แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญาร่วมกิจการนายหน้าระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยเป็นข้อตกลงในการร่วมมือกันทั้งสองฝ่ายเพื่อให้มีการซื้อขายที่ดินและจะได้แบ่งผลประโยชน์ซึ่งกันและกันให้สำเร็จลุล่วงตามความประสงค์เท่านั้น ไม่มีข้อความใดพอประมาณได้ว่าหากจำเลยรู้ว่าโจทก์ทั้งสองไม่ใช่นายหน้าผู้จะซื้อจะไม่ทำสัญญาร่วมกิจการนายหน้าอย่างแน่นอนดังนี้ ถือว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ชี้ช่องให้ บ. กับ ฟ. ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นผลสำเร็จ พฤติกรรมที่แสดงว่าคู่สัญญามิได้ให้ความสำคัญในเรื่องที่โจทก์ทั้งสองจะต้องเป็นนายหน้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สัญญาร่วมกิจการนายหน้าดังกล่าวจึงไม่ได้เกิดจากการที่โจทก์ทั้งสองแสดงการฉ้อฉลต่อจำเลยอันจะทำให้ตกเป็นโมฆียะ จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาร่วมกิจการนายหน้าต่อโจทก์ทั้งสอง
สำหรับพวกจำเลยทั้งสิบสี่คนที่ร่วมลงชื่อในสัญญานายหน้านั้นไม่ได้กระทำการเป็นนายหน้าที่แท้จริง แต่สัญญานายหน้าฉบับดังกล่าวได้ทำขึ้นเนื่องจากเป็นความประสงค์ของ บ. และจำเลยเพื่อกระจายฐานภาษีที่จะต้องชำระให้น้อยลงเท่านั้นจึงต้องถือว่าเงินค่าที่ดินส่วนเกินซึ่งจำเลยเป็นผู้รับมาจาก บ. ต้องนำมาจัดแบ่งผลประโยชน์ให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญาร่วมกิจการนายหน้า เมื่อจำเลยไม่นำมาแบ่งให้โจทก์ทั้งสอง ถือว่าจำเลยผิดสัญญาร่วมกิจการนายหน้า
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องจำเลยเป็นใจความว่า โจทก์ทั้งสองทำสัญญาร่วมเป็นนายหน้ากับจำเลยเพื่อขายที่ดินของบริษัทบางกอกอีเกิลวิง จำกัด โดยมีข้อตกลงกันว่าค่าบำเหน็จนายหน้าส่วนแรกในอัตราร้อยละ 3 ของราคาที่ดินที่แท้จริงที่ผู้ขายกำหนดไว้นั้น จำเลยขอรับเพียง 1,000,000 บาท ส่วนที่เหลือให้ฝ่ายโจทก์ทั้งสองแบ่งกันคนละครึ่งและค่านายหน้าส่วนที่สองเป็นเงินค่าที่ดินส่วนที่เกินจากราคาที่ดินที่แท้จริงที่ผู้ขายตั้งไว้ซึ่งผู้ขายให้เป็นค่านายหน้าทั้งหมดให้แบ่งเป็น 100 ส่วน จำเลยรับ 40 ส่วน ส่วนที่เหลืออีก 60 ส่วน ให้เป็นของโจทก์ทั้งสอง ต่อมาบริษัทโรงงานฟุตบอลไทยสปอร์ตติ้งกู๊ดส์จำกัด ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวตามที่โจทก์ทั้งสองเป็นนายหน้าชี้ช่องแต่จำเลยไม่ชำระส่วนแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสอง จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 2,666,118 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,343,840 บาทนับตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 3,889,309.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,515,760บาท นับตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การทั้งสองสำนวนเป็นใจความว่า โจทก์ทั้งสองหลอกลวงจำเลยว่าเป็นนายหน้าฝ่ายเงิน (ฝ่ายผู้จะซื้อที่ดิน) มาติดต่อซื้อที่ดินและขอแบ่งผลประโยชน์กับจำเลยในฐานะนายหน้าฝ่ายที่ดิน (ฝ่ายเจ้าของที่ดินที่จะขาย) ทำให้จำเลยหลงเชื่อทำสัญญาร่วมกิจการนายหน้ากับโจทก์ทั้งสองโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของสัญญา สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะและเป็นโมฆะ จำเลยได้บอกล้างสัญญาดังกล่าวแล้ว อีกทั้งโจทก์ทั้งสองยังยินยอมให้ผู้เป็นนายหน้าฝ่ายเงินที่แท้จริงรับเงินค่านายหน้าไปทำให้จำเลยเสียหาย เมื่อหักค่าใช้จ่าย ค่าภาษีต่าง ๆ ค่าอากรและค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองยอมให้บุคคลอื่นรับเงินค่านายหน้าไป ทำให้จำเลยไม่ได้ส่วนแบ่งที่ควรได้รับออกจากค่านายหน้าของฝ่ายโจทก์ทั้งสองแล้วจึงไม่มีเงินคงเหลือให้แก่โจทก์ทั้งสองอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 1,920,498.96 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว กับให้ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 2,880,748.44 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 1,900,583.70 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 2,850,875.70 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นที่ยุติในชั้นนี้ว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2537 จำเลยได้ทำสัญญานายหน้ากับบริษัทบางกอกอีเกิลวิง จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.1 เพื่อขายที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 686ตำบลโคกแฝด (หนองจอก) อำเภอหนองจอก (เจียระดับ) กรุงเทพมหานคร และในวันเดียวกันนั้นจำเลยได้ทำสัญญาร่วมกิจการนายหน้ากับโจทก์ทั้งสองเพื่อขายที่ดินแปลงดังกล่าวขึ้นอีกหนึ่งฉบับตามเอกสารหมาย จ.2 โดยในสัญญาร่วมกิจการนายหน้าระบุว่าให้จำเลยเป็นนายหน้าฝ่ายที่ดิน (ฝ่ายเจ้าของที่ดินที่จะขาย) ส่วนโจทก์ทั้งสองเป็นนายหน้าฝ่ายเงิน (ฝ่ายผู้จะซื้อที่ดิน) ในที่สุดโจทก์ทั้งสองสามารถติดต่อนางปวีณา โชคไพบูลย์กิจ ตัวแทนของบริษัทโรงงานฟุตบอลไทยสปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด ผู้จะซื้อและนำไปดูที่ดินแปลงที่จะขายจนกระทั่งบริษัทบางกอกอีเกิลวิง จำกัด กับบริษัทโรงงานฟุตบอลไทยสปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินเนื้อที่ 58 ไร่ 2 งาน เป็นเงิน129,426,000 บาท ซึ่งสูงเกินกว่าราคาที่บริษัทบางกอกอีเกิลวิง จำกัด กำหนดไว้ถึง10,676,000 บาท มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า สัญญาร่วมกิจการนายหน้าระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นโมฆียะกรรมหรือไม่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองหลอกลวงจำเลยว่า โจทก์ทั้งสองเป็นนายหน้าฝ่ายเงินซึ่งความจริงแล้วโจทก์ทั้งสองเป็นเพียงนายหน้าธรรมดา หากจำเลยรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวมาก่อนแล้ว จำเลยย่อมไม่เข้าทำสัญญาร่วมกิจการนายหน้ากับโจทก์ทั้งสอง เมื่อจำเลยบอกล้างสัญญาร่วมกิจการนายหน้าแล้ว สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ ศาลฎีกาเห็นว่าก่อนที่จำเลยจะมาทำสัญญาร่วมกิจการนายหน้ากับโจทก์ทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.2นั้น จำเลยได้ทำสัญญานายหน้าโดยลำพังกับบริษัทบางกอกอีเกิลวิง จำกัด ตามสัญญานายหน้าเอกสารหมาย จ.1 จากนั้นจำเลยก็ได้มาทำสัญญานายหน้าขึ้นใหม่ในวันเดียวกันกับบริษัทบางกอกอีเกิลวิง จำกัด โดยจำเลยกับพวกรวม 14 คน รวมกลุ่มเป็นนายหน้าเสนอขายที่ดินแปลงเดียวกันขึ้นใหม่ตามสัญญานายหน้าเอกสารหมาย จ.14 สัญญานายหน้าเอกสารหมาย จ.1 และ จ.14 ดังกล่าว มีสาระสำคัญอย่างเดียวกันโดยกำหนดให้นายหน้าได้บำเหน็จค่านายหน้าอัตราร้อยละ 3 ของราคาที่ดินที่จะซื้อจะขายและให้สิทธินายหน้าที่จะเสนอขายที่ดินได้ในราคาที่สูงกว่าราคาที่ผู้ขายกำหนดและให้เงินส่วนต่างดังกล่าวตกเป็นของนายหน้าทั้งหมดแต่จะต้องนำมาหักค่าธรรมเนียม ค่าอากร ค่าภาษีต่าง ๆ ของบริษัทบางกอกอีเกิลวิง จำกัด เสียก่อน ดังนี้ การที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยได้ทำสัญญาร่วมกิจการนายหน้าตามเอกสารหมาย จ.2 หลังจากจำเลยได้ทำสัญญานายหน้ากับบริษัทบางกอกอีเกิลวิง จำกัด แล้ว สาระสำคัญในสัญญาร่วมกิจการนายหน้าฉบับดังกล่าวระบุว่า “จำเลยเป็นนายหน้าฝ่ายที่ดิน ส่วนโจทก์ทั้งสองเป็นนายหน้าฝ่ายเงิน คู่สัญญาตกลงร่วมกิจการเพื่อให้เกิดการซื้อขายที่ดิน ตกลงแบ่งผลประโยชน์โดยนายหน้าจะได้ค่าบำเหน็จร้อยละ 3 ของราคาขายที่แท้จริง ให้นายหน้าฝ่ายที่ดินได้รับ1,000,000 บาท ส่วนที่เหลือให้เป็นของนายหน้าฝ่ายเงินและค่าส่วนต่างของราคาขายที่แท้จริงที่เพิ่มขึ้นไร่ละ 200,000 บาท จากราคาที่ผู้ขายกำหนดตกลงแบ่งผลประโยชน์ออกเป็น 100 ส่วน โดยนายหน้าฝ่ายที่ดินได้รับ 40 ส่วน นายหน้าฝ่ายเงินได้รับ 60 ส่วน…” เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าข้อตกลงสัญญาร่วมกิจการนายหน้าตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นการทำสัญญาให้สอดคล้องกับสัญญานายหน้าตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.14 ที่จำเลยได้ทำกับบริษัทบางกอกอีเกิลวิง จำกัด ก่อนหน้านั้นแล้ว ทั้งแสดงว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยได้มีการพบปะหารือและให้รายละเอียดแก่กันว่าบริษัทบางกอกอีเกิลวิง จำกัด ประสงค์จะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 686 ตำบลโคกแฝด (หนองจอก) อำเภอหนองจอก (เจียระดับ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 58 ไร่ 2 งาน ซึ่งกำหนดราคาที่ดินที่จะขายสำหรับที่ดินที่ถมแล้วจำนวน 3 ไร่ 2 งาน ในราคาไร่ละ 2,500,000 บาทส่วนที่ดินที่ยังไม่ได้ถมจำนวน 55 ไร่ ขายไร่ละ 2,000,000 บาท รวมราคาที่ดินทั้งสิ้น 118,750,000 บาท ตกลงให้บำเหน็จนายหน้าอัตราร้อยละ 3 ของราคาที่ดินที่จะขายและให้เงินบำเหน็จนายหน้าจากราคาที่ดินส่วนที่เกิดที่นายหน้าเสนอขายได้สูงกว่าตกเป็นของนายหน้าทั้งหมดและยังทราบต่อไปว่าบริษัทโรงงานฟุตบอลไทยสปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด มีความประสงค์จะซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว เหตุนี้เองโจทก์ทั้งสองกับจำเลยจึงได้ทำสัญญาร่วมกิจการนายหน้าเพื่อตกลงแบ่งผลประโยชน์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นโดยระบุว่าสำหรับบำเหน็จนายหน้าร้อยละ 3 ของราคาที่บริษัทบางกอกอีเกิลวิง จำกัด ตั้งไว้ให้จำเลยได้รับเป็นเงิน1,000,000 บาท ส่วนที่เหลือให้เป็นของโจทก์ทั้งสองและส่วนต่างของราคาที่แท้จริงที่เพิ่มขึ้นระบุให้แบ่งผลประโยชน์ออกเป็น 100 ส่วน ให้จำเลยได้รับ 40 ส่วน ส่วนโจทก์ทั้งสองได้รับ 60 ส่วน เมื่อแปลเจตนาของโจทก์ทั้งสองกับจำเลยในสัญญาร่วมกิจการนายหน้าดังกล่าวแล้ว เห็นว่า สัญญาดังกล่าวเป็นข้อตกลงในการร่วมมือกันทั้งสองฝ่ายเพื่อให้มีการซื้อขายที่ดินและจะได้แบ่งผลประโยชน์ซึ่งกันและกันให้สำเร็จลุล่วงตามความประสงค์เท่านั้น ในข้อความสัญญาร่วมกิจการนายหน้าแม้จะระบุว่า จำเลยเป็นนายหน้าฝ่ายที่ดิน ส่วนโจทก์ทั้งสองเป็นนายหน้าฝ่ายเงินก็ตาม ก็ไม่มีข้อความอื่นใดพอประมาณได้ว่าหากจำเลยรู้ว่าโจทก์ทั้งสองไม่ใช่นายหน้าผู้จะซื้อ (นายหน้าฝ่ายเงิน)แล้วถึงกับเป็นเหตุที่จำเลยจะไม่ทำสัญญาร่วมกิจการนายหน้าอย่างแน่นอน แม้กระทั่งนางปวีณา โชคไพบูลย์กิจ กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโรงงานฟุตบอลไทยสปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด ก็ยอมรับว่าหากไม่มีนายสมศักดิ์ ดาราดวง คนของฝ่ายโจทก์ทั้งสองเป็นนายหน้าแล้ว การซื้อขายที่ดินระหว่างบริษัทบางกอกอีเกิลวิง จำกัด กับบริษัทโรงงานฟุตบอลไทยสปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด ย่อมจะไม่เกิดขึ้น ดังนี้ ถือว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ชี้ช่องให้บริษัทบางกอกอีเกิลวิง จำกัด กับบริษัทโรงงานฟุตบอลไทยสปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นผลสำเร็จ แต่การที่นางปวีณาได้สอดตัวเข้ามาขอแบ่งผลประโยชน์นายหน้าด้วยอีกผู้หนึ่งและเป็นผู้รับเงินค่านายหน้าไปตามเอกสารหมาย ล.9แม้โจทก์ทั้งสองและจำเลยจะไม่ค่อยเต็มใจนักก็ตาม โจทก์ทั้งสองก็ได้รับส่วนแบ่งนายหน้ามาคนละ 133,333 บาท ตามเอกสารหมาย ล.9 และจำเลยได้รับส่วนแบ่งนายหน้า 450,000 บาท โดยต่างก็ไม่ได้อิดเอื้อน ย่อมเป็นพฤติกรรมส่วนหนึ่งที่แสดงว่าโจทก์ทั้งสองก็ดีและจำเลยก็ดีมุ่งหวังที่จะร่วมกันทำการเป็นนายหน้าเพื่อให้มีการซื้อขายที่ดินเป็นผลสำเร็จให้ได้รับผลประโยชน์มาแบ่งปันกันเท่านั้น มิได้ให้ความสำคัญในเรื่องที่โจทก์ทั้งสองจะต้องเป็นนายหน้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่อย่างใดไม่ สัญญาร่วมกิจการนายหน้าดังกล่าวจึงไม่ได้เกิดจากการที่โจทก์ทั้งสองแสดงการฉ้อฉลต่อจำเลยอันจะทำให้ตกเป็นโมฆียะ จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาร่วมกิจการนายหน้าต่อโจทก์ทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าสัญญาร่วมกิจการนายหน้าตามเอกสารหมาย จ.2 นั้นสมบูรณ์ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า จำเลยจะต้องชำระเงินค่านายหน้าสำหรับค่าที่ดินส่วนเกินแก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญาร่วมกิจการนายหน้าเอกสารหมาย จ.2 เพียงใด คดีนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์ทั้งสองกับจำเลยไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า บริษัทบางกอกอีเกิลวิง จำกัด ได้ขายที่ดินให้แก่บริษัทฟุตบอลไทยสปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด สูงกว่าราคาที่ตั้งไว้ถึง 9,766,000 บาท ส่วนต่างของที่ดินที่ขายเกินตามข้อตกลงในสัญญานายหน้าเอกสารหมาย จ.1 และ จ.14 บริษัทบางกอกอีเกิลวิงจำกัด ยอมให้เป็นของจำเลย ซึ่งปรากฏว่าก่อนที่บริษัทบางกอกอีเกิลวิง จำกัด จะจ่ายเงินค่าที่ดินส่วนเกินนั้นบริษัทบางกอกอีเกิลวิง จำกัด ได้หักค่าภาษี ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เสียก่อนแล้วจึงจ่ายค่าส่วนต่างที่ดินสุทธิให้แก่จำเลยกับพวกรวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2538 จำนวน 5,072,279 บาท ตามเอกสารหมาย จ.10 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2539 จำนวน 2,846,820 บาท ตามเอกสารหมาย จ.12รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,919,099 บาท ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้เจรจากับบริษัทบางกอกอีเกิลวิง จำกัด ขอยกเลิกสัญญานายหน้าตามเอกสารหมาย จ.2 (ที่ถูกเอกสารหมาย จ.1)เปลี่ยนเป็นสัญญานายหน้าตามเอกสารหมาย ล.14 (ที่ถูกเอกสารหมาย จ.14) เพื่อกระจายฐานภาษีให้มีเงินคงเหลือจะได้นำมาแบ่งผลประโยชน์กันโดยเงินที่มีคงเหลือควรต้องเป็นของจำเลยกับพวกตามเอกสารหมาย ล.14 (ที่ถูกเอกสารหมาย จ.14) เพราะเป็นผลงานที่จำเลยกับพวกร่วมกันทำในภายหลัง หากมีการคิดตามสัญญาเดิม ส่วนของโจทก์ทั้งสองรวมกันเมื่อหักค่าเสียหายที่จำเลยไม่ได้ค่านายหน้า 3 เปอร์เซ็นต์จำนวน550,000 บาท แล้ว จะมีส่วนแบ่งของโจทก์ทั้งสองรวมกันเพียง 1,431,683.60 บาท นั้นฎีกาข้อนี้ของจำเลยหมายความว่า เงินส่วนเกินที่ได้จากการขายที่ดินจำนวนนี้จำเลยมีสิทธิจะนำมาจัดสรรปันส่วนให้แก่จำเลยกับพวกรวม 15 คน เสียก่อนตามสัญญานายหน้าเอกสารหมาย จ.14 จากนั้นจึงนำเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือมาแบ่งผลประโยชน์แก่จำเลย40 ส่วน และของโจทก์ทั้งสอง 60 ส่วน ตามสัญญาร่วมกิจการนายหน้าเอกสารหมาย จ.2 ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญานายหน้าตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.14 ที่จำเลยยกมาอ้างนั้นเป็นสัญญานายหน้าระหว่างจำเลยกับบริษัทบางกอกอีเกิลวิง จำกัด มิได้ผูกพันถึงโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองกระทำการเป็นนายหน้าชี้ช่องให้บริษัทบางกอกอีเกิลวิง จำกัด และบริษัทโรงงานฟุตบอลไทยสปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นผลสำเร็จสมประสงค์ตามสัญญาร่วมกิจการนายหน้าตามเอกสารหมาย จ.2 แล้ว สำหรับพวกจำเลยทั้ง 14 คน ที่ร่วมลงชื่อในสัญญานายหน้าตามเอกสารหมาย จ.14 นั้นไม่ได้กระทำการเป็นนายหน้าที่แท้จริง แต่สัญญานายหน้าฉบับดังกล่าวได้ทำขึ้นเนื่องจากเป็นความประสงค์ของบริษัทบางกอกอีเกิลวิง จำกัด และจำเลยเพื่อกระจายฐานภาษีที่จะต้องชำระให้น้อยลงเท่านั้นจึงต้องถือว่าเงินค่าที่ดินส่วนเกิน จำนวน 7,919,099 บาท จำเลยเป็นผู้รับมาจากบริษัทบางกอกอีเกิลวิง จำกัด จำเลยจะต้องนำมาจัดแบ่งผลประโยชน์ให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญาร่วมกิจการนายหน้า เผื่อจำเลยไม่นำมาแบ่งให้โจทก์ทั้งสองถือว่าจำเลยผิดสัญญาร่วมกิจการนายหน้าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าที่ดินส่วนเกินแก่โจทก์ทั้งสองตามลำดับมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้กำหนดความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองลดลงตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีนั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 2,666,118 บาท โจทก์ที่ 2 ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 3,889,309.50 บาท คดีจึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในศาลชั้นต้นแยกออกจากกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ชนะคดีเป็นเงิน 1,920,498.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยและให้โจทก์ที่ 2 ชนะคดีเป็นเงิน 2,880,748.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยโดยให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองเต็มตามจำนวนที่โจทก์ฟ้อง และกำหนดค่าทนายความแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 5,000 บาทนั้น แม้ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “…ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีย่อมตกแก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือแต่บางส่วนศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีนั้นเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงหรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายเสียค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตนหรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายได้เสียไปก็ได้ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง” ก็ตาม แต่คดีที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีจำเลยมีส่วนต่างกับทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องคดีพอสมควร ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดความรับผิดในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมให้จำเลยใช้แทนโจทก์ทั้งสองเต็มตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองฟ้องยังไม่เหมาะสม ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นเป็นการสมควรกำหนดเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในศาลชั้นต้นในกรณีนี้ให้เหมาะสมเสียใหม่ ส่วนค่าทนายความไม่แก้ไข”
พิพากษายืน สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้แทนโจทก์ทั้งสองเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ