แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาจ้าง โจทก์มีสิทธิ์เรียกค่่าปรับรายวันในกรณีที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานล่าช้า โดยโจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญา เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว แม้ว่าจำเลยที่ 1 จะเคยส่งมอบสิ่งของตามสัญญาจ้างให้โจทก์ แต่ใช้งานไม่ได้โจทก์จึงไม่รับสิ่งของมีผลเท่ากับจำเลยที่่ 1 ไม่เคยส่งมอบสิ่งของให้โจทก์เลยโจทก์จึงเรียกค่าปรับรายวันไม่ได้ การว่าจ้างทำแบบพิมพ์เครื่องอัดเปลือกหม้อและฝ่าหม้อแบตเตอรี่อยู่่นอกวัตถุประสงค์ของจำเลยที่่ 1 แต่ก่อนทำสัญญาจ้างฝ่ายจำเลยได้เสนอหนังสือรับรองที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์แล้ว โจทก์จึงทราบก่อนทำสัญญาจ้าง เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมรับปฏิบัติตามสัญญาจ้าง เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมรับปฏิบัติตามสัญญาจ้างต่อโจทก์ จึงเป็นการให้สัตยาบันในการทำสัญญานั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งทำสัญญาดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2526 จำเลยที่ 2 และที่ 3ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้นายมานิต ฐาปนะกุลยื่นเสนอราคารับจ้างทำแบบพิมพ์เครื่องอัดเปลือกหม้อและฝาหม้อแบตเตอรี่ 1 ชุด ราคา 387,000 บาท ต่อโจทก์ โจทก์ตกลงจ้างจำเลยทั้งสามและได้ทำสัญญากันเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2526 ครั้นเมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญา ปรากฎว่าจำเลยทั้งสามมิได้ส่งมอบสิ่งของให้แก่โจทก์ตามสัญญา โจทก์มีหนังสือเตือนไปหลายครั้ง จำเลยทั้งสามขอผัดผ่อนเรื่อยมา แม้จำเลยเคยส่งมอบงานให้แก่โจทก์ แต่ก็ไม่สามารถใช้งานได้ จำเลยทั้งสามจึงผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่11 เมษายน 2528 และสั่งปรับจำเลยทั้งสามวันละ 387 บาท นับตั้งแต่วันครบกำหนดส่งมอบงานถึงวันบอกเลิกสัญญารวม 328 วัน เป็นเงิน126,936 บาท โดยสงวนสิทธิกรณีต้องจ้างบุคคลอื่นทำงานนี้ใหม่ในราคาสูงขึ้น ต่อมาโจทก์ตกลงว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดอุดมพิพัฒน์มงคลทำแทน แต่มีราคาสูงกว่าราคาที่ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยทั้งสามเป็นเงิน393,000 บาท เมื่อรวมกับค่าปรับแล้วเป็นเงิน 519,936 บาทโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ค่าดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 77,990.40 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย597,926.40 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 597,916.40 บาท แก้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 519,936 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า แม้จำเลยที่ 3 จะเคยเป็นกรรมการมีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกับจำเลยที่ 2 ในนามของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 3ไม่เคยเห็นและไม่เคยลงลายมือชื่อในใบมอบอำนาจให้นายมานิต ฐาปนะกุลยื่นเสนอราคารับจ้าง ไม่ว่าในฐานะส่วนตัวหรือในนามของจำเลยที่ 1โจทก์ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดอุดมพิพัฒน์มงคล โดยไม่มีความระมัดระวังทำให้มีราคาสูงกว่าราคาจริงมาก เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน393,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่27 สิงหาคม 2528 จนกว่าชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก กับให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ คือปัญหาแรกที่โจทก์ฎีกาว่า นอกจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะการจ้างบุคคลอื่น คือห้างหุ้นส่วนจำกัดดุดมพิพัฒน์มงคล ให้ทำแบบพิมพ์เครื่องอัดเปลือกหม้อและฝาหม้อแบตเตอรี่แทนจำเลยที่่ 1 ซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระให้โจทก์เป็นเงิน 393,000บาท จำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดชำระค่าปรับเป็นรายวัน วันละ 387 บาทนับ ตั้งแต่วันครบกำหนดส่งมอบสิ่งของที่ว่าจ้างจนถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาต่อจำเลยที่ 1 รวม 328 วัน เป็นเงินค่าปรับ 126,936 บาทด้วยนั้น เห็นว่า สัญญาจ้างข้อ 9 ระบุว่า “ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบงานล่าช้ากว่าวันแล้วเสร็จตามสัญญา แต่ผู้ว่าจ้างยังมิได้บอกเลิกสัญญาผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างดำเนินการดังต่อไปนี้ คือ
9.1 ปรับผู้รับจ้างเป็นรายวัน วันละ 387 บาท นับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดวันแล้วเสร็จตามสัญญาจนถึงวันที่งานแล้วเสร็จบริบูรณ์
9.2 เรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่ผู้รับจ้างทำงานล่าช้า(ถ้ามี)
9.3 เรียกค่าใช้จ่ายในการควบคุมงาน ในเมื่อผู้ว่าจ้างต้องจ้างผู้ควบคุมงานนั้นอีกต่อหนึ่ง
ในระหว่างที่มีการปรับนั้น ถ้าผู้ว่าจ้างเห็นว่าผู้รับจ้างไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 10 นอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วย
ข้อ 10 ระบุว่า “ถ้าผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญา ผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างดำเนินการดังต่อไปนี้
10.1 ริบหลักประกันดังกล่าวในสัญญาข้อ 13 ทั้งหมด
10.2 ยินยอมให้ผู้ว่าจ้างเรียกเอาค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะจ้างบุคคลอื่นทำการนั้นต่อไปจนงานแล้วเสร็จบริบูรณ์
10.3 เรียกค่าเสียหายอันพึงมีจากผู้รับจ้าง”
และข้อ 11 วรรคสอง ระบุว่า “ในกรณีที่ต้องจ้างบุคคลอื่นทำงานนี้ หากปรากฎว่าผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากวงเงิน387,000 บาท ไปเป็นเงินเท่าใด ผู้รับจ้างยอมรบผิดชดใช้ราคาที่เกินไปนั้นจนครบถ้วน”
ตามข้อสัญญาดังกล่าว โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับเป็นรายวัน วันละ387 ตามสัญญาข้ 9.1 ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานล่าช้ากว่าวันแล้วเสร็จตามสัญญญาโดยโจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญา แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความดังที่กล่าวข้างต้นว่า สัญญาจ้างเลิกกันด้วยเหตุที่โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาและแม้จำเลยที่ 1 จะเคยส่งมอบสิ่งของตามสัญญาจ้างให้โจทก์ แต่สิ่งของนั้นใช้งานไม่่ได้ และโจทก์ไม่ได้รับสิ่งของนั้นไว้ซึ่งมีผลเทากับว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งมอบสิ่งของให้โจทก์เลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับรายวันจากจำเลยฎีกาของโจทก์ในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาสุดท้าย ที่โจทก์ฎีกาว่าการทำแบบพิมพ์เครื่องอัดเปลือกหม้อและฝาหม้อแบตเตอรี่อยู่่่นอกวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำกาแทนจำเลยที่ 1 ทำสัญญารับจ้างทำสิ่งของดังกล่าวกับโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะส่วนตัวจึงต้องร่่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า แม้จะฟังว่าข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์ กล่าวอ้าง แต่จากทางนำสืบของโจทก์เองก็ได้ความว่า ก่อนทำสัญญาจ้างฝ่ายจำเลยได้เสนอหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรปราการ ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ซึ่งโจทก์ย่อมทราบได้ว่าการทำแบบพิมพ์เครื่องอัดเปลือกหม้อและฝาหม้อแบตเตอรี่อยู่นอกวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 หรือไม่อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนทำสัญญาจ้างทั้งเมื่อภายหลังจากการทำสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ก็ยอมรับที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่อโจทก์อันเป็นการให้สัตยาบันในการทำสัญญานั้นแล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ ทั้งนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823
พิพากษายืน