คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อความในหนังสือสัญญาซื้อขายแสดงว่าจำเลยได้ส่งมอบที่ดินนาตาม น.ส.3 ที่ซื้อขายให้โจทก์แล้ว และต่อมาเมื่อโจทก์กับจำเลยไปทำหนังสือขายที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ณ ที่ว่าการอำเภอ กรณีจึงต้องฟังว่าโจทก์ได้รับมอบที่ดินจากการซื้อขายที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วตั้งแต่วันที่โจทก์กับจำเลยไปจดทะเบียน โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกที่ดินที่ขาดจำนวนเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียน ฟ้องของโจทก์ย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 467

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองได้ซื้อที่ดินบางส่วนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยเนื้อที่ 14 ไร่ 46 ตารางวา ในราคา45,000 บาท แต่ปรากฏต่อมาว่าที่ดินมีเนื้อที่เพียง 7 ไร่ 3 งาน20 ตารางวา ขอให้บังคับจำเลยให้จัดหาที่ดินส่วนที่ขาดไปอีก 6 ไร่1 งาน 26 ตารางวา เพิ่มให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยมีที่ดินติดต่อกับที่ดินแปลงที่ซื้อขายกัน หากจำเลยไม่สามารถจัดหาที่ดินเพิ่มเติมให้คืนเงินจำนวน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์ทั้งสองเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยขายที่ดินตามจำนวนเนื้อที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โจทก์ทั้งสองเคยเห็นที่ดินอยู่เป็นประจำ เป็นการซื้อเหมาทั้งแปลง จำเลยไม่เคยรับรองว่าที่ดินจะมีอยู่ครบตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ นับแต่วันโอนจนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 1 ปีเศษแล้ว โจทก์ทั้งสองจะอ้างความบกพร่องแห่งทรัพย์สินให้จำเลยรับผิดย่อมไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 10,000บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์ที่ 2
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามหนังสือสัญญาการซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1 และข้อ 3 ระบุว่า
ข้อ 1. ผู้ขายได้ขายที่ดินนาตาม น.ส.3 เลขที่ 62 ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันขายจำนวนเนื้อที่ 14 ไร่ 56 ตารางวา ให้แก่ผู้ซื้อเป็นจำนวนเงิน 45,000 บาท (สี่หมื่นห้าพันบาทถ้วน) และยอมมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529…
ข้อ 3. สิ่งปลูกสร้างไม่มี ที่นาแปลงนี้ไม่มีการเช่าแต่อย่างใดและตกลงให้ผู้ซื้อเข้าครอบครองนับแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป…ซึ่งข้อความดังกล่าวนี้แสดงว่าจำเลยได้ส่งมอบที่ดินที่ซื้อขายให้โจทก์ทั้งสองตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2529 แล้ว และต่อมาเมื่อโจทก์ทั้งสองกับจำเลยไปทำหนังสือขายที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ณ ที่ว่าการอำเภอตระการพืชผล ในวันที่ 18 เมษายน 2529 ตามเอกสารหมาย จ.2 กรณีจึงต้องฟังว่าโจทก์ทั้งสองได้รับมอบที่ดินจากการซื้อขายที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2529 เมื่อโจทก์ที่ 1มิได้นำสืบข้อเท็จจริงว่า มีสัญญาการส่งมอบที่ดินซื้อขายเป็นอย่างอื่น ที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 เพิ่งทราบถึงความบกพร่องขาดจำนวนของเนื้อที่ดินในวันที่ 9 มีนาคม 2530 ถือเป็นปริยายว่า โจทก์ที่ 1 เพิ่งได้รับส่งมอบที่ดินในวันดังกล่าว จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ว่า จำเลยได้ส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองในวันที่ 18 เมษายน 2529 แต่โจทก์ที่ 1 นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2530 เกินกำหนดเวลาหนึ่งปีแล้ว ฟ้องของโจทก์ที่ 1 ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 467
พิพากษายืน

Share