คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2188/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยได้เจรจากันเรื่องทรัพย์มรดกของบิดามารดา ฝ่ายจำเลยเสนอให้โคแก่โจทก์ 3 ตัวเท่านั้น ฝ่ายโจทก์ยืนยันจะขอแบ่งที่นาด้วย และโจทก์จำเลยลงชื่อไว้ในบันทึก เช่นนี้ ถือว่าบันทึกดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยในเรื่องทรัพย์สินอื่นที่มิใช่ที่ดิน เมื่อโจทก์ได้รับโคไป 3 ตัว ตามข้อตกลงดังกล่าวแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะขอแบ่งทรัพย์สินอื่นจากจำเลยได้เว้นแต่ที่ดินซึ่งเดิมเป็นทรัพย์มรดกของบิดามารดา และบ้านซึ่งเป็นส่วนควบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นพี่น้องกัน หลังจากบิดามารดาตายแล้ว โจทก์จำเลยได้รับแบ่งมรดกคนละเท่า ๆ กัน โดยปกครองร่วมกันมา แล้วโจทก์มีสามีและย้ายออกจากบ้านเดิม จำเลยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนโจทก์ ต่อมาโจทก์ทวงถามให้จำเลยส่งมอบทรัพย์ส่วนของโจทก์จำเลยส่งมอบโคให้โจทก์เพียง 3 ตัว และไม่ส่งมอบทรัพย์มรดกอื่น ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบทรัพย์มรดกกึ่งหนึ่งให้แก่โจทก์ มิฉะนั้นให้ส่งมอบเงินจำนวน 95,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ทรัพย์มรดกมีเพียงโค 7 ตัว ส่วนที่ดินที่จำเลยครอบครองอยู่ไม่ใช่ทรัพย์มรดก คดีโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฟังได้ว่า หลังจากที่มารดาโจทก์จำเลยถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์จำเลยยังอยู่ร่วมกันและครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกันมาอีก 7 ปี โจทก์จึงได้ติดตามสามีไปอยู่ที่อื่น กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์จำเลยได้รับมรดกของบิดามารดาร่วมกันแล้ว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์ซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย จะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 มาใช้บังคับหาได้ไม่ทั้งการที่โจทก์แยกไปอยู่ที่อื่นแล้วจำเลยจึงครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองในฐานะเจ้าของร่วมและเป็นการครอบครองแทนโจทก์ด้วยหาใช่เป็นการแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 ไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ คำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
สำหรับปัญหาต่อไปที่ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของบิดามารดาเท่าใดนั้น ปรากฏตามบันทึกลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2526 เอกสารหมายล.4 ว่า โจทก์จำเลยได้เจรจากันเรื่องทรัพย์มรดกของบิดามารดาโดยฝ่ายจำเลยเสนอให้โคแก่โจทก์ 3 ตัว เท่านั้น ฝ่ายโจทก์ยืนยันจะขอแบ่งที่นาด้วยโจทก์จำเลยลงชื่อไว้ในเอกสารดังกล่าว และมีพี่น้องโจทก์จำเลยกับบุคคลอื่นลงชื่อเป็นพยานหลายคน เช่นนี้ฟังได้ว่าเอกสารฉบับนี้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยในเรื่องทรัพย์สินอื่นที่มิใช่ที่ดินเพราะปรากฏตามเอกสารนี้ว่าโจทก์มิได้เรียกร้องทรัพย์สินอื่นอีกนอกจากที่ดิน ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้รับโคไป 3 ตัว ตามข้อตกลงดังกล่าวแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะขอแบ่งทรัพย์สินอื่นจากจำเลยได้เว้นแต่ที่ดินซึ่งเดิมเป็นทรัพย์มรดกของบิดามารดาและบ้านซึ่งเป็นส่วนควบ
สำหรับที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกนั้น โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่ามีอยู่ทั้งหมด 3 แปลง โจทก์นำสืบว่าที่ดินทั้งสามแปลงนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลชำนิ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ตามสำเนา ส.ค.1เอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 ซึ่งมีชื่อนายแช่มบิดาโจทก์จำเลยเป็นผู้แจ้งการครอบครอง จำเลยเบิกความรับว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย ล.1 และ ล.3 ซึ่งจำเลยไปขอออกในชื่อของจำเลยและภริยาจำเลยนั้น คือที่ดินตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.3ซึ่งเดิมเป็นชื่อของนายแช่ม และจำเลยรับว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย ล.2 นั้น หลังจากบิดามารดาตายจำเลยและโจทก์ร่วมทำนาด้วยกันมา จึงเชื่อว่า ที่ดินตามเอกสารล.2 คือที่ดินตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเดิมเป็นชื่อของนายแช่มนั่นเอง ฟังได้ว่าที่ดินทั้งสามแปลงซึ่งเป็นมรดกนั้นจำเลยยังคงครอบครองอยู่ และมีเนื้อที่ตรงตามที่โจทก์ฟ้อง เนื่องจากตามคำเบิกความของจำเลย จำเลยก็ยอมรับว่าเนื้อที่ดินตามความเป็นจริงนั้นมีมากกว่าที่ปรากฏในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เพราะทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้เฉพาะส่วนที่ทำประโยชน์แล้ว ดังนั้นจึงเห็นสมควรแบ่งที่ดินมรดกทั้งสามแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินแปลงที่ 3 ให้โจทก์กึ่งหนึ่ง ซึ่งคิดเป็นเงินรวม 50,000 บาท”
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยแบ่งที่ดินตั้งอยู่ที่หมู่บ้านช่อผกาตำบลชำนิ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวนเนื้อที่ประมาณ50 ไร่ ที่ดินตั้งอยู่ที่หมู่บ้านหนองเทา ตำบลชำนิ อำเภอนางรองจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวนเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ และที่ดินตั้งอยู่ที่หมู่บ้านหนองเทา ตำบลชำนิ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ พร้อมบ้านไม้ชั้นเดียวหนึ่งหลังให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากจำเลยไม่สามารถแบ่งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้โจทก์ได้ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์แทนพร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงินจำนวนดังกล่าวในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จสิ้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับกันไปทั้งสามศาล

Share