คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 295/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลผูกพันนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องนั้นตลอดจนลูกจ้างซึ่งมีส่วนในการเลือกตั้งผู้แทนเป็นผู้เข้าร่วมในการเจรจาทุกคน” บทบัญญัติดังกล่าวแม้จะให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลผูกพันนายจ้างและลูกจ้างซึ่งลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้อง หรือลูกจ้างซึ่งมีส่วนในการเลือกผู้แทนเข้าร่วมในการเจรจาข้อเรียกร้อง แต่การที่นายจ้างให้สิทธิและประโยชน์แก่ลูกจ้างตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าสิทธิและประโยชน์นั้นๆ เป็นสิทธิและประโยชน์อันสมควรและเป็นธรรมที่ลูกจ้างในกิจกรรมนั้นพึงได้รับโดยเสนอกันจึงต้องรวมกันไปถึงลูกจ้างที่เข้าทำงานภายหลังข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับซึ่งไม่มีโอกาสลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้อง หรือมีส่วนในการเลือกผู้แทนเข้าร่วมในการเจรจาข้อเรียกร้องด้วย เมื่อจำเลยกับสหภาพแรงงาน ค. ได้เจรจาตกลงจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ระบุให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในอัตราที่มากกว่าลูกจ้างจะได้รับถ้าหากถูกเลิกจ้างตามที่บัญญัติไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะนั้น และให้ใช้ในกรณีที่จำเลยประกาศหาผู้สมัครใจลาออกจากงานซึ่งหมายความว่ามิได้ใช้สำหรับกรณีจำเลยเลิกจ้างในกรณีปกติ และมิได้ให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่ประสงค์จะลาออกจากงานเอง แต่เป็นการลาออกจากงานตามความประสงค์ของจำเลยที่จะลดจำนวนลูกจ้างจึงได้ประกาศหาผู้สมัครใจลาออกจากงาน ดังนั้น เมื่อจำเลยประสงค์จะยุบเลิกแผนกผลิตผ้าอนามัยแถบกาว ซึ่งโจทก์ทั้งเก้าทำงานอยู่จึงได้ทำหนังสือยื่นข้อเสนอขอความร่วมมือให้โจทก์ทั้งเก้าลาออกอันเป็นการแสดงความประสงค์ของจำเลยเพื่อจะลดจำนวนลูกจ้างเพราะต้องยุบเลิกแผนกผลิตผ้าอนามัยแถบกาว ซึ่งการจะลาออกหรือไม่ย่อมแล้วแต่ความสมัครใจของโจทก์ทั้งเก้า จึงเป็นกรณีที่จำเลยประกาศหาผู้สมัครใจลาออกจากงานตามความในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งเก้าลาออกตามความประสงค์ของจำเลย โจทก์ทั้งเก้าจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามอัตราที่ระบุไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 19 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีทั้งเก้าสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งเก้าสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 9 ตามลำดับ และเรียกจำเลยทั้งเก้าสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งเก้าฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าส่วนที่ขาดคนละหนึ่งเดือนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามอายุงานพร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งเก้า
จำเลยทั้งเก้าสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งเก้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเก้าว่า โจทก์ทั้งเก้ามีสิทธิได้รับค่าชดเชยเพิ่มจากที่ได้รับไปแล้วตามจำนวนที่ยังขาดอยู่ตามที่ระบุในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือไม่และเพียงใด โดยโจทก์ทั้งเก้าอุทธรณ์ว่า แม้โจทก์ทั้งเก้าจะได้รับค่าชดเชยมากกว่าที่บัญญัติในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 188 แต่ไม่เท่าจำนวนตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โจทก์ทั้งเก้าจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยส่วนที่ขาดไปจากจำนวนดังกล่าวนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลผูกพันนายจ้างและลูกจ้างซึ่งลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องนั้น ตลอดจนลูกจ้างซึ่งมีส่วนในการเลือกตั้งผู้แทนเป็นผู้เข้าร่วมในการเจรจาทุกคน” บทบัญญัติดังกล่าวแม้ว่าจะให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลผูกพันนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้อง หรือลูกจ้างซึ่งส่วนในการเลือกผู้แทนเข้าร่วมในการเจรจาข้อเรียกร้อง แต่การที่นายจ้างให้สิทธิและประโยชน์แก่ลูกจ้างตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าสิทธิและประโยชน์นั้นๆ เป็นสิทธิและประโยชน์อันสมควรและเป็นธรรมที่ลูกจ้างในกิจกรรมนั้นพึงได้รับโดยเสมอกัน จึงต้องรวมกันไปถึงลูกจ้างที่เข้าทำงานภายหลังข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับซึ่งไม่มีโอกาสลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้อง หรือมีส่วนในการเลือกผู้แทนเข้าร่วมในการเจรจาข้อเรียกร้องด้วย เมื่อจำเลยกับสหภาพแรงงานคิมเบอร์ลีย์ คล๊าค ได้เจรจาตกลงจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสหภาพการจ้าง ข้อ 9 ว่า “ในกรณีที่บริษัทฯ ประกาศหาผู้สมัครใจลาออกจากงาน บริษัทฯ ตกลงจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามอัตราค่าจ้างสุดท้าย ดังนี้ 9.1 ผู้ที่ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี ได้รับค่าชดเชยตามอายุงานเป็นปี ปีละ 1 เดือน บวก 2 เดือน 9.2 ผู้ที่ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่เกิน 6 ปี ได้รับค่าชดเชยตามอายุงานเป็นปี ปีละ 1 เดือน บวก 3 เดือน 9.3 ผู้ที่ทำงานครบ 6 ปี ขึ้นไป ได้รับค่าชดเชยตามอายุงานเป็นปี ปีละ 1 เดือน บวก 6 เดือน” ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างข้อนี้ระบุให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในอัตราที่มากกว่าที่ลูกจ้างจะได้รับหากถูกเลิกจ้างตามที่บัญญัติไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองของแรงงาน ข้อ 46 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะนั้น และให้ใช้ในกรณีที่จำเลยประกาศหาผู้สมัครใจลาออกจากงานซึ่งหมายความว่ามิได้ใช้สำหรับกรณีจำเลยเลิกจ้างลูกจ้างในกรณีปกติ และมิได้ให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่ประสงค์จะลาออกจากงานเองแต่เป็นการลาออกจากงานตามความประสงค์ของจำเลยที่จะลดจำนวนลูกจ้างจึงได้ประกาศหาผู้สมัครใจลาออกจากงาน ดังนั้น เมื่อจำเลยประสงค์จะยุบเลิกแผนกผลิตผ้าอนามัยแถบกาว ซึ่งโจทก์ทั้งเก้าทำงานอยู่จึงได้ทำหนังสือเรื่อง การจัดโครงสร้างใหม่ของบริษัทคิมเบอร์ลีย์ คล๊าด ประเทศไทย จำกัด ยื่นข้อเสนอขอความร่วมมือให้โจทก์ทั้งเก้าลาออกอันเป็นการแสดงความประสงค์ของจำเลยที่จะลดจำนวนลูกจ้าง เพราะต้องยุบเลิกแผนกผลิตผ้าอนามัยแถบกาว ซึ่งการจะลาออกหรือไม่ย่อมแล้วแต่ความสมัครใจของโจทก์ทั้งเก้า จึงเป็นกรณีที่จำเลยประกาศหาผู้สมัครใจลาออกจากงานตามความในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อ 9 แล้ว เมื่อโจทก์ทั้งเก้าลาออกตามความประสงค์ของจำเลย โจทก์ทั้งเก้าจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามอัตราที่ระบุไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่า จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งเก้าไปบางส่วนแล้วตามหนังสือ เรื่องการจัดโครงสร้างใหม่ของบริษัทคิมเบอร์ลีย์ คล๊าค จำกัด และใบรับเงิน แต่เป็นจำนวนเงินที่น้อยกว่าจำนวนอัตราที่ระบุในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อต้องหักจากจำนวนเงินที่จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งเก้าไปแล้ว จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยส่วนที่เพิ่มตามอัตราที่ระบุในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 446,320 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 5,700 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 107,816 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 5,545 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 115,668 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 161,232 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 93,565 บาท โจทก์ที่ 8 จำนวน 11,320 บาท โจทก์ที่ 9 จำนวน 127,440 บาท จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะเลิกจ้างแก่โจทก์ทั้งเก้า และเมื่อจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยเพิ่มแก่โจทก์ทั้งเก้าแล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าหนังสือเรื่องการจัดโครงสร้างใหม่ของบริษัทคิมเบอร์ลีย์ คล๊าค ประเทศไทย จำกัด เป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่และเป็นกรณีที่จำเลยทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ทั้งเก้าขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 20 หรือไม่ ต่อไปอีก เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีต้องเปลี่ยนแปลงไป อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเก้าฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเพิ่มแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 446,320 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 5,700 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 107,816 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 5,545 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 115, 668 โจทก์ที่ 6 จำนวน 161,232 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 93,565 บาท โจทก์ที่ 8 จำนวน 11,320 บาท และโจทก์ที่ 9 จำนวน 127,440 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2548 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share