คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1140/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมาและนำออกประมูลขายทอดตลาดได้เงิน 70,000 บาท เมื่อนำมาหักกับราคาเช่าซื้อที่ค้างชำระแล้วยังขาดอยู่อีก 179,173.72 บาท โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคา 179,173.72 บาท และค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 5 เดือน เป็นเงิน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัด ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคา 160,000 บาท ส่วนค่าขาดประโยชน์และดอกเบี้ยนั้นถือเป็นการคิดค่าเสียหายส่วนหนึ่ง เมื่อได้กำหนดค่าเสียหายให้เป็นจำนวนพอสมควรแล้วจึงไม่กำหนดให้อีก ดังนั้น ในชั้นอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไม่ชอบ ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคา ศาลอุทธรณ์ก็ย่อมมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้อง และศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์มีสิทธิได้รับอยู่แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2546 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ หมายเลขทะเบียน อร 5805 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ ในราคา 278,208 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อ 48 งวด งวดละ 5,796 บาท ต่อเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2546 งวดต่อไปชำระภายในวันที่ 20 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 3 ประจำวันที่ 20 เมษายน 2546 แต่ยังครอบครองใช้รถยนต์ของโจทก์ต่อไป ต่อมาวันที่ 15 กันยายน 2547 โจทก์ติดตามยึดรถยนต์คืนและนำออกขายได้เงินเพียง 70,000 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดราคา 179,173.72 บาท และขาดประโยชน์จากการนำรถยนต์ออกให้เช่าซึ่งจะได้ค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันผิดนัดถึงวันที่ยึดรถยนต์คืนเป็นเวลา 5 เดือน เป็นเงิน 25,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 204,173.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 3 แต่โจทก์ไม่เคยใช้สิทธิเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 10.1 สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญากับโจทก์โดยส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์ โจทก์คงมีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดใช้ราคารถส่วนที่ขาดให้โจทก์ ค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท เป็นการคิดขึ้นเองไม่อาจพิสูจน์ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 160,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 25,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการเดียวว่า ศาลอุทธรณ์มีอำนาจกำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมาและนำออกประมูลขายทอดตลาดได้เงิน 70,000 บาท เมื่อนำมาหักกับราคาเช่าซื้อที่ค้างชำระแล้วยังขาดอยู่อีก 179,173.72 บาท โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคา 179,173.72 บาท และค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 5 เดือน เป็นเงิน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 204,173.72 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัด ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคา 160,000 บาท ส่วนค่าขาดประโยชน์และดอกเบี้ยนั้นถือเป็นการคิดค่าเสียหายส่วนหนึ่งเมื่อได้กำหนดค่าเสียหายให้เป็นจำนวนพอสมควรแล้วจึงไม่กำหนดให้อีก พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 160,000 บาท คำขออื่นให้ยก ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแสดงว่า โจทก์มีสิทธิได้รับทั้งค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์ แต่เมื่อศาลกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคาให้โจทก์มากพอสมควรแล้ว จึงไม่กำหนดค่าขาดประโยชน์ให้อีก ดังนั้น ในชั้นอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไม่ชอบ ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคาแต่โจทก์คงมีสิทธิได้รับค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ ศาลอุทธรณ์ก็ย่อมมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้อง และศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์มีสิทธิได้รับอยู่แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share