คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3799/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนมีการทำสัญญาซื้อขายที่ดิน คู่ความทั้งสองฝ่ายได้มีการต่อรองราคากัน เมื่อตกลงราคากันได้แล้ว ฝ่ายจำเลยได้วางมัดจำไว้แก่ฝ่ายโจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท แม้ไม่มีการทำหลักฐานเป็นหนังสือ ข้อตกลงเรื่องราคาซื้อขายดังกล่าวย่อมมีผลบังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสองการที่โจทก์นำสืบข้อตกลงเกี่ยวกับราคาที่ดินอีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากหนังสือสัญญาขายที่ดินที่จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 16419 กับโจทก์ทั้งสองในราคา 1,300,000 าทตกลงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 8 กันยายน 2532ในวันทำสัญญาจำเลยทั้งสองได้ชำระเงินมัดจำให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 100,000 บาท ส่วนที่เหลือ 1,200,000 บาทจำเลยทั้งสองตกลงผ่อนชำระเป็นงวดคือ ในวันที่ 11 กันยายน 2532 ชำระ 730,000 บาท วันที่ 15 ตุลาคม 2532 ชำระ170,000 บาท และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2532 ชำระ300,000 บาท โจทก์ทั้งสองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยทั้งสองแล้ว แต่จำเลยชำระเงินส่วนที่เหลือเพียงสองงวดค้างชำระงวดสุดท้าย 300,000 บาท จำเลยทั้งสองต้องชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,875 บาท โจทก์ทั้งสองทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน301,875 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า จำเลยทั้งสองตกลงซื้อขายที่ดินตามฟ้องจากโจทก์ทั้งสองเพียง 1,000,000 บาท ไม่ใช่1,300,000 บาท จำเลยทั้งสองชำระราคาให้โจทก์ครบถ้วนแล้วและโจทก์ทั้งสองและบริวารจึงขนย้ายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินแล้ว ต่อมาโจทก์ที่ 1 พบจำเลยทั้งสองและพูดขอเงินค่าที่ดินเพิ่มอีก 300,000 บาท อ้างว่าราคาที่ดินที่ขายต่ำไป จำเลยทั้งสองไม่ยินยอมขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินค่าที่พิพาท 301,835 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อประมาณต้นเดือนสิงหาคม 2532 โจทก์ทั้งสองตกลงจะขายที่พิพาทโฉนดเลขที่ 16419 ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 3 งาน 90 ตารางวา ให้แก่จำเลยทั้งสองต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2532 จำเลยที่ 1 ได้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ทั้งสอง ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาประตูเชียงใหม่ จำนวน 100,000 บาท เป็นค่ามัดจำการซื้อที่พิพาท โจทก์ทั้งสองได้โอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 กันยายน2532 โดยจดทะเบียนซื้อขายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในราคา 700,000 บาท และในวันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 1ได้นำที่พิพาทไปจำนองกับธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาศรีนครพิงค์ วันที่ 11 เดือนเดียวกัน จำเลยที่ 1ชำระเงินค่าที่พิพาทให้โจทก์ทั้งสองจำนวน 730,000 บาทครั้งสุดท้ายวันที่ 16 พฤศจิกายน 2532 โจทก์ที่ 2 ได้รับชำระเงินจากจำเลยที่ 1 อีก 170,000 บาท โจทก์ทั้งสองได้รับชำระเงินทั้งหมดรวม 1,000,000 บาท ปัญหาวินิจฉัยมีว่า โจทก์ทั้งสองขายที่พิพาทให้จำเลยทั้งสองในราคา1,000,000 บาท หรือ 1,300,000 บาท ซึ่งปัญหาดังกล่าวจำเลยทั้งสองฎีกาข้อแรกว่า ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินระบุว่าโจทก์ทั้งสองขายที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 700,000 บาท ดังนั้นโจทก์จะนำสืบว่าซื้อขายกันในราคา 1,300,000 บาทไม่ได้ เพราะเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารนั้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่าก่อนทำสัญญาซื้อขายที่ดิน ทั้งสองฝ่ายได้มีการต่อรองราคากันเมื่อตกลงราคากันได้แล้ว ฝ่ายจำเลยผู้ซื้อได้วางมัดจำไว้แก่ฝ่ายโจทก์ผู้ขายเป็นเงิน 100,000 บาท แม้ไม่ไ่ด้ มีการทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้ ข้อตกลงเรื่องราคาซื้อขายดังกล่าวย่อมมีผลบังคับกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 วรรคสอง การที่โจทก์นำสืบข้อตกลงเกี่ยวกับราคาที่ดินอีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากหนังสือสัญญาขายที่ดินที่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 โจทก์จึงนำสืบได้ และฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยซื้อที่พิพาทจากโจทก์ในราคา 1,300,000 บาท และยังค้างชำระราคาอยู่300,000 บาท จำเลยต้องชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share