณะว่าด้วยละเมิด หามีบทใดบัญญัติว่าเป็นละเมิดไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดฐานละเมิด

โจทก์กล่าวต่อไปว่า แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดก็ต้องรับผิดฐานผิดสัญญาโดยที่ได้ให้คำรับรองไว้ว่ามีจำนวนสิ่งของมีครบถ้วน และราคาถูกต้องตามคำรับรองนั้น

ศาลนี้เห็นว่า คำรับรองของจำเลยที่ 1 ที่กล่าวนั้น หาใช่เป็นสัญญาที่จะบังคับกันตามกฎหมายได้ไม่ เพราะแท้จริงเป็นเพียงคำรับรองข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำรับรองเท่านั้น หาใช่เป็นมูลเหตุก่อให้บังเกิดหนี้หรือพันธธรรมผูกพันอันจะกลายให้เป็นสัญญาตามกฎหมายไม่

เช่นในเรื่องเสื้อกางเกงที่กล่าวหากันนี้ ถ้าความจริงจำเลยที่ 1 ได้รับฝากเพียง20,000 ชุด แต่เจ้าหน้าที่ทำใบรับรองมาให้จำเลยที่ 1 เซ็นลงจำนวน 30,000 ชุดจำนวนที่เกินความจริง 10,000 ชุด นั้นจำเลยที่ 1 หาต้องรับผิดชอบไม่ โจทก์จะอ้างว่า จำเลยที่ 1 ได้รับรองแล้วว่ามีจำนวน 30,000 ชุด จะต้องรับผิดชอบให้ครบจำนวนโดยหาว่าผิดสัญญาดังนี้หาได้ไม่ เพราะจำเลยที่ 1 เซ็นเพื่อเป็นหลักฐานสำหรับความเท็จจริงต่างหากมิใช่เป็นตัวสัญญา ตัวสัญญานั้นคือลักษณะรับฝากของที่ฝากมีจำนวนเท่าใด นำสืบความจริงกันได้จริงอยู่ว่าหนังสือที่เซ็นรับรองจำนวนของนั้น อาจใช้เป็นหลักฐานประกอบความเท็จความจริงได้ แต่ไม่ใช่เป็นหลักฐานก่อให้คำรับรองนั้นบังเกิดหรือกลายเป็นสัญญาขึ้นเพราะไม่มีมูลหนี้ตามกฎหมายส่วนจะถือเอาไปเป็นข้อตำหนิติโทษกันในทางบริหารการปกครองอาจเป็นได้ ไม่เกี่ยวแก่ความรับผิดตามที่โจทก์กล่าวหา อาศัยเหตุที่กล่าวมา จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ยกฎีกาของโจทก์ ให้โจทก์เสียค่าทนายความ 810 บาท ในชั้นศาลฎีกาให้แก่จำเลยที่ 1

Share